รายงานผลการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 July 2024 13:01
- Hits: 8302
รายงานผลการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ของรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการและรายงานผลการดําเนินงานให้ พณ. ทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรมฯ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง พณ. ได้เดินทางเยือนจีนและ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 27 - 29 เมษายน 2567 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนจีนในเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน1 และเพื่อผลักดันผลประโยชน์ของไทยในการสร้างความร่วมมือและแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้ารวมทั้งส่งเสริมการลงทุนระหว่างสองประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีรายละเอียด เช่น 1.1 หารือกับผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ดังนี้
(1) การส่งออกโคมีชีวิตและเนื้อสัตว์แช่แข็งจากไทยไปจีน: ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายจีนช่วยผลักดันการเจรจาเพื่อจัดทําพื้นที่เขตปลอดโรคเพื่อการส่งออกโคมีชีวิต ไปยังจีน ภายใต้หลักการ Regionalization ให้สําเร็จ โดยขณะนี้ กรมปศุสัตว์ไทยอยู่ระหว่าง การเจรจากับ General Administration of Customs China (GACC) และฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายจีน เตรียมความพร้อมสําหรับโรงชําแหละและห้องเย็นเพื่อรองรับการนําเข้าโคมีชีวิตและเนื้อสัตว์แช่แข็งผ่านเส้นทางแม่น้ำโขง จากด่านท่าเรือเชียงแสน (ไทย) ไปยังด่านท่าเรือกวนเหล่ย (จีน) ซึ่งฝ่ายจีนเห็นด้วยกับไทยว่าเส้นทางดังกล่าวสามารถประหยัดระยะเวลาในการขนส่ง โดยกรมปศุสัตว์ไทยกับ GACC จะต้องหารือร่วมกันในประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ จีนอยู่ระหว่าง ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือกวนเหล่ยให้มีศักยภาพรองรับการค้าในอนาคต
(2) การอํานวยความสะดวกในการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีน: ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายจีนอํานวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากไทยผ่านด่านโม่ฮาน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์ให้เพียงพอต่อความต้องการในช่วงฤดูกาลผลไม้ และขอขยายระยะเวลาเปิด - ปิดด่าน จากเดิม 08.00 – 18.00 น. เป็น 08.00 – 21.00 น. เพื่อลดความแออัดของรถบรรทุกบริเวณหน้าด่าน
(3) การลดค่าธรรมเนียมสําหรับอากาศยานในการใช้สนามบินของไทย: ฝ่ายจีนขอให้ฝ่ายไทยช่วยประสานงานกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) เรื่องการลดค่าธรรมเนียมสําหรับอากาศยานในการใช้สนามบินของไทย รวมทั้งการอุดหนุน ด้านการตลาดสําหรับการเปิดเส้นทางการบินสิบสองปันนา - กรุงเทพฯ ซึ่งฝ่ายไทยรับประเด็นดังกล่าว มาพิจารณาประสานงานกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) และสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ต่อไป
(4) การเดินเรือจากท่าเรือกวนเหล่ยไปท่าเรือเชียงแสน: ฝ่ายจีนขอให้ฝ่ายไทยช่วยผลักดันและฟื้นฟูการขนส่งผู้โดยสารผ่านเส้นทางแม่น้ำโขง และขอให้ฝ่ายไทยช่วยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือเชียงแสนเพื่อรองรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการขุดลอกแม่น้ำโขงให้สามารถเดินเรือได้ ในช่วงที่น้ำน้อย ตามข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง - แม่น้ำโขง
1.2 หารือกับนายอ่อนจัน คําพาวง รองเจ้าแขวงหลวงน้ำทาและผู้บริหารด่านบ่อเต็น ในประเด็นการอํานวยความสะดวกในการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีน โดยฝ่ายไทยขอให้ฝ่าย สปป.ลาว ขยายระยะเวลาเปิด-ปิดด่าน จากเดิม 08.00 - 18.00 น. เป็น 08.00 – 21.00 น. และขอให้พิจารณารายงานจํานวนรถบรรทุกที่ผ่านด่านบ่อเต็น และส่งให้ไทยทุกเดือน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ คณะกรรมการ จัดการจุดตรวจปล่อยของ สปป.ลาว จะเสนอให้จีนพิจารณาร่วมกัน
1.3 เยี่ยมชมด่านรถไฟโม่ฮานและลานตรวจสินค้าจําเพาะผลไม้ ณ ด่านรถไฟโม่ฮาน โดยฝ่ายจีนนําเสนอขั้นตอนและวิธีการควบคุมและตรวจสอบสินค้า ทุเรียน และมังคุด จากไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานการตรวจสอบและประสิทธิภาพ ของหน่วยงาน GACC ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง
1.4 หารือกับรองผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนาและคณะนักธุรกิจสิบสองปันนา ดังนี้
(1) ภาคเอกชนของสิบสองปันนาให้ความสนใจเรื่องการนําเข้าสินค้าจากไทย โดยการเปิดตลาดสินค้าใหม่ๆ เช่น โคมีชีวิต สุราพื้นบ้าน เนื้อสัตว์แช่แข็งและผลไม้ชนิดใหม่ๆ ผ่านเส้นทางแม่น้ำโขง การลงทุนและหาผู้ร่วมทุนในไทยด้านการพัฒนา อสังหาริมทรัพย์ การขนส่งและโลจิสติกส์ การท่องเที่ยวในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และการพัฒนา เทคโนโลยีการป้องกัน/กําจัดยุง เป็นต้น
(2) ภาคเอกชนของสิบสองปันนาเสนอให้ไทยพิจารณาร่วมกับจีน และ สปป.ลาว พัฒนาเส้นทางทางด่วนห้วยทราย - บ่อเต็น และจัดหาเครนยกตู้สินค้าที่ท่าเรือเชียงแสน รวมถึงขยายเวลาเปิดด่านท่าเรือเชียงแสนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเส้นทางแม่น้ำโขง
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรมฯ) และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง เป็นผู้ประสานงานต่อในรายละเอียด รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทยในแต่ละด้านต่อไป
1.5 หารือกับผู้ว่าการมณฑลยูนนาน ดังนี้
(1) ฝ่ายไทยได้ขอให้ผู้ว่าการมณฑลยูนนานช่วยประสาน และผลักดันในประเด็นต่างๆ ที่ได้หารือไว้ (ตามข้อ 1.1 - 1.4) เพื่อประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
(2) ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายจีนพิจารณาผลักดันให้การรถไฟจีนได้มีการบริหารจัดการเรื่องแคร่รถไฟสําหรับบรรทุกตู้สินค้าให้มีเพียงพอต่อความต้องการขนส่ง ในเส้นทางรถไฟจีน - ลาว – ไทย2 เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น
(3) ฝ่ายจีนตอบรับให้การสนับสนุนประเด็นที่ฝ่ายไทยขอความร่วมมือ โดยจะกํากับดูแลให้การขนส่งมีความสะดวกทั้งเส้นทางรถ เรือ และราง รวมถึงจะพัฒนาการค้าและเส้นทางโลจิสติกส์ในทั้งสามส่วน คือ ถนน R3A3 แม่น้ำโขง และรถไฟไทย - ลาว - จีน ทั้งนี้ ขอให้ไทยพิจารณาเปิดตลาดผลไม้จีน เช่น บลูเบอรี่ ด้วย ซึ่งฝ่ายไทย รับประเด็นดังกล่าวมาดําเนินการ โดยมอบหมายกรมการค้าต่างประเทศประสานหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) พิจารณาในเรื่องดังกล่าว
2. พณ. ได้เสนอแนวทางการดำเนินงานขั้นต่อไป โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการหารือข้างต้น ดังนี้
หน่วยงาน |
การดำเนินการ |
พณ. |
(1) กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ติดตาม และประเมินผลการขยายระยะเวลาทําการของด่านโม่ฮานและบ่อเต็น รวมทั้ง การบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์ให้เพียงพอต่อความต้องการในช่วงฤดูกาลผลไม้ การพิจารณาเพิ่มแคร่บรรทุกตู้สินค้าของรถไฟจีน-ลาว-ไทย ณ ด่านรถไฟโม่ฮาน (2) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสํานักงานส่งเสริมการค้า ในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง ประสานภาคเอกชนที่เข้าร่วมประชุมหารือ เพื่ออํานวยความสะดวกให้เกิดการเจรจาธุรกิจ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวระหว่าง ผู้ประกอบการไทยและจีน |
กษ. |
(1) กรมปศุสัตว์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามผลการเจรจา เปิดตลาด โคมีชีวิตและเนื้อโคแช่แข็งกับ GACC ของจีน ในประเด็นข้อเสนอ การส่ง โคมีชีวิตและเนื้อสัตว์แช่แข็งผ่านทางแม่น้ำโขงจากท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงรายเข้าสู่จีนที่ท่าเรือกวนเหล่ย รวมทั้งวางแผน/กํากับดูแล/เตรียมความพร้อม เรื่องสถานที่กักกันสัตว์ให้ปลอดโรคก่อนส่งออกไปจีน ตลอดจนเตรียมความพร้อม รองรับการตรวจปล่อยสินค้าปศุสัตว์และเกษตร ณ ท่าเรือเชียงแสน (2) กรมวิชาการเกษตรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาข้อเสนอ ของฝ่ายจีนในการขอให้ไทยเปิดตลาดนําเข้าผลไม้ (บลูเบอรี่) จากจีน |
กระทรวงคมนาคม |
(1) สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย/บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาข้อเสนอเรื่องการลดค่าธรรมเนียม สำหรับอากาศยานในการใช้สนามบินของไทย รวมทั้งอุดหนุนด้านการตลาด สําหรับการเปิดเส้นทางการบินสิบสองปันนา - กรุงเทพฯ (2) การท่าเรือแห่งประเทศไทย/กรมเจ้าท่า ร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือเชียงแสนเพื่อรองรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่าง ไทย - จีน รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ กฎระเบียบ และข้อจํากัดในการขุดลอกแม่น้ำโขงให้สามารถเดินเรือได้ ในช่วงที่น้ำน้อย ตามข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำ ล้านช้าง - แม่น้ำโขง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว |
กระทรวงการคลัง |
กรมศุลกากรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งสินค้าโคมีชีวิตและเนื้อโคแช่แข็ง รวมทั้งผลไม้ผ่านด่านท่าเรือเชียงแสนไปยังท่าเรือกวนเหล่ย |
กระทรวงการต่างประเทศ |
กรมเอเชียตะวันออกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนกรมปศุสัตว์ ในการติดตามความคืบหน้าเรื่องการกําหนดให้ท่าเรือกวนเหล่ย มณฑลยูนนาน เป็นด่านที่สามารถนําเข้าผลไม้จากไทยไปจีนได้เพิ่มเติม และการเจรจาเปิดตลาดโคมีชีวิตและเนื้อโคแช่แข็งกับ กับ GACC ของจีน |
กระทรวงมหาดไทย (มท.) |
จังหวัดเชียงรายให้การสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ |
–––––––––––––––––––––––––
1เป็นประตูการค้าสําคัญเชื่อมโยงการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศจากไทยไปจีนที่สามารถกระจายสินค้าไทย ไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลก ตามนโยบายข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ที่เน้นความเชื่อมโยง และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป โดยการขนส่งสินค้าจากไทย ไปยังมณฑลยูนนาน ผ่านเส้นทางหลัก 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางถนน R3A เส้นทางรถไฟไทย - ลาว - จีน และเส้นทางแม่น้ำโขง
2เริ่มต้นจากด่านรถไฟหนองคาย (จังหวัดหนองคาย) ไปยังรถไฟลาว-จีน ที่สถานีเวียงจันทน์ใต้ (สปป.ลาว) และเข้าสู่ เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ที่ด่านรถไฟโม่ฮาน (จีน) โดยเส้นทางนี้เป็นเส้นทางส่งออก ผลไม้สําคัญทางราง ซึ่งในช่วงฤดูกาลผลไม้ ผู้ประกอบการไทยมักจะประสบปัญหาปริมาณแคร่สําหรับบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ
3เริ่มต้นจากด่านเชียงของ (จังหวัดเชียงราย) ไปยังเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว (สปป.ลาว) และเข้าสู่เขตปกครองตนเอง ชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ที่ด่านโมฮาน (จีน) โดยเส้นทางนี้เป็นเส้นทางขนส่งผลไม้ที่สําคัญของไทยไปจีน ทั้งนี้ ในช่วงฤดูกาลผลไม้ ผู้ประกอบการไทยมักจะประสบปัญหาความแออัดของรถบรรทุกบริเวณหน้าด่านโม่ฮาน ทําให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้า ตลอดจนขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 กรกฎาคม 2567
7708