ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณปี 59 รายจ่าย 2.72 ล้านลบ.ขาดดุลฯ 3.9 แสนลบ.
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 04 May 2015 21:25
- Hits: 1933
ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณปี 59 รายจ่าย 2.72 ล้านลบ.ขาดดุลฯ 3.9 แสนลบ.
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2559 ที่ 2.72 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณที่ 3.9 แสนล้านบาท ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 2.33 ล้านล้านบาท
โดยในงบประมาณรายจ่ายนี้ เป็นงบรายจ่ายประจำมากสุดที่ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.6% หรือคิดเป็นสัดส่วน 77.2% ของงบประมาณทั้งหมด, รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง 1.3 หมื่นล้านบาท ลดลง 67.7%, รายจ่ายเงินลงทุน 5.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.9% และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 6.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.3%
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงสุดที่ 5.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 3.8% รองลงมา คือ งบกลาง 4.02 แสนล้านบาท
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 59 และเอกสารประกอบ ส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติภายใน 12 พ.ค.58
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในส่วนของการจัดทำงบประมาณประจำปี 2559 ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)นั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้รายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการสั่งการให้อปท.ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บภาษีไม่ให้เกิดความรั่วไหล โดยเฉพาะในการเก็บภาษีที่ดิน ที่ปัจจุบันสามารถเก็บภาษีได้ปีละ 6 หมื่นล้านบาท โดยให้มีการปรับเปลี่ยนให้มีการจัดเก็บภาษีให้มีสัดส่วนรายได้สูงกว่าปี 2558 และได้มีการสั่งการให้อปท.ปรับฐานการคิดราคาประเมินที่ดินในฐานใหม่ที่ได้มีการปรับปรุงตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ปี 2558 ซึ่งประกาศฉบับเดิมออกมาตั้งแต่ปี 2520-2524 ซึ่งไม่ได้เป็นการเพิ่มอัตราภาษีแต่อย่างใด
ดังนั้น จึงคาดว่าเมื่อมีการปรับฐานการคิดราคาประเมินใหม่แล้ว จะทำให้อปท.มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 7 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีส่วนช่วยให้รัฐลดการส่งเงินสนับสนุนอปท.ได้ปีละ 8,540 ล้านบาท ซึ่งจะนำเงินดังกล่าวไปรวมไว้ในงบกลางต่อไป
"เดิมสำนักงบประมาณได้กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลอปท.ให้เร่งรัดเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้ครบถ้วนและทบทวนฐานจัดเก็บภาษี แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้จัดเก็บภาษีให้มีสัดส่วนรายได้สูงกว่าปี 2558 จึงไม่เป็นภาระของรัฐบาล และสามารถนำเงินไปดูแลอย่างอื่นได้ แต่ในอดีตที่ไม่ทำเพราะกลัวจะเสียฐานเสียง แต่รัฐบาลนี้คำนึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก" แหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาล กล่าว
อินโฟเควสท์