สรุปบทเรียนจากการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 และแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 25 February 2015 19:56
- Hits: 1712
สรุปบทเรียนจากการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 และแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบสรุปบทเรียนจากการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558
2. เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน
สาระสำคัญของเรื่อง
มท. รายงานว่า
1. คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (คณะกรรมการ นปถ.) ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ ดังนี้
1.1 แผนที่นำทางเชิงกลยุทธ์ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554 – 2563
1.2 แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2556 – 2559
1.3 แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ
2. ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้เสนอแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศปีใหม่ 2558 “มอบความสุขทั่วไทย สัญจรปีใหม่ ปลอดภัยทุกคน” ในระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2557 – 5 มกราคม 2558 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้เสร็จสิ้นแล้ว สรุปได้ดังนี้
1. สถิติอุบัติเหตุทางถนน
สถิติอุบัติเหตุ ทางถนน ปี 2558 ปี 2557 เพิ่มขึ้น/ลดลง (ร้อยละ)
(1) อุบัติเหตุเกิดขึ้น 2,997 ครั้ง 3,174 ครั้ง ลดลง 5.58
(2) ผู้เสียชีวิต 341 ราย 367 ราย ลดลง 7.08
(3) ผู้บาดเจ็บ 3,117 คน 3,344 คน ลดลง 6.79
2. สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด - เมาสุรา เป็นสาเหตุสูงสุด ร้อยละ 37.30 รองลงมา คือ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 24.39
3. ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุด - รถจักรยานยนต์สูงสุด ร้อยละ 82.26 รองลงมา คือ รถปิคอัพ ร้อยละ 8.27
4. ประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด - ถนนทางหลวงแผ่นดินสูงสุด ร้อยละ 38.54 รองลงมา คือ ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.30
5. จังหวัด/อำเภอที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 5.1 จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรีและนครพนม
5.2 อำเภอที่ไม่มีผู้เสียชีวิต จำนวน 656 อำเภอ จาก 878 อำเภอ คิดเป็นร้อยละ 74.71
6. จำนวนเขตในกรุงเทพมหานครที่ไม่มีผู้เสียชีวิต - จำนวน 44 เขต จาก 50 เขต คิดเป็นร้อยละ 88
7. ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด - เวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 30.36
8. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต 8.1 ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ (ตำบล/แขวง) ร้อยละ 59.24
8.2 ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ร้อยละ 59.53
8.3 ช่วงอายุของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือ กลุ่มวัยแรงงาน อายุระหว่าง 20 - 49 ปี ร้อยละ 52.51 รองลงมาคือ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 24.84
9. การบังคับใช้กฎหมาย 9.1 จำนวนยานพาหนะที่ถูกเรียกตรวจทั้งหมด จำนวน 4,200,943 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ลดลง 246,576 คัน
คิดเป็นร้อยละ 5.54
9.2 จำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดี จำนวน 598,622 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ลดลง 76,254 ราย คิดเป็นร้อยละ11.30
3. จากผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 ที่ผ่านมา ได้มีการสรุปบทเรียนจากการดำเนินงาน พบว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะเป็นหลัก ได้แก่ (1) การใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (2) การเมาสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ (3) การไม่สวมหมวกนิรภัยในขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์และการใช้รถจักรยานยนต์ดัดแปลงที่ไม่มีความปลอดภัย ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นไปอย่างจริงจังและเด็ดขาด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้นำบทเรียนจากการดำเนินงานดังกล่าวมาวิเคราะห์และจัดทำเป็นแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนให้เป็นรูปธรรมและชัดเจน ดังนี้
3.1 มาตรการการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง
3.1.1 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด จริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะ โดยเน้นการควบคุมการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
เมาสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ การไม่สวมหมวกนิรภัยในขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ รวมทั้งการใช้รถจักรยานยนต์ดัดแปลงที่ไม่มีความปลอดภัย และควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎหมายและเสี่ยงอันตรายโดยบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มงวด อาทิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นต้น
3.1.2 ให้ ตช. เร่งผลักดันการแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้ความเร็วในเขตเมืองและชุมชน และแก้ไขอัตราโทษให้สูงขึ้นสำหรับผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมายจราจรทางบก อาทิ กรณีการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเมาสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ และการไม่สวมหมวกนิรภัยในขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
3.1.3 ขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ในการบังคับใช้กฎหมายให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงานครอบคลุมทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ อาทิ เครื่องตรวจจับความเร็ว เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์และกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เป็นต้น
3.2 มาตรการเสริมโดยการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
มาตรการเสริมที่ต้องทำควบคู่กันไป เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของทุกภาคส่วน โดยขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจังและมีการสื่อสารผ่านช่องทางที่มีประสิทธิภาพอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยทางถนนครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้ขับขี่ด้วยความเร็ว โดยภาคราชการให้นำมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2546 ซึ่งกำหนดมาตรการปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรการความปลอดภัยทางถนนของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้แล้ว มาถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด สำหรับภาคเอกชนและผู้ประกอบการขอให้กำหนดมาตรการองค์กรและบทลงโทษเพื่อป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนของบุคลากรในองค์กร รวมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ส่งเสริมการขายโดยการแถมหมวกนิรภัยเพื่อเป็นการจูงใจในการรณรงค์การสวมหมวกนิรภัย สำหรับประชาชนขอให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ ควบคุมและใช้มาตรการสังคมและชุมชนในการกำกับและป้องปรามผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
3.3 แนวทางการขับเคลื่อนงานที่เป็นเอกภาพและทิศทางเดียวกัน เพื่อให้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายที่ชัดเจน
3.3.1 ให้ใช้กลไกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2554 โดยมีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทุกระดับทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการในการร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนเป็นเจ้าภาพในการประสานการดำเนินการเชิงบูรณาการในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) และมีการจัดเก็บข้อมูลสืบสวนอุบัติเหตุเชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลและกำหนดแผนงานเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
3.3.2 อนุมัติใช้แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2556 - 2559 เป็นกรอบแนวทางในการบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางสากลด้านการจัดการความปลอดภัย
3.3.3 กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนถือปฏิบัติและจัดทำแผนรองรับการดำเนินงานเพื่อเป็นการรณรงค์อย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้กำหนดให้ปี 2558 เป็นปีแห่งการรณรงค์ 1) ลดความเร็วในการขับขี่ยานพาหนะ 2) ความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็ก 3) ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ตามมติคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 3/2557 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557
3.4 การนำบทเรียนไปใช้ในเทศกาลสงกรานต์ ปี 2558
เพื่อมอบความสุขแก่ประชาชนให้สัญจรอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2558 ให้ทุกหน่วยงานนำผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 โดยนำประเด็นที่ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะมากำหนดแผนงานและมาตรการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2558 ที่จะมาถึงนี้ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558