ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิด ด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 31 July 2024 01:25
- Hits: 8007
ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิด ด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
อก. เสนอว่า
1. ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบ จุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2555 (มาตรฐานบังคับ) ซึ่งกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก. 2540 - 2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4353 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกาย เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 8 ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554 (สำหรับรถยนต์ที่จุดระเบิดด้วยน้ำมัน และใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง – เทียบเท่าระดับ EURO 4)1 และ พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556 (มาตรฐานบังคับ) ซึ่งกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2555 - 2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4416 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 1 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 (สำหรับรถยนต์ที่จุดระเบิดด้วยน้ำมัน และ ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง - เทียบเท่าระดับ EURO 4)
2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เกี่ยวกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน วาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” ซึ่งกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบบริหารการจัดการมลพิษควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เพื่อควบคุมการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดโดยใช้กลไกของกฎหมายในการกำกับดูแล โดยมีแผนการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ในระดับ EURO 52 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และให้บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษในระดับ EURO 63 โดยเร็ว
3. ต่อมา อก. โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้เสนอให้แก้ไขการบังคับมาตรฐานดังกล่าว เพื่อยกระดับมาตรฐานมลพิษทางอากาศให้สอดคล้องกับมาตรฐานในระดับสากล และเป็น การพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น โดยแก้ไขการบังคับจากเดิม บังคับมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศเทียบเท่าระดับ EURO 4 ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ มาตรฐานเลขที่ มอก. 2540 - 2554 และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง มาตรฐานเลขที่มอก. 2555 - 2554 เป็นการบังคับมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศเทียบเท่าระดับ EURO 6 ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 10 มาตรฐานเลขที่ มอก. 3017 - 2563
4. สมอ. ได้จัดทำประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5690 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟเฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ระดับที่ 10 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2563 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
5. สมอ. ได้จัดทำประกาศ สมอ. เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 โดยดำเนินการผ่านเว็บไซต์ของ สมอ. (www.tisi.go.th) และได้แจ้งไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ทำ ผู้นำเข้าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคม สถาบันการศึกษา ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้ที่ประสงค์จะแสดงความคิดเห็นในการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวได้แสดงความคิดเห็นผ่านแบบ รับฟังความเห็นออนไลน์ หรือทำหนังสือแจ้งต่อ สมอ. ภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศ (วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2566) ปรากฏว่าไม่มีผู้คัดค้าน และได้มีการดำเนินการตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Agreement on Technical Barriers to Trade: TBT) ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) โดยได้แจ้งเวียนรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ต่อประเทศสมาชิก WTO ปรากฏว่าไม่มีผู้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม จึงได้รายงานผลดังกล่าวให้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รับทราบแล้ว
6. สมอ. ได้กำหนดระยะเวลาในการบังคับร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการระบายมลพิษในระดับ EURO 6 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568
7. สมอ. ได้จัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย โดยได้เผยแพร่เอกสารดังกล่าวผ่านทางช่องทางเว็บไซต์ของ สมอ. (www.tisi.go.th)
8. อก. จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มีสาระสำคัญดังนี้
8.1 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 3017 - 2563 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5690 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 10 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
8.2 กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
9. ประโยชน์และผลกระทบ
9.1 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 3017 - 2563 เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” และควบคุมการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยใช้กลไกของกฎหมายในการกำกับดูแล เพื่อยกระดับมาตรฐานมลพิษทางอากาศที่เกิดจากยานยนต์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานในระดับสากล (EURO 6) และเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น รวมทั้งเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนในด้านสุขภาพการได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ
9.2 ผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ได้แก่ ผู้ทำ ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ จะต้องขอรับใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวตามมาตรา 20 หรือมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ได้รับอนุญาต และเป็นไปตามมาตรฐาน
________________________
1 EURO 4 เกี่ยวกับการทดสอบหาปริมาณสารมลพิษจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กในประเทศไทย ซึ่งเป็นการทดสอบที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ รวมไปถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากมลพิษ ด้วยการทดสอบหาปริมาณสารมลพิษไอเสียของรถยนต์ และกำหนดให้ปริมาณสารมลพิษไอเสียอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยจะมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานการควบคุมปริมาณสารมลพิษใหม่
2 EURO 5 เป็นกฎระเบียบสำหรับควบคุมการปล่อยมลพิษไอเสียของยานพาหนะ เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ให้มลพิษเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งถูกกำหนดโดยสหภาพในยุโรป โดยได้มีการกำหนดเกณฑ์ ตั้งแต่ EURO 1, EURO 2, EURO 3, EURO 4, EURO 5, EURO 6 ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกทำการพัฒนาเครื่องยนต์ ให้ปล่อยมลพิษออกมาน้อยที่สุดนั้นเอง
3 EURO 6 มาตรฐานที่กำหนดให้รถยนต์ลดการปล่อยก๊าซต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ เช่น ก๊าซไฮโดรคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และฝุ่นละออง (PM 2.5) เพื่อลดมลพิษและประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 กรกฎาคม 2567
7893