มาตรการในการกำกับดูแลการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 11 May 2015 21:20
- Hits: 1708
มาตรการในการกำกับดูแลการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการในการกำกับดูแลการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ
สาระสำคัญของมาตรการกำกับดูแลการให้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีดังนี้
1. สภาพปัญหา
สภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการมีหลายรูปแบบและมีระดับความร้ายแรงแตกต่างกัน ตั้งแต่การไม่บังคับใช้กฎหมายหรือการบังคับใช้กฎหมายโดยเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรมหรือไม่เสมอภาค ทั้งนี้ โดยอาจมีเจตนาทุจริตหรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หรือมิได้มีเจตนาทุจริตแต่เกิดจากระบบงาน หรือเจ้าหน้าที่เข้าใจข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน จึงทำให้ใช้ดุลยพินิจในการออกคำสั่งที่ไม่เหมาะสมกับสภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
2. แนวทางในการแก้ไขปัญหา
สภาพปัญหาดังกล่าวอาจบรรเทาลงได้โดยการกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจกำกับดูแล หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดุลยพินิจนั้นเอง กำหนดแนวทางในการใช้ดุลยพินิจไว้เป็นการล่วงหน้าและประกาศให้ประชาชนทราบ เพื่อเป็นกรอบในการใช้อำนาจตัดสินใจออกคำสั่ง และเพื่อเป็นหลักประกันในการใช้อำนาจว่าจะมีเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร และในการออกคำสั่งเจ้าหน้าที่จะต้องระบุเหตุผลในการใช้ดุลยพินิจให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนผู้รับคำสั่งเกิดความเข้าใจและมีความมั่นใจในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่
3. ข้อเสนอแนะ
โดยที่ขอบเขตอำนาจดุลยพินิจย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายแต่ละเรื่องกำหนดไว้ เมื่อกฎหมายแต่ละฉบับมีรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย ประกอบกับรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารสูงสุดของกระทรวง จึงเห็นควรดังนี้
3.1 คณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้ทุกกระทรวงดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและกำหนดแนวทางในการใช้อำนาจดุลยพินิจ โดยประกาศให้ประชาชนทราบ และหากเจ้าหน้าที่มิได้ดำเนินการใช้ดุลยพินิจตามแนวทางที่กำหนดไว้โดยไม่มีเหตุผลให้ถือเป็นความผิดทางวินัย
3.2 เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีอาจใช้อำนาจตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ยับยั้งการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น
3.3 ในกรณีที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นจะต้องใช้อำนาจพิเศษเหนือกว่าอำนาจตามข้อ 3.1 และข้อ 3.2 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอาจใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 กำหนดมาตรการในการกวดขันการบังคับใช้กฎหมาย การแก้ไขหรือยกเลิกการใช้อำนาจดุลยพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ แต่วิธีการนี้จำเป็นจะต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน และมีข้อจำกัดหรือมีความไม่เหมาะสมอยู่บ้าง กล่าวคือ เมื่อมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในกรณีนี้แล้ว คำสั่งดังกล่าวจะก่อให้เกิดภาระหน้าที่แก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสอดส่องดูแลหรือการแก้ไขการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้มีการปฏิบัติการตามคำสั่งนั้นได้อย่างทั่วถึง
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 พฤษภาคม 2558