ขอความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 18 February 2015 22:48
- Hits: 2401
ขอความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
เรื่อง ขอความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามมาตรา 23 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
3. ให้กระทรวงวัฒนธรรมทำแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในช่วงระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน และ 1 ปี เกี่ยวกับการคุ้มครองและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยให้เป็นรูปธรรม เช่น การขึ้นทะเบียนปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องต่าง ๆ ให้ชัดเจน ตามมติคณะรัฐมนตรี (วันที่ 20 มกราคม 2558) แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 1 เดือน ต่อไป
สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ และร่างพระราชบัญญัติ
1. อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage)
1.1 วัตถุประสงค์ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
1.1.1 เพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
1.1.2 เพื่อประกันว่าจะเคารพมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชุมชน กลุ่มชน และปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง
1.1.3 เพื่อเพิ่มความตระหนักในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และให้เกิดความชื่นชมร่วมกัน
1.14 เพื่อให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ
1.2 ประเภทของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แบ่งประเภทมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ออกเป็น 5 สาขา คือ
1.2.1 ประเพณีและการแสดงออกของมุขปาฐะ รวมถึงภาษาในฐานะพาหะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (oral traditions and expression, including Language as a vehicle of the intangible cultural heritage)
1.2.2 ศิลปะการแสดง (performing arts)
1.2.3 แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล (social practices, rituals and festive events)
1.2.4 ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล (knowledge and practices concerning nature and universe)
1.2.5 งานช่างฝีมือดั้งเดิม (traditional craftsmanship)
1.3 ภายใต้อนุสัญญาฯ ได้มีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อการปกป้องคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในระดับนานาชาติ 3 ประเภท คือ การประกาศรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเร่งด่วน การประกาศรายการที่เป็นตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รวมทั้งการดำเนินแผนงาน โครงการ และกิจกรรมเพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
2. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. ....
2.1 กำหนดให้มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมตามพระราชบัญญัตินี้ต้องมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วิชาการ ศิลปะ คุณค่าทางจิตใจ หรือผลงานควรค่าแก่การรักษาไว้ และต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดโดยสิทธิในมรดกทางวัฒนธรรมนั้น จะต้องขึ้นทะเบียนต่อกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
2.2 กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ กำหนดองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ วาระการดำรงตำแหน่ง คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการอื่น และองค์ประชุม
2.3 กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ประจำจังหวัด และกำหนดอำนาจหน้าที่
2.4 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
2.5 กำหนดให้มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วให้มีสิทธิได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมตามที่กำหนด
2.6 กำหนดให้ชุมชนหรือสภาวัฒนธรรมซึ่งมีมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว หากจะขอรับการคุ้มครองและส่งเสริม ให้จัดทำโครงการและแผนงานเสนอต่อนายทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
2.7 กำหนดให้นายทะเบียนดำเนินการเรียกเงินที่ให้การอุดหนุนนั้นคืนเมื่อเห็นว่าชุมชนหรือสภาวัฒนธรรมไม่ได้ดำเนินการตามโครงการและแผนงานและมีลักษณะที่ไม่สุจริต
2.8 กำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไขและเพิกถอนทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
2.9 กำหนดให้มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัติ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558