แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 April 2015 07:50
- Hits: 3143
แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558
สาระสำคัญของแผนบูรณาการ ฯ ประกอบด้วย
1. ชื่อในการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 ใช้ชื่อว่า “สติ วินัย น้ำใจ ปลอดภัยสงกรานต์ สืบสานประเพณี”
2. ช่วงเวลาดำเนินการ ระหว่างวันที่ 9 -15 เมษายน 2558
3. เป้าหมายการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนเดินทางสัญจรอย่างปลอดภัยและมีความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 โดยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ลดลงให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งให้จังหวัด อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้วยตนเอง
4. มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการด้านการบริหารจัดการ มาตรการด้านถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย มาตรการด้านยานพาหนะที่ปลอดภัย มาตรการด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และมาตรการด้านการตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ
5. มาตรการเน้นหนัก ประกอบด้วย
5.1 มาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จริงจัง
(1) บังคับใช้กฎหมายจราจรตามมาตรการ 1ร. 2ส. 3ข. 4ม. (10 รสขม) ได้แก่ 1) ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 2) ขับรถย้อนศร 3) ฝ่าฝืนสัญจรจราจร 4) ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 5) ไม่มีใบขับขี่ 6) แซงในที่คับขัน 7) เมาสุรา 8) ไม่สวมหมวกนิรภัย 9) มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย 10) ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ และบังคับใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10 ) พ.ศ. 2557 กรณีผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุรา หรือของอย่างอื่น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเมาสุราหรือของอย่างอื่น รวมทั้งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกรณีห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก โดยให้เน้นหนักกรณีเมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและไม่สวมหมวกนิรภัยเป็นพิเศษ
(2) บังคับใช้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมายสุรา กฎหมายสถานบริการ กฎหมายทางหลวงและกฎหมายขนส่งทางบก เป็นต้น
(3) ให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย โดยใช้มาตรการทางสังคมและชุมชน เพื่อควบคุมกำกับ และป้องปรามผู้ที่พฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่
5.2 มาตรการด้านสังคมและชุมชน(1) ให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครบูรณาการร่วมกับอำเภอ สำนักงานเขต สถานีตำรวจในพื้นที่ หน่วยทหารในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน/หมู่บ้าน และอาสาสมัครต่าง ๆ จัดตั้งด่านชุมชน โดยใช้มาตรการทางสังคมควบคุมป้องปราม และตักเตือนผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ และให้ระมัดระวังการเล่นน้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตราย รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเล่นน้ำบริเวณพื้นที่เล่นสงกรานต์ที่ปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning) ตลอดจนหากใช้ยานพาหนะในการเล่นน้ำต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการขับขี่และโดยสาร
(2) เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจัง และสื่อสารผ่านช่องทางที่มีประสิทธิภาพอย่างเข้มข้นให้ครอบคลุมทุกเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และขับขี่ด้วยความเร็ว
5.3 มาตรการแก้ไขปัญหา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัดและกรุงเทพมหานครนำข้อมูลในพื้นที่มาวิเคราะห์เพื่อหามาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่และจุดตัดทางรถไฟ
5.4 มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ (1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพิ่มการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การดำเนินการช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 ผ่านสื่อทุกชนิดอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความตระหนักในการใช้รถใช้ถนน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเล่นน้ำในบริเวณพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning)
(2) ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานเข้ามามีบทบาทสำคัญในการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดความตระหนักและมีจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
(3) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประชาสัมพันธ์การดำเนินการผ่านสื่อทุกชนิดในพื้นที่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อปลูกจิตสำนึก ค่านิยม วัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้แก่ประชาชนและเกิดความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 รวมทั้งให้ประชาชนในพื้นที่เล่นน้ำในบริเวณพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning)
5.5 มาตรการด้านการบริหารจัดการ (1) ให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญในการจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning) โดยให้ประสานอำเภอ สำนักงานเขต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning)
(2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนกำหนดมาตรการองค์กรและบทลงโทษ เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการใช้รถใช้ถนน และป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงของบุคลากรในองค์กร รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้มารับบริการได้รับทราบและปฏิบัติตามมาตรการองค์กรอย่างเคร่งครัด
6. ช่วงเวลาดำเนินการ กำหนดเป็น 2 ช่วง ดังนี้
6.1 ช่วงเตรียมความพร้อมและรณรงค์ ระหว่างวันที่ 1 – 8 เมษายน 2558
6.2 ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 9 – 15 เมษายน 2558
7. ตัวชี้วัด
7.1 สถิติจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) ลดลงให้เหลือน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2557
7.2 สถิติจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุใหญ่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์พ.ศ. 2557
7.3 สถิติจำนวนยานพาหนะที่ถูกเรียกตรวจและจำนวนยานพาหนะที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรการ 10 มาตรการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2557 ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้แจ้งแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 ให้คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจังหวัด เพื่อรับทราบและประสานการปฏิบัติแล้ว
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2558