รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะกรณีป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิด
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 July 2024 13:12
- Hits: 8225
รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะกรณีป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิด
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะกรณีป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิด ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 247 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. กสม. แจ้งว่า นับตั้งแต่ปี 2564 ประเทศไทยประสบปัญหาอัตราการเกิดของเด็กน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิต สะท้อนให้เห็นถึงภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ที่ลดลงตามสถิติขององค์การอนามัยโลกมีทารกที่คลอดออกมาแล้วพิการแต่กำเนิดอยู่ที่ร้อยละ 3 – 5 ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในเด็ก หรือต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อรายส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็ก สภาพจิตใจของผู้ปกครอง ตลอดจนงบประมาณทั้งของรัฐและผู้ปกครองในการดูแลไปตลอดอายุขัยของเด็ก โดยปัญหาความพิการแต่กำเนิดสามารถป้องกันได้ใน 3 ระยะ ได้แก่ (1) ก่อนการตั้งครรภ์ (2) ระหว่างการตั้งครรภ์ และ (3) หลังคลอดบุตร ซึ่งผลการวิจัยและเอกสารวิชาการทางการแพทย์มีส่วนสำคัญต่อการลดความพิการแต่กำเนิดของทารก ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ขยายสิทธิการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ของทารกในครรภ์ ให้แก่หญิงไทยในทุกช่วงวัยตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา แต่ในทางปฏิบัติยังพบปัญหาการเข้าถึงสิทธิและความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับบริการ จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี กสม. จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิด เพื่อให้สอดคลองกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรี
2. คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 พฤศจิกายน 2566) รับทราบข้อเสนอแนะกรณีการป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิด ตามที่ กสม. เสนอ และมอบหมายให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สปสช. สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ สธ. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก สลค. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พม. อว. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มท. รง. ศธ. สปสช. สสส. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อ 2 แล้วเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีผลการพิจารณาสรุปในภาพรวมได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม. |
สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม |
|
1. มาตรการป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิดก่อนการตั้งครรภ์ | ||
1.1 ระยะสั้น ให้ สธ. สปสช. และ สปส. ปรับปรุงเพิ่มสิทธิการเข้าถึงบริการกรดโฟลิกของหญิงไทยที่เป็นผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคมในสถานพยาบาลเอกชน รวมถึงขยายสิทธิให้สามารถเข้ารับบริการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์หรือบริการส่งวิตามินทางไกล |
1.กรมอนามัยได้เสนอขอเพิ่มสิทธิประโยชน์การป้องกันความพิการแต่กำเนิดด้วยยาเม็ดกรดโฟลิกโดยขอรับค่าใช้จ่ายเป็นรายการบริการ (Fee schedule) และกำหนดกลุ่มเป้าหมายสำหรับหญิงไทยเตรียมความพร้อมตั้งครรภ์ ต่อคณะกรรมการกำหนดแนวทางค่าใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับประเทศ 2. สปสช. ได้เสนอขออนุมัติสิทธิประโยชน์เพื่อให้ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิ และจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมต่อคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3. การเข้ารับบริการสามารถใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังค์ ได้เหมือนกับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายการ Fee schedule รายการอื่น 4. สปสช. และ สปส.ได้ประสานหน่วยบริการในระบบให้จัดบริการเชิงรุกให้ผู้ประกันตนได้รับการป้องกันความพิการแต่กำเนิดพร้อมกับบริการอื่นๆ เช่น บริการตรวจสุขภาพประจำปี ประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน 5. การเพิ่มการเข้าถึงกรดโฟลิกในกลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น ในสถานศึกษา ผ่านโครงการ Health station ของกรมอนามัย โดยจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้และการได้รับยาเม็ดโฟลิกสัปดาห์ละ 1 เม็ด รวมทั้งการบันทึกใน health record 6. มท. ได้จัดทำคู่มือการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัย (จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน) ในระดับพื้นที่ เพื่อให้ส่วนราชการระดับกรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายทุกระดับใช้เป็นแนวทางในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกช่วงวัยตั้งแต่ช่วงการเตรียมพร้อมการตั้งครรภ์ |
|
1.2 ระยะกลาง พิจารณาขยายสิทธิไปยังแรงานต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตน ควบคู่ไปกับการดำเนินการเชิงรุกผ่านการส่งเสริมการแจกกรดโฟลิกในสถานประกอบการขนาดใหญ่ เพื่อส่งเสริมมาตรการป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิด 1.3 ระยะยาว พิจารณาขยายสิทธิ์ไปยังกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติและแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายให้ได้รับสิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกับประชาชนคนไทยเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของหญิงวัยเจริญพันธุ์และป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิดของเด็กที่จะเกิดในอนาคต และสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง |
แรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตนและมีสิทธิการรักษาประกันสังคมสามารถเข้าถึงบริการของหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนได้ตามประกาศของ สปสช. |
|
2. มาตรการป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิดระหว่างการตั้งครรภ์ | ||
2.1 ระยะสั้น ให้ สธ. สปสช. และ สปส. พิจารณาปรับปรุงเพิ่มวงเงินถัวเฉลี่ยให้ครอบคลุมการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม เพื่อจูงใจให้หญิงตั้งครรภ์เข้าตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมทุกราย รวมถึงเพิ่มตัวเลือกให้หญิงตั้งครรภ์เลือกตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมโดยกรรมวิธี Non-Invasive Prenatal Testing (NIPT)1 โดย เสียค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่ไม่ครอบคลุมและขยายสิทธิไปยังแรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิดังกล่าว 2.2 ระยะกลาง พิจารณาขยายสิทธิไปยังกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติและแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายให้ได้รับสิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยและสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง |
1. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ได้เริ่มคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย ทุกสิทธิด้วยวิธี Quadruple test (QT)2 การขอเพิ่มการคัดกรองด้วยวิธี NIPT เพิ่มเติมจากวิธี QT โดย สปสช. ขอให้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยกำหนด และ สปสช. ได้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ต้องได้รับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 2. สปส. กำหนดให้เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนต่างด้าวเหมือนสิทธิของคนไทย แต่ให้เบิกค่าใช้จ่ายจากกองทุนประกันสังคมแรงงานต่างด้าว 3. ราชวิทยาลัยสูติแพทย์นรีแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ในการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ด้วยวิธี NIPT |
|
2.3 ระยะยาว พิจารณาเปลี่ยนแปลงการตรวจคัดกรองเบื้องต้นจากการตรวจแบบ QT มาเป็นแบบ NIPT โดยเริ่มจากกลุ่มเสี่ยง 35 ปีขึ้นไป เป็นประชาชนชาวไทยทั่วไป แล้วขยายสิทธิการรักษาเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาการให้บริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้น |
1. อว. เห็นว่า การคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมโดยวิธี NIPT ควรพิจารณาอย่างระมัดระวัง คำนึงถึงถึงความสามารถในการให้คำปรึกษาก่อนและหลังการตรวจคัดกรอง รวมถึงระบบรองรับการให้บริการต่อเนื่อง 2. สปสช. เห็นว่า วิธีการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ด้วย NIPT มีราคาไม่แตกต่างจาก QT มากนัก ถ้ามีหน่วยบริการที่รับตรวจคัดกรองด้วยวิธี NIPT เพียงพอ ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ สปสช. จะพิจารณาอนุมัติการคัดกรองด้วยวิธี NIPT เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน |
|
3. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 3.1 ให้ สธ. และ อว. ศึกษาแนวทางการผสมกรดโฟลิกในอาหาร และการออกกฎหมายเกี่ยวกับมารดาและเด็กตามรายงานและข้อเสนอแนะของ กสม.และผู้ตรวจการแผ่นดิน |
1. อว. เห็นด้วยกับหลักการที่จะส่งเสริมการผสมกรดโฟลิกในส่วนผสมอาหาร และควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมในบริบทของคนไทย 2. ปัจจุบันกรมอนามัยยังไม่มีนโยบายเสริมกรดโฟลิกในอาหาร หากรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้ให้ได้ 400 กรัมต่อวัน ปริมาณโฟเลตที่ได้รับจะเพียงพอกับความต้องการของร่างกายของคนไทย และโฟเลตหรือวิตามินบี 9 พบในอาหารธรรมชาติ หรือในฟอร์มของกรดโฟลิก ซึ่งสังเคราะห์และเตรียมขึ้นในรูปยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปริมาณโฟเลตที่หญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับต่อวันคือ 0.30 มิลลิกรัม หญิงตั้งครรภ์ 0.55 มิลลิกรัมและหญิงให้นมบุตร 0.45 มิลลิกรัม ปริมาณสูงสุดที่รับประทานได้อย่างปลอดภัยในคนไม่มีโรคประจำตัว คือ ไม่เกินวันละ 1 มิลลิกรัม 3. การได้รับกรดโฟลิกในปริมาณที่สูง (มากกว่าวันละ 1 มิลลิกรัม) ก่อให้เกิดอันตรายได้ ปัจจุบันมีการศึกษาสนับสนุนว่าการได้รับกรดโฟลิกในปริมาณสูงที่ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ 4. การสำรวจผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเมื่อเดือนมกราคม 2567 พบว่า มีอาหารและผลิตภัณฑ์กว่า 20 ชนิดที่เสริมกรดโฟลิกตั้งแต่ร้อยละ 15 – 200 ของปริมาณกรดโฟลิกที่ควรได้รับต่อวัน เช่น น้ำดื่มเสริมวิตามิน เครื่องดื่มต่างๆ นมยูเอชที โยเกิร์ต ไข่ไก่ ขนมปังโฮลวีท และอาหารเช้าซีเรียล 5. การที่จะเสริมกรดโฟลิกในอาหารมีข้อควรพิจารณา ดังนี้ 5.1 กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเสริมสารอาหารอยู่ในเฉพาะกลุ่มเท่านั้น คือ กลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์และมีหลักฐานสนับสนุนว่า พฤติกรรมบริโภคของประชาชนทั่วไปสามารถได้รับโฟเลตในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย ดังนั้น การส่งเสริมให้ได้รับโฟเลตเพื่อป้องกันการเกิดภาวะหลอดประสาทไม่ปิดในปัจจุบันจึงเหมาะกับการให้เสริมด้วยยาเสริมวิตามิน 5.2 ด้านความปลอดภัย ถึงแม้จะมีเกณฑ์ข้อกำหนดปริมาณสารอาหารที่จะเติมลงในอาหารแต่เนื่องจากไม่สามารถควบคุมปริมาณที่ประชาชนจะได้รับจากอาหารได้ อีกทั้งในการศึกษาวิจัยยังมีข้อถกเถียงกันในประเด็นที่หากได้รับโฟเลตในปริมาณมากและเป็นระยะเวลานานพบว่า มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด 5.3 กระบวนการผลิตอาหารเสริมกรดโฟลิกและต้นทุนการผลิต |
|
3.2 ให้ สธ. และ สสส. ประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์และความจำเป็นต่อการบริโภคกรดโฟลิกของหญิงวัยเจริญพันธุ์ การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมของหญิงตั้งครรภ์ และการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อมาตรการป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิดให้กับประชาชน |
การสื่อสารประชาสัมพันธ์ แบ่งเป็น 2 ทาง 1. สำหรับผู้ให้บริการ/หน่วยบริการ 1.1 ส่งเสริมการให้บริการรูปแบบคลิปวิดิโอให้ความรู้แก่บุคลากรสาธารณสุขรวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 1.2 ประกาศประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในการดูแลรักษาโรคหายากในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ/ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ผ่านทางสื่อออนไลน์ และเว็บไซต์ของ สปสช. 1.3 จัดทำคู่มือปฏิบัติงานการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดทางห้องปฏิบัติการ 2. สำหรับประชาชน YouTube การคัดกรองภาวะพร่อง ไทรอยด์ฮอร์โมแต่กำเนิด และโรคพันธุกรรมเมตตาโบลิก 3. แผนการประชุมร่วมกันของ สธ. และ สสส. เรื่องความร่วมมือการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ประโยชน์และความจำเป็นต่อการบริโภคกรดโฟลิกของหญิงวัยเจริญพันธุ์การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมของหญิงตั้งครรภ์ และการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อมาตรการป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิดให้กับประชาชน |
|
3.3 ให้ ศธ. บรรจุเนื้อหาประโยชน์และความจำเป็นต่อการบริโภคกรดโฟ ลิกของหญิงวัยเจริญพันธุ์ในเนื้อหาหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาเป็นเนื้อหาหลักสูตรแกนกลางของระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 |
- ศธ. มีหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ที่ให้สถานศึกษานำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ และเนื้อหาประโยชน์และความจำเป็นต่อการบริโภคกรดโฟลิกของหญิงวัยเจริญพันธุ์อยู่ในสาระที่ 4 การสร้างเสริมสุขภาพ สมรรถภาพและการป้องกันโรค ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และสามารถไปจัดกิจกรรมได้ใน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) กิจกรรมแนะแนว 2) กิจกรรมนักเรียน เช่น กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี กิจกรรมชุมชุม 3) กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ - พม. มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดว่า คนพิการอาจยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการต่อนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัด ณ สำนักงานทะเบียนกลางสำนักงานทะเบียนจังหวัด หรือสถานที่อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติกำหนด เพื่อขอมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ |
–––––––––––––––––––––––
1Non-Invasive Prenatal Testing (NIPT) คือ การตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดมารดาที่สามารถคัดกรองความเสี่ยงของทารกในครรภ์ที่จะเกิดกลุ่มอาการดาวน์ หรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของจำนวนโครโมโซมอื่นๆ ความแม่นยำประมาร้อยละ 99 2 Quadruple test (QT) คือ การตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ของสตรีตั้งครรภ์ เพื่อตรวจสารชีวเคมีในเลือด ความแม่นยำประมาณร้อยละ 80 - 85
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 กรกฎาคม 2567
7710