รายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 - 2570 ประจำปี 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 31 July 2024 00:27
- Hits: 8006
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 - 2570 ประจำปี 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะ ทางการเงิน พ.ศ. 2565 - 2570 ประจำปี 2566 (รายงานฯ ประจำปี 2566) และโครงการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 - 2570 (แผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2565 - 2570) ประจำปี 2567 ที่หน่วยงานเสนอเพิ่มเติม (โครงการฯ ประจำปี 2567) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 มิถุนายน 2565) เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2565 - 2570 ตามที่ กค. เสนอ ซึ่งร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าวประกอบด้วย 3 เป้าหมาย 8 มาตรการ โดยหนึ่งในมาตรการดังกล่าวได้กำหนดแผนงานให้ กค. จัดทำรายงานผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี
2. ปี 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจระดับทักษะทางการเงินของคนไทยตามกรอบขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ผ่านกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 12,402 ครัวเรือน ทั้งในและนอกเขตเทศบาลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ สรุปได้ ดังนี้
2.1 ภาพรวมคนไทยมีพัฒนาการของระดับทักษะทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.4 สูงขึ้นจากปี 2563 ที่ร้อยละ 67.4 และอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจทักษะทางการเงินของ OECD ในปี 2563 ที่ร้อยละ 60.5 ทั้งนี้ คะแนนที่เพิ่มขึ้นเกิดจากทักษะทางการเงินในด้านความรู้ทางการเงิน1 และพฤติกรรมทางการเงิน2 ที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยคะแนนอยู่ที่ร้อยละ 69.7 (จากร้อยละ 62.6) และร้อยละ 70.3 (จากร้อยละ 66.4) ตามลำดับ ขณะที่คะแนนด้านทัศนคติทางการเงิน3 มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยจากปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 76.8 (จากร้อยละ 77.8) อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับระดับสากลจากการสำรวจของ OECD แล้ว ทักษะทางการเงินทั้ง 3 ด้าน ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยจากการสำรวจของ OECO
2.2 ทักษะทางการเงินกับสถานภาพ ในภาพรวมสรุปได้ดังนี้ (1) เพศ : เพศหญิงมีค่าเฉลี่ยระดับทักษะทางการเงินสูงกว่าเพศชายเล็กน้อย (2) ช่วงอายุ : คนไทยในช่วงอายุ 30 - 39 ปี มีระดับทักษะทางการเงินที่สูงกว่าช่วงอายุอื่นๆ (3) ระดับการศึกษา : ระดับทักษะทางการเงินมีความสอดคล้องกับระดับการศึกษาที่สูงขึ้น (4) อาชีพ : คนไทยที่มีระดับทักษะทางการเงินสูงสุด 4 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มอาชีพลูกจ้าง รัฐวิสาหกิจ อาชีพอื่นๆ กลุ่มนายจ้าง และกลุ่มลูกจ้างรัฐบาลตามลำดับ (5) ประเภทอุตสาหกรรม : กลุ่มที่อยู่ในภาคการเงินมีระดับทักษะทางการเงินที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเภทอุตสาหกรรมอื่นๆ และ (6) ภูมิภาค : ผู้ตอบแบบสำรวจในกรุงเทพมหานครมีระดับทักษะทางการเงินสูงที่สุด รองลงมาคือภาคใต้
2.3 ทักษะทางการเงินของคนไทยตามช่วงวัย พบว่า ทุกช่วงวัยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินเพิ่มขึ้นจากปี 2563 โดย Gen Y (อายุ 22 - 41 ปี) มีระดับทักษะทางการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 75.7 ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาพรวมคนไทยในทุกช่วงวัย และ Gen Baby Boomer (58 ปีขึ้นไป) มีระดับทักษะทางการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 67.3 ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับทุกช่วงวัย ทั้งนี้ ทุกช่วงวัยควรตระหนักถึงความสำคัญในการวางแผนทางการเงินและการเก็บออมสำหรับอนาคต เพื่อให้สามารถเก็บออมและมีเงินใช้จ่ายได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติของการออมพบว่า สัดส่วนคนไทยที่มีเงินออมในช่วงปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 87.5 ลดลงร้อยละ 2.7 จากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อปี 2563 ที่อยู่ที่ร้อยละ 90.2 โดยคนไทยส่วนมากเลือกเก็บออมเป็นเงินสดและเก็บในบัญชีที่เปิดไว้สำหรับเพื่อออมโดยเฉพาะ ซึ่งการเก็บออมด้วยวิธีดังกล่าวอาจไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้งอกเงยได้มาก เมื่อเทียบกับการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ซึ่งมีคนไทยเพียงร้อยละ 2.6 ที่เลือกเก็บออมผ่านการลงทุน และหากมองในมิติของการออมเผื่อเกษียณและการออมเผื่อฉุกเฉิน พบว่า (1) การออมเผื่อเกษียณมีคนไทยเพียงร้อยละ 15.7 วางแผนเกษียณและทำได้ตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ Gen Baby Boomer ขึ้นไปมีสัดส่วนผู้ที่วางแผนเกษียณและทำได้ตามแผนสูงที่สุด เมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นๆ แต่ก็มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 21.8 เท่านั้น และ (2) การออมเผื่อฉุกเฉิน มีสัดส่วนคนไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 71.6 แต่ถ้าพิจารณาสัดส่วนจำนวนผู้ที่มีเงินออมฉุกเฉินที่เหมาะสม (มีเงินเพื่อใช้จ่ายหากต้องหยุดงานกะทันหันตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป) มีเพียงร้อยละ 22.4 และเมื่อพิจารณาตามช่วงวัยกลับพบว่ามีสัดส่วนลดลงในทุกช่วงวัย
2.4 ทักษะทางการเงินดิจิทัล พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 73.3 ทราบว่าการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลบนสื่อออนไลน์มีความเสี่ยงที่มิจฉาชีพอาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ และมีคนไทยเพียงร้อยละ 21 ที่มีพฤติกรรมการเปลี่ยนรหัสผ่านการเข้าถึงระบบออนไลน์เป็นประจำ สำหรับจุดอ่อนสำหรับคนไทยทุกช่วงวัย คือ ทัศนคติต่อการใช้ระบบ Wi-Fi สาธารณะเพื่อซื้อของออนไลน์ โดยมีเพียงร้อยละ 34.8 ที่ตระหนักว่าการกระทำดังกล่าวไม่ปลอดภัย ในส่วนของภัยทางการเงิน พบว่า การถูกหลอกให้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินเป็นการหลอกลวงที่พบมากที่สุด รองลงมาคือการให้ข้อมูลทางการเงินแก่มิจฉาชีพผ่านช่องทางสื่อต่างๆ และหลอกให้เสียทรัพย์สินโดยมิจฉาชีพทางออนไลน์ตามลำดับ
2.5 ข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) สร้างเสริมความรู้ทางการเงินผ่านการเรียนรู้ในห้องเรียนเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงด้านการเงิน โดยสร้างความเข้าใจตั้งแต่วัยเยาว์ผ่านช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย (2) ส่งเสริมทักษะทางการเงินที่เหมาะสมกับช่วงวัย โดยปรับเนื้อหาและกระบวนการสื่อสารให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย (3) ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการออมเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งการออมเผื่อฉุกเฉินที่เหมาะสม คือ การมีเงินคงเหลือ 6 เท่าของรายจ่ายจำเป็นและภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน และ (4) การให้ความรู้เรื่องการเงินดิจิทัลและภัยทางการเงิน โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนมีทัศนคติ ความรู้ และพฤติกรรมในการใช้งานบริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
3. รายงานฯ ประจำปี 2566 เป็นการดำเนินการต่อเนื่องในการวางรากฐานและเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยมีกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างบูรณาการ เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างยั่งยืน ซึ่งรายงานดังกล่าวประกอบด้วย 3 เป้าหมาย 8 มาตรการ 19 แผนงาน ในภาพรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการตามแผนงานต่างๆ ได้แล้วเสร็จและเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
4. โครงการตามแผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2565 - 2570 ประจำปี 2567 จะเป็นโครงการ (เดิม) ที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2566 และโครงการที่หน่วยงานเสนอเพิ่มเติมจำนวน 9 โครงการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการดังกล่าวในการส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ด้านการเงิน การผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในระบบการศึกษา เช่น การออม การบริหารจัดการเงิน ภัยและกลโกงการเงิน เป็นต้น และการมีมาตรการสนับสนุนเพื่อให้องค์กรในภาคการเงินมีกิจกรรมด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน ประกอบด้วย
4.1 โครงการภายใต้มาตรการที่ 4 ผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในระบบการศึกษา แผนงานที่ 4.2 ยกระดับความรู้และพัฒนาครูผู้สอน จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการ INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
4.2 โครงการภายใต้มาตรการที่ 5 พัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชน ทุกกลุ่มเป้าหมายตลอดช่วงชีวิต แผนงานที่ 5 ดำเนินโครงการให้ความรู้และพัฒนาทักษะทางการเงิน รวมถึงการเงินดิจิทัล ภัยและกลโกงการเงิน และการป้องกันและจัดการความเสี่ยงให้ประชาชนทุกกลุ่ม จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการพัฒนาระบบองค์ความรู้ออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการ SMEs (LMS) (กลุ่มผู้มีงานทำ) (2) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างวินัยการออม ชีวิตพร้อมเมื่อสูงวัย (กลุ่มภาครัฐ) (3) โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน (กลุ่มประชาชนระดับฐานราก) (4) โครงการส่งเสริมวินัยการเงินในชุมชนภายใต้การดูแลของการเคหะแห่งชาติ (กลุ่มประชาชนระดับฐานราก) (5) โครงการหลักสูตร “การเงิน การบัญชี และการบริหารสำหรับกรรมการสหกรณ์” (กลุ่มประชาชนทั่วไป) (6) โครงการส่งเสริมการออมและพัฒนาทักษะการบริหารจัดการทางการเงินของครอบครัวและชุมชน (กลุ่มประชาชนทั่วไป) (7) ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบริหารจัดการหนี้ “สำนึกดี แผนดี บริหารหนี้ได้” (กลุ่มประชาชนทั่วไป) และ (8) หลักสูตรผู้ให้คำปรึกษาหนี้ (กลุ่มผู้ถ่ายทอดความรู้และทักษะทางการเงิน และกลุ่มเปราะบางทางการเงินสูง)
_____________
1 ในภาพรวมคนไทยมีความเข้าใจในเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อ และความเสี่ยงและผลตอบแทน แต่ยังมีช่องว่างในการพัฒนาเรื่องคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น
2 ในภาพรวมคนไทยมีคะแนนพฤติกรรมดีที่สุดในเรื่องการตัดสินใจทางการเงิน รองลงมาคือการไตร่ตรองก่อนซื้อและการเลือกวิธีออมที่เหมาะสมตามลำดับ แต่มีคะแนนพฤติกรรมน้อยในเรื่องการเปรียบเทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินก่อนซื้อหรือใช้บริการ การบริหารจัดการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินไม่พอใช้ และการจัดสรรเงินก่อนใช้
3 คำถามด้านทัศนคติทางการเงิน ได้แก่ (1) มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้และไม่ได้คิดวางแผนเพื่ออนาคต และ (2) มีความสุขในการใช้เงินมากกว่าเก็บออมเพื่ออนาคต ในภาพรวมคนไทยได้คะแนนคำถามทั้ง 2 ข้อไม่แตกต่างกัน คือ ได้คะแนนด้านทัศนคติในระดับสูง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 กรกฎาคม 2567
7880