ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing)]
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 11 May 2015 21:12
- Hits: 1801
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing)]
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing)] ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยเพิ่มบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน โดยให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจในการปรับปรุงรายได้และรายจ่าย รวมทั้งกำหนดอายุความในการขอคืน และกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันยื่นเอกสารแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อเจ้าพนักงานประเมิน ตามหลักการ ดังนี้
1. กำหนดให้ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไปมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม และได้มีการกำหนดเงื่อนไขระหว่างกันทางด้านการพาณิชย์และการเงินแตกต่างไปจากที่ควรได้กำหนดหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้ดำเนินการโดยอิสระเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินรายได้หรือรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว
2. กำหนดให้ในกรณีที่การประเมินมีผลให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันได้ชำระภาษีไว้หรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้ว เป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือโดยไม่มีหน้าที่ ต้องเสีย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินหรือภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขจัดภาระภาษีซ้ำซ้อน
3. กำหนดให้ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันตามข้อ 1 จัดทำและยื่นเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงความสัมพันธ์ในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และวิธีการคำนวณรายได้และรายจ่ายระหว่างกันต่อเจ้าพนักงานประเมิน และหากไม่ได้ดำเนินการตามกำหนด หรือจัดทำเอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือไม่ครบถ้วนให้ระวางโทษไม่เกินสี่แสนบาท
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 พฤษภาคม 2558