ร่างปฏิญญาทางการเมืองเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรี ครั้งที่ 4
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 17 March 2015 22:28
- Hits: 1673
ร่างปฏิญญาทางการเมืองเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรี ครั้งที่ 4
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรี ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9 – 20 มีนาคม 2558 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาตามที่กระการทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างปฏิญญาทางการเมืองเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรี ครั้งที่ 4 สรุปได้ ดังนี้
1. การยืนยันพันธกรณีตามปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี และผลลัพธ์จากการประชุมสมัยพิเศษ ครั้งที่ 23 ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และปฏิญญาจากการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี ในวาระครบรอบปีที่ 10 และ 15 ของการประชุมโลกว่าด้วยสตรีครั้งที่ 4
2. การยอมรับการดำเนินการตามปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี และ การดำเนินการตามพันธกิจภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ต่างก็เอื้อต่อกันเพื่อส่งเสริมการบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรี
3. การยืนยันเจตจำนงทางการเมือง และขอให้คำมั่นในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและประเด็นท้าทายต่าง ๆ ขอแสดงเจตจำนงที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะดำเนินการเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเจตคติของสังคม เศรษฐกิจ การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมภาวะผู้นำสตรี และการส่งเสริมสิทธิสตรี ตลอดจนเร่งดำเนินการตามปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี และผลลัพธ์จากการประชุมสมัยพิเศษ ครั้งที่ 23 ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยผ่านกลไกทางกฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ และกิจกรรมโครงการต่าง ๆ เพื่อสตรีและเด็กหญิง
4. การเรียกร้องให้ระบบองค์กรสหประชาติดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อบรรลุการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรี ผ่านทางข้อบัญญัติต่าง ๆ รวมทั้งการส่งเสริมการบูรณาการมิติหญิงชาย การจัดสรรทรัพยากรและการสร้างระบบที่ตรวจสอบได้ รวมทั้งให้คำมั่นต่อการเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สื่อมวลชน ภาควิชาการ และองค์กรด้านการวิจัย พรรคการเมือง เยาวชน รวมทั้งสตรี บุรุษและเด็กชาย มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรี และสิทธิมนุษยชน
5. ตัดสินใจที่จะใช้ทุกโอกาสที่มีในปี ค.ศ.2015 และปีต่อ ๆ ไป ในประเด็นด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน สันติภาพและความมั่นคง สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติการเพื่อมนุษยชน ภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อลงมือปฏิบัติการอันจะสร้างประวัติศาสตร์ในการส่งเสริมความก้าวหน้าต่อการบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรีรวมทั้งสิทธิมนุษยชนของสตรีและเด็กหญิง ร่างปฏิญญาดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อทบทวนและประเมินประเด็นท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการปักกิ่งและโอกาสในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรีในวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ.2015 ทั้งนี้ จากการศึกษาร่างปฏิญญาฯ ปรากฏว่ามิได้มีการใช้ถ้อยคำหรือบริบทใดที่เป็นการแสดงเจตนาอันจะก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศระหว่างกัน รวมถึงมติของการประชุมใช้วิธีรับรอง (adopt) โดยไม่มีการลงนาม ดังนั้น ร่างปฏิญญาฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2558