ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 31 July 2024 01:21
- Hits: 8099
ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญ
1. ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG)1 โดยให้ขยายวงเงินการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนจาก 100,000 บาทต่อปีภาษี เป็น 300,000 บาทต่อปีภาษี ทั้งนี้ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน และให้ลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือไม่น้อยกว่า 5 ปี (จากเดิมต้องถือครองหน่วยลงทุนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี) สำหรับหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 และกำหนดให้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน) โดยวงเงินลงทุนของ Thai ESG จะไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท
กรณีผู้มีเงินได้ซื้อกองทุน TESG ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันก่อนวันที่กฎกระทรวง ตามข้อ 1 มีผลใช้บังคับ ผู้มีเงินได้ดังกล่าวจะได้รับสิทธิหักค่าลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตราร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท และได้รับลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนด้วย (ส่วนกรณีที่ซื้อกองทุน TESG ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 และกรณีซื้อกองทุน TESG ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 เป็นต้นไป ผู้ซื้อกองทุนจะได้รับสิทธิหักค่าลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตรา ร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน)
2. กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มอีกปีละประมาณ 13,000 - 14,000 ล้านบาท (ตามมาตรการเดิม คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท และในปีถัดๆ ไปปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท) และมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้ 1) เพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล 2) ส่งผลให้การลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มเสถียรภาพของตลาดทุนไทย และสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุน และ 3) ทำให้ผู้มีเงินได้เพิ่มจำนวนเงินในการออมและการลงทุนระยะยาว อันจะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมจากการออมและการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย
_____________
1 กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) จะนำเงินที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนไปลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance หรือ ESG) สำหรับการลงทุนในตราสารทุนจะลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้จะลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (Sustainable Bond) ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) โดยจะลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทไทยเท่านั้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 กรกฎาคม 2567
7891