การเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีขององค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian - African Legal Consultative Organization: AALCO) สมัยที่ 62
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 July 2024 23:26
- Hits: 7824
การเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีขององค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian - African Legal Consultative Organization: AALCO) สมัยที่ 62
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีขององค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian - African Legal Consultative Organization: AALCO) (การประชุมประจำปีของ AALCO) สมัยที่ 62 ของประเทศไทย รวมทั้งเห็นชอบในหลักการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อำนวยความสะดวกในการรักษาความปลอดภัยสถานที่ประชุมและผู้แทนระดับรัฐมนตรีที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม การจัดการจราจรในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราและการเข้าออกเมืองแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. AALCO ตั้งขึ้นเมื่อปี 2499 (ค.ศ. 1956) ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกจากทวีปเอเชียและแอฟริกา รวม 48 ประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐอินเดีย ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ สาธารณรัฐเคนยา และประเทศในอาเซียน ได้แก่ เนการาบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสิงคโปร์และประเทศไทย โดยสำนักงานเลขาธิการของ AALCO ตั้งอยู่ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย
2. AALCO มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มประเทศเอเซียและแอฟริกามีบทบาทในการประมวลและพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ และผลักดันพัฒนาการดังกล่าวให้สอดคล้องกับท่าทีและผลประโยชน์ของประเทศในเอเชียและแอฟริกา การประชุมประจำปีของ AALCO เป็นเวทีที่ประเทศสมาชิกจะอภิปรายแสดงความเห็นและท่าทีในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่สนใจของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการในกรอบคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission: ILC) และคณะกรรมการ 6 (กฎหมาย) ของสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยในฐานะสมาชิกของ AALCO ได้ใช้เวทีดังกล่าวในการติดตามพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศ และผลักดันท่าทีประเทศไทยในประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญเพื่อให้พัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับท่าทีและผลประโยชน์ของประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในทวีปเอเชียและแอฟริกา
3. การประชุมประจำปีของ AALCO เป็นการประชุมที่มีหัวหน้าคณะระดับรัฐมนตรี โดยมีกำหนดจัดการประชุมในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ของทุกปีก่อนการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) โดยในการประชุมประจำปี AALCO สมัยที่ 61 ระหว่างวันที่ 16 - 20 ตุลาคม 2566 ณ เมืองบาหลี อินโดนีเซีย ที่ประชุมเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของ AALCO ในสมัยที่ 62* โดย กต. เสนอให้จัดการประชุมประจำปี สมัยที่ 62 ระหว่างวันที่ 8 - 13 กันยายน 2567
4. เรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้เสนอขอความเห็นชอบการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีขององค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian - African Legal Consultative Organization: AALCO) สมัยที่ 62 ระหว่างวันที่ 8 – 13 กันยายน 2567 โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นผู้แทนระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่าจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศสมาชิก ผู้แทนประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากสาขาต่างๆ และผู้แทนจากหน่วยงานของประเทศไทย รวมทั้งสิ้นประมาณ 250 - 300 คน ทั้งนี้ กต. ได้จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาระหว่างการประชุมประจำปีของ AALCO สมัยที่ 62 แล้ว เช่น (1) เรื่อง รายงานของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (2) เรื่อง กฎหมายทะเล (3) เรื่อง กฎหมายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจะมีหน้าที่ต่างๆ เช่น จัดเตรียมสถานที่ประชุม อำนวยความสะดวกด้านการรับรองที่พัก ยานพาหนะและการรักษาความปลอดภัยให้แก่หัวหน้าคณะระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก การจัดกิจกรรมเสริมและการจัดทัศนศึกษาทางวัฒนธรรม การจัดรถรับส่ง ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จำนวนทั้งสิ้น 27.41 ล้านบาท จะใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของ กต. ที่ได้รับจัดสรรแล้ว รวมทั้งขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) อำนวยความสะดวกในการรักษาความปลอดภัยสถานที่ประชุมและผู้แทนระดับรัฐมนตรีที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม การจัดการจราจรในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราและการเข้าออกเมืองแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
_______________________________
*ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของ AALCO มาแล้ว 2 สมัย ได้แก่ สมัยที่ 8 เมื่อปี 2509 และสมัยที่ 26 เมื่อปี 2530
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 กรกฎาคม 2567
7872