รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรภูฏาน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 July 2024 12:54
- Hits: 8230
รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรภูฏาน
คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบบันทึกการหารือว่าด้วยการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับบริการเดินอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรภูฏาน (บันทึกการหารือฯ)
2. เห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรภูฏาน (ร่างความตกลงฯ) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้ คค. ดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามร่างความ ตกลงฯ และให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวด้วย
4. เห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของไทย
5. มอบให้ กต. ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยืนยันการมีผลใช้บังคับของร่างความ ตกลงฯ ต่อไป โดยให้ กต. สามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบกับสาระสำคัญ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ที่ผ่านมาประเทศไทยและราชอาณาจักรภูฏานได้มีการเจรจาหารือเกี่ยวกับการบริการเดินอากาศระหว่างกัน ระหว่างวันที่ 26 - 27 มีนาคม 2562 ณ กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งในการเจรจาหารือดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะจัดทำความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรภูฏาน (ความตกลงฯ) ฉบับใหม่ เพื่อมาแทนที่ความตกลงฯ ฉบับเดิม ที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2536 โดยได้ปรับปรุงข้อกำหนดและสิทธิทางการบินระหว่างทั้งสองประเทศให้มีความเป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีความใกล้เคียงกับความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศที่ประเทศไทยได้จัดทำกับประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมา [เช่น ประเทศแคนาดา เบลเยียม สหราชอาณาจักร และศรีลังกา] โดยร่างความตกลงฯ ฉบับใหม่ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 เพิ่มข้อบทที่สำคัญที่ไม่ปรากฏในความตกลงฯ ฉบับเดิม จากเดิม 22 ข้อบท (เช่น การกำหนดสิทธิของสายการบิน การใช้กฎหมายและข้อบังคับ ค่าภาระ พิกัดอัตราค่าขนส่ง ภาษีศุลกากร กิจกรรมเชิงพาณิชย์ เป็นต้น) เพิ่มเป็น 30 ข้อบท (ข้อบทที่เพิ่มมา เช่น ความปลอดภัยการบิน การรักษาความปลอดภัยการบิน การเก็บภาษี การแข่งขันที่เป็นธรรม ความจุ การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน/ข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือ เป็นต้น)
1.2 ปรับปรุงข้อบทเดิมเพื่อให้เกิดความชัดเจน มีความทันสมัยยิ่งขึ้นและรองรับต่อสภาวการณ์การบินในปัจจุบัน เช่น
ข้อบท |
การปรับปรุง |
|
(1) การให้สิทธิ |
- ปรับปรุงสิทธิในการบินของสายการบิน โดยตัดถ้อยคำที่ระบุเรื่องการให้สิทธิแก่สายการบินในการรับขนจากจุดในประเทศที่สาม - เพิ่มการให้สิทธิแก่สายการบินอื่นของทั้งสองฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ความตกลงฉบับนี้ ให้สามารถบินผ่านและลงจอดในอาณาเขตของอีกฝ่ายหนึ่งได้ (สิทธิที่ 1 และ 2) |
|
(2) การกำหนดสายการบินและการอนุญาตดำเนินการ |
ปรับปรุงให้แต่ละฝ่ายสามารถกำหนดสายการบินที่ดำเนินการตามความตกลงได้หลายสายการบิน (จากเดิมกำหนดได้ 1 สายการบิน) |
|
(3) การระงับ การเพิกถอน และการจำกัดการอนุญาตดำเนินการ |
เพิ่มเงื่อนไขให้สามารถระงับการออกใบอนุญาตดำเนินการของสายการบินได้ในกรณีที่สายการบินไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในเรื่องของความปลอดภัยการบินและการรักษาความปลอดภัยการบิน |
|
(4) ค่าภาระ |
เพิ่มแนวทางให้มีการปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดค่าภาระระหว่างกัน |
|
(5) พิกัดอัตราค่าขนส่ง |
ปรับปรุงแนวทางการขออนุมัติพิกัดอัตราค่าขนส่ง โดยกำหนดให้แต่ละฝ่ายไม่ต้องยื่นขออนุมัติพิกัดอัตราค่าขนส่งต่อเจ้าหน้าที่การเดินอากาศ (จากเดิมกำหนดให้ต้องขออนุมัติพิกัดอัตราค่าขนส่งต่อเจ้าหน้าที่การเดินอากาศก่อน) |
|
(6) ใบพิกัดเส้นทางบิน |
ปรับปรุงใบพิกัดเส้นทางบินเป็นแบบเปิด (ไม่ได้กำหนดสถานที่ในแต่ละจุดของเส้นทางการบิน) |
2. ผลจากการเจรจาหารือข้างต้นส่งผลให้มีเอกสารจำนวน 3 ฉบับ ที่กระทรวงคมนาคมขอเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบและให้ความเห็นชอบมาในครั้งนี้ ได้แก่ (1) บันทึกการหารือว่าด้วยการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับบริการเดินอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรภูฏาน (บันทึกการหารือฯ) (2) ร่างความตกลงฯ ฉบับใหม่ และ (3) ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูต รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เอกสารต่างประเทศ |
เสนอ คณะรัฐมนตรี |
สาระสำคัญ |
ลักษณะการเป็นหนังสือสัญญา ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย |
||
(1) บันทึกการหารือฯ |
รับทราบ |
เป็นเอกสารสรุปผลการหารือร่วมกันเกี่ยวกับบริการเดินอากาศระหว่างสองประเทศ |
กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เห็นว่าไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย |
||
(2) ร่างความตกลงฯ ฉบับใหม่ |
เห็นชอบ |
เป็นการกำหนดข้อบทต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิการบินและการบริการเดินอากาศระหว่างกัน โดยมีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้แต่ละฝ่ายต้องปฏิบัติ |
- กต. และ สคก. เห็นว่า เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย - คค. แจ้งว่า ไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสองและวรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย |
||
(3) ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูต |
เห็นชอบ |
เป็นการยืนยันผลการหารือเพื่อให้ข้อกำหนดในบันทึกการหารือฯ มีผลใช้บังคับ |
- คค. และ สคก. เห็นว่า เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย - สคก. เห็นว่าไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสองและวรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย |
3. คค. แจ้งว่า ที่ผ่านมา ระหว่างปี 2562 - 2567 มีสายการบินของภูฏานทำการบินแบบประจำระหว่างไทย - ภูฏาน จำนวน 2 สายการบิน (ได้แก่ Druk Air และ Bhutan Airlines) ในส่วนของฝ่ายไทยไม่มีสายการบินทำการบินในเส้นทางนี้ ซึ่งจากข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวภูฏานที่เดินทางเข้าประเทศไทย โดยในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวภูฏานเดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2565 อย่างมีนัยสำคัญ [มีนักท่องเที่ยวชาวภูฏาน ในปี 2566 จำนวน 20,356 ราย ส่วนในปี 2565 มีจำนวน 8,732 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 133)] ดังนั้นการจัดทำความตกลงฯ ฉบับใหม่ รวมถึงการปรับปรุงสิทธิรับขนการจราจร จากเดิม 28 เที่ยวต่อสัปดาห์ เป็น 35 เที่ยวต่อสัปดาห์ จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในเรื่องการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันราชอาณาจักรภูฏานมีแนวโน้มจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลดลงอย่างมากแล้ว ดังนั้น จึงเห็นควรให้ คค. เร่งประสานงานกับสายการบินต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ (Feasibility) รวมถึงจังหวะเวลาที่มีความเหมาะสมในการเปิดเส้นทางการบินไทย - ภูฏาน เพื่อให้สายการบินของประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ฉบับใหม่ ได้อย่างเต็มที่
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 กรกฎาคม 2567
7707