รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย – อิหร่าน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 01 June 2015 21:59
- Hits: 1660
รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย – อิหร่าน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการของบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย – อิหร่านและร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของไทยและอิหร่าน
2. มอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป โดยให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบสาระสำคัญ
บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย – อิหร่านที่ลงนามเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การกำหนดสายการบิน
คณะผู้แทนอิหร่านได้แจ้งแต่งตั้งสายการบินอิหร่านแอร์และสายการบินมาฮานแอร์ ส่วนฝ่ายไทยแจ้งแต่งตั้งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นสายการบินที่กำหนด
2. ความจุความถี่
คณะผู้แทนของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงปรับปรุงสิทธิความจุความถี่โดยเพิ่มสิทธิความจุความถี่จากเดิมฝ่ายละ 5 เที่ยวต่อสัปดาห์ เป็นฝ่ายละ 14 เที่ยวต่อสัปดาห์ด้วยอากาศยานแบบใด ๆ
3. เส้นทางบิน
คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายตกลงกันดังนี้
เส้นทางบินที่จะดำเนินบริการเดินอากาศโดยสายการบินที่กำหนดของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
จุดออกเดินทาง จุดระหว่างทาง จุดปลายทาง จุดพ้น
จุดต่าง ๆ ในอิหร่าน ดูไบ และอีกหนึ่งจุดที่จะระบุในภายหลัง จุดต่าง ๆ ในไทย ฮ่องกง มะนิลา เชี่ยงไฮ้ จาการ์ตา
เส้นทางบินที่จะดำเนินบริการเดินอากาศโดยสายการบินที่กำหนดของราชอาณาจักรไทย
จุดออกเดินทาง จุดระหว่างทาง จุดปลายทาง จุดพ้น
จุดต่าง ๆ ในไทย ดูไบ และอีกหนึ่งจุดที่จะระบุในภายหลัง จุดต่าง ๆ ในอิหร่าน สี่จุดที่จะระบุในภายหลัง
4. การใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน
คณะผู้แทนอิหร่านมีความกังวลในส่วนของการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับประเทศที่สาม เนื่องจากมีบางประเทศที่ฝ่ายอิหร่านไม่สามารถอนุญาตให้สายการบินที่กำหนดทั้งของตนเองหรือคู่ภาคีเข้าร่วมทำความตกลงด้วยการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน เพื่อทำการบินเข้าไปยังอิหร่านได้ จึงเสนอให้ตัดข้อบทเกี่ยวกับการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับประเทศที่สามออกไป ซึ่งคณะผู้แทนไทยเห็นว่า ในขณะนี้สายการบินที่กำหนดของฝ่ายไทย คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีแผนจะทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับประเทศที่สามเพื่อเข้าไปยังอิหร่านแต่อาจจะมีแผนทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับสายการบินมาฮานแอร์ ดังนั้น จึงตกลงให้ตัดข้อบทเกี่ยวกับการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับประเทศที่สามออกไปตามที่ฝ่ายอิหร่านเสนอ
5. สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5
คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ตกลงให้สายการบินที่กำหนดของภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายสามารถใช้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ไปยัง มาจากจุดพ้นได้ 3 เที่ยวต่อสัปดาห์ ในแต่ละช่วงเส้นทางบิน ตามเส้นทางบินที่ระบุของตน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2558