ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี และแขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 25 February 2015 20:11
- Hits: 1901
ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี และแขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....
เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี และแขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... (เพื่อดำเนินโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี และแขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... (เพื่อดำเนินโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ (คค.) และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
คค. เสนอว่า
1. แนวเส้นทางและลักษณะโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท ระยะทางประมาณ 21.8 กิโลเมตร ประกอบด้วย 3 สถานี ได้แก่ สถานีราชวิถี สถานีบางซื่อ และสถานีดอนเมือง เพื่อขจัดปัญหาจุดตัดของทางรถไฟกับถนนตามแนวเส้นทาง ซึ่งงานโครงสร้างทางวิ่งประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ คือ โครงสร้างทางวิ่งยกระดับ (Elevated) ช่วงพญาไท – พระรามที่ 6 และช่วงประดิพัทธ์ – ดอนเมือง ระยะทาง 18.3 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งแบบคลองแห้ง (Open Trench and Cut & Cover Tunnel) ช่วงพระรามที่ 6 – ระนอง 1 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ซึ่งขอบเขตของงานก่อสร้างโดยสังเขปประกอบด้วยงานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ และโครงสร้างทางวิ่งแบบคลองแห้ง งานก่อสร้างอาคารสถานี งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้า มีที่ดินที่จะต้องจัดกรรมสิทธิ์ในเส้นทางประมาณ 7-1-41.03 ไร่ และมีสิ่งปลูกสร้างที่จะต้องรื้อถอนประมาณ 50 หลัง
2. เนื่องจากจะต้องดำเนินการเวนคืนที่ดินตามโครงการในข้อ 1 โดยเบี่ยงแนวเส้นทางหลบฐานรากของโครงการของทางพิเศษศรีรัชบริเวณถนนพระรามที่ 6 และเบี่ยงแนวเส้นทางหลบโครงสร้างใต้ดินของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ – พญาไท – มักกะสัน – หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง บริเวณระหว่างราชวิถี - สามเสน รฟท. จึงมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยการเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อดำเนินโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท เพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค จึงจำเป็นต้องตราร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี และแขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... (เพื่อดำเนินโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท)
3. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการดังกล่าวตามข้อ 2 แล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา เป็นการกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี และแขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ตามโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558