ร่างกฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 July 2024 17:39
- Hits: 8301
ร่างกฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงคมนาคมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงการคลังเสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. 2561 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง กรณีการจัดซื้อจัดจ้างจากรัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลในเครือของหน่วยงานของรัฐเดียวกัน โดยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของหน่วยงานของรัฐ ในรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่เป็นนิติบุคคลในเครือของหน่วยงานของรัฐเดียวกัน จากเดิม “ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนทั้งหมด” เป็น “ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด” เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจจากรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่เป็นนิติบุคคลในเครือของหน่วยงานเดียวกันมีความโปร่งใสมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันปรากฏว่ามีรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐบางแห่งไปจัดตั้งหรือไปถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ให้มีภารกิจหลักเพื่อรองรับการดำเนินการในภารกิจหรือกิจกรรมของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้จัดตั้งหรือไปเป็นผู้ถือหุ้นนั้นโดยตรง แล้วเลือกจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทตนที่จัดตั้งขึ้นหรือถือหุ้นอยู่โดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ตามข้อ 2 (4) (ก) ของกฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. 2561 เพื่อที่จะไม่ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป หรือวิธีการคัดเลือก ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยมีเจตนาเพื่อใช้ช่องว่างของการถือหุ้นนิติบุคคลในเครือเพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่น โดยเมื่อแก้ไขกฎหมายโดยเพิ่มอัตราร้อยละการถือหุ้นแล้วจะช่วยลดการใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงกับรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นอยู่หรือกับนิติบุคคลที่เป็นบริษัทในเครือ (จากเดิมถือหุ้นร้อยละ 25 ของทุนทั้งหมดก็สามารถจ้างรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทในเครือด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจงได้ ซึ่งเมื่อแก้ไขกฎหมายแล้วจะไม่สามารถจ้างรัฐวิสาหกิจหรือ บริษัทเดิมด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจงได้อีก ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีคัดเลือก อันจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการภายนอกเข้าแข่งขันได้ด้วย) ประกอบกับคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐเห็นชอบด้วยแล้ว
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักการ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีความเห็นเพิ่มเติมว่าควรนำนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาปรับใช้กับร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ซึ่งจะช่วยสร้างความชัดเจน และยากต่อการใช้ช่องว่างของกฎหมายเพื่อเอื้อต่อการทุจริต และเห็นควรกำหนดรูปแบบ หลักเกณฑ์ และกระบวนการต่างๆ เพื่อรับรองสิทธิของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐด้วย และกระทรวงคมนาคมมีข้อสังเกตว่าควรกำหนดให้มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจนว่ารัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลในเครือหน่วยงานของรัฐเดียวกันแห่งใด ที่สามารถดำเนินภารกิจหรือกิจกรรมได้เพียงแห่งเดียว หรือเป็นกิจกรรมที่ผู้ประกอบการรายอื่น สามารถดำเนินการได้ในลักษณะทั่วๆ ไป ซึ่งสามารถใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) หรือวิธีคัดเลือกได้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กค. พิจารณาแล้วยืนยันให้ดำเนินการร่างกฎกระทรวงดังกล่าวที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วต่อไป โดยร่างกฎกระทรวงมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เพิ่มการถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในรัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคล ตามข้อ 2 (4) (ก) จากเดิม “ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนทั้งหมด” เป็น “ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด”
เงื่อนไขเดิม |
เงื่อนไขใหม่ |
|
(ก) รัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลที่มีหน่วยงานของรัฐถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนรวมอยู่ด้วยในรัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนทั้งหมดและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด |
(ก) รัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลที่มีหน่วยงานของรัฐถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนรวมอยู่ด้วยในรัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 กรกฎาคม 2567
7720