ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับอินเดีย ฉบับแก้ไข
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 06 June 2015 16:26
- Hits: 1895
ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับอินเดีย ฉบับแก้ไข
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับอินเดีย ฉบับแก้ไขโดยเมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว หากมีการแก้ไขโดยที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของความตกลง ฯ ให้ กค. สามารถทำการแก้ไขได้ทันที
2. ให้กระทรวงการต่าง (กต.) รับไปดำเนินการตามแบบพิธีทางการทูตและกฎหมายภายใน เพื่อให้ความตกลงฯ ดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กต. แจ้งกำหนดการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนางศุษมา สวราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เพื่อเป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-อินเดียครั้งที่ 7 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2558 โดยจะมีการลงนามความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับอินเดียฉบับแก้ไข ด้วย
2. ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับอินเดีย ฉบับแก้ไข กำหนดหลักการที่สำคัญเพื่อขจัดการเก็บภาษีซ้ำซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น อันเนื่องจากอำนาจในการจัดเก็บภาษีระหว่างทั้งสองประเทศทำให้เกิดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนบนฐานรายได้จำนวนเดียวกัน นอกจากนั้น ความตกลงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีระหว่างประเทศทั้งสองตลอดจนมีการจัดสรรรายได้ภาษีระหว่างสองประเทศด้วยการกำหนดสิทธิการเก็บภาษีสำหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้ พันธกรณีตามความตกลงฯ มีกฎหมายภายในของไทยรองรับที่สำคัญ ได้แก่ ประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งการจัดทำความตกลง ฯ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ลำดับที่ การดำนินการ สาระสำคัญ
1 ขอบข่ายของความตกลงฯ จะใช้กับผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยหรือประเทศคู่สัญญา หรือทั้งสองประเทศ และจะใช้บังคับกับภาษีเก็บจากฐานเงินได้และผลได้จากทุน
2 วิธีขจัดภาษีซ้อน ประเทศคู่สัญญาจะยอมให้ผู้มีถิ่นที่อยู่ของตนนำภาษีที่เสียไว้แล้วในอีกประเทศหนึ่งมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระในประเทศตนเท่าจำนวนภาษีที่ได้ชำระไว้จริงแต่ต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่คำนวณได้ในประเทศตน
3 การเก็บภาษีจากกำไรธุรกิจ ประเทศที่มีการจ่ายเงินได้จะเก็บภาษีจากผู้รับเงินได้ ซึ่งเป็นวิสาหกิจของอีกประเทศหนึ่งได้ ต่อเมื่อวิสาหกิจนั้นดำเนินธุรกิจผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศที่มีการจ่ายเงินได้นั้น
4 การเก็บภาษีจากการขนส่งระหว่างประเทศ ประเทศแหล่งเงินได้ยกเว้นภาษีให้เฉพาะการขนส่งทางอากาศ ส่วนการขนส่งทางเรือจะลดภาษีให้กึ่งหนึ่ง
5 การเก็บภาษีจากทรัพย์สินประเภททุน กรณีเงินปันผล เงินได้จากสิทธิเรียกร้องในหนี้ (ดอกเบี้ย) และค่าสิทธิ จะมีการจำกัดอัตราภาษีในประเทศผู้จ่ายเงินได้โดยไม่ให้เก็บเกินกว่าเพดานภาษีตามที่ความตกลงฯ กำหนดไว้ กรณีค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และผลได้จากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ของสถานประกอบการถาวรและผลได้จากการขายหุ้นที่มีทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ให้ประเทศที่ทรัพย์สินตั้งอยู่ยังคงมีสิทธิเก็บภาษีได้ เว้นแต่ผลได้จากการจำหน่ายเรือและอากาศยานที่ใช้ในการขนส่งระหว่างประเทศให้เก็บภาษีได้เฉพาะในประเทศที่ผู้จำหน่ายมีถิ่นที่อยู่ นอกจากนี้ กรณีบริษัทสาขาที่ตั้งอยู่ในประเทศแหล่งเงินได้จำหน่ายกำไรออกไปยังประเทศที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ให้ประเทศแหล่งเงินได้ยังคงมีสิทธิเก็บภาษีได้
6 การเก็บภาษีจากเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนจากการจ้างแรงงานและการให้บริการส่วนบุคคล หากมีการให้บริการในประเทศใดให้ประเทศนั้นมีสิทธิเก็บภาษีได้ แต่อาจ
ได้รับยกเว้นภาษีตามเงื่อนไขที่ความตกลงฯ กำหนดไว้
7 บทบัญญัติพิเศษอื่นๆ เช่น คำนิยามทั่วไป การไม่เลือกประติบัติ วิธีดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน การแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ มีการบัญญัติขึ้นเพื่อให้การใช้บังคับความ ตกลงฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างคนชาติ และมีการประสานงานเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศคู่สัญญา
8 การเริ่มใช้และการเลิกใช้ เมื่อประเทศคู่สัญญาได้ดำเนินการตามแบบพิธีที่มีอยู่ตามกฎหมายภายในของตนและได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารแล้ว ความตกลงฯ จึงจะมีผลบังคับใช้ สำหรับการเลิกใช้นั้น ประเทศคู่สัญญาสามารถแจ้งการเลิกใช้ด้วยวิธีทางการทูตภายหลังที่ความตกลงฯ นี้มีผลใช้บังคับมาแล้ว 5 ปี โดยแจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มิถุนายน 2558