ร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 April 2015 07:43
- Hits: 4627
ร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการตรวจพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการราชทัณฑ์ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ และให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายด้านการราชทัณฑ์ และกำหนดทิศทางกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง เพื่อให้การดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์มีทิศทางและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2. กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการที่สำคัญและขึ้นตรงต่อคณะกรรมการฯ 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการตรวจเรือนจำ มีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นและเสนอแนะในการดำเนินกิจการเรือนจำตามหลักการทางด้านอาชญวิทยาและทัณฑวิทยาแก่กรมราชทัณฑ์ รวมทั้งทำการตรวจกิจการเรือนจำและให้คำแนะนำแก่เจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ และคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ มีอำนาจหน้าที่ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์หรือเรื่องราวใด ๆ จากผู้ต้องขัง
3. กำหนดให้หน่วยงานกลางที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารงานบุคคลภาครัฐต้องจัดสรรอัตรากำลังเจ้าหน้าที่แก่กรมราชทัณฑ์ให้มีจำนวนเพียงพอกับการปฏิบัติงานของกรมราชทัณฑ์ โดยให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้กับกรมราชทัณฑ์
4. กำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานที่เกี่ยวกับการราชทัณฑ์ ได้แก่ อธิบดี รองอธิบดี ผู้ช่วยอธิบดี ผู้บัญชาการเรือนจำ พัศดี และผู้คุม เพื่อให้สอดคล้องและตรงตามลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกรมราชทัณฑ์
5. กำหนดให้เจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่พิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เพื่อติดตามผู้ต้องขังที่หลบหนี โดยจำกัดระยะเวลาการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานไว้เพียง 48 ชั่วโมงนับแต่ทราบเหตุผู้ต้องขังหลบหนี และมีอำนาจในการป้องปรามมิให้มีการนำสิ่งของต้องห้ามประเภทต่าง ๆ เข้าสู่เรือนจำ โดยจำกัดอาณาบริเวณและกำหนดพฤติการณ์ที่จะทำให้เจ้าพนักงานมีอำนาจเช่นนั้น
6. กำหนดให้ทุกเรือนจำใช้คำขึ้นต้นว่า “เรือนจำ” อันเป็นการยกเลิกทัณฑสถาน และทัณฑนิคม ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถกำหนดประเภทของเรือนจำชัดเจนยิ่งขึ้น กำหนดให้มีเกณฑ์มาตรฐานของเรือนจำในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์มาตรฐานด้านระบบบริหารจัดการ ระบบการพัฒนาพฤตินิสัย กำหนดให้กรมราชทัณฑ์สามารถกำหนดอาณาเขตในสถานที่อื่นเพื่อเป็นสถานที่คุมขัง กำหนดให้ใช้มาตรการลงโทษอื่นแทนการจำคุก และการให้เอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินภารกิจของรัฐได้
7. กำหนดให้จัดให้มีการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังอย่างเป็นระบบ ปรับปรุงระบบการรับตัวผู้ต้องขังให้มีความทันสมัยและชัดเจนยิ่งขึ้น พัฒนาระบบการจำแนกและแยกคุมขัง เพื่อให้การคัดกรองผู้ต้องขังดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลต่อการคัดแยก การพัฒนาพฤตินิสัย ตลอดจนการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย
8. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขังให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น พัฒนาบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับประโยชน์ผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีให้สามารถนำมาบังคับใช้ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งกำหนดการอื่นๆ ที่เกี่ยวแก่ผู้ต้องขังให้เป็นรูปธรรมและเป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น เช่น อนามัยผู้ต้องขัง การติดต่อผู้ต้องขัง เป็นต้น ตลอดไปจนถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับวินัยและบทลงโทษผู้ต้องขังที่กระทำผิดวินัย
9. กำหนดให้มีกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โดยให้กระบวนการนี้เริ่มต้นตั้งแต่มีการรับตัวผู้ต้องขัง เพื่อให้สอดคล้องกับโปรแกรมการพัฒนาพฤตินิสัย ตามที่กรมราชทัณฑ์หรือเรือนจำได้จัดเตรียมให้หลังจากผ่านระบบการจำแนกมาแล้ว และกำหนดให้เรือนจำต้องดำเนินการจัดเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ให้กับผู้ต้องขัง เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2558