WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 15 การประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง สหรัฐฯ ครั้งที่ 3 และการรับตําแหน่งประธานร่วมของหุ้นส่วน ลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ในปี 2568

Gov 49

การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 15 การประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง สหรัฐฯ ครั้งที่ 3 และการรับตําแหน่งประธานร่วมของหุ้นส่วน ลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ในปี 2568

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

          1. เห็นชอบต่อร่างยุทธศาสตร์กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ค.ศ. 2024 และร่างแผนดำเนินการหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ค.ศ. 2024-2026 เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 15 และของการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ครั้งที่ 3 ตามลำดับ ทั้งนี้หากจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารทั้งสองฉบับข้างต้น ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของราชอาณาจักรไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก 

          2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรอง ร่างเอกสารในข้อ 1 ในที่ประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 15 และที่ประชุมรัฐมนตรี หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ครั้งที่ 3

          3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายแจ้งที่ประชุม รัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ครั้งที่ 3 ว่าราชอาณาจักรไทยเห็นพ้องที่จะรับตําแหน่งประธานร่วมของ MUSP ร่วมกับสหรัฐอเมริกาต่อจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปี 2568

          สาระสําคัญ

          1. การประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 15

              1.1 กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 มีประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และการพัฒนาของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ลดช่องว่างการพัฒนา และส่งเสริมการรวมตัวของประชาคมอาเซียน มีความร่วมมือ 3 สาขา ตามยุทธศาสตร์ กรุงโตเกียว ค.ศ. 2018 ได้แก่ (1) การพัฒนาความเชื่อมโยงที่ดีและมีประสิทธิภาพ (2) การสร้างสังคมที่มี ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ (3) การสร้างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว

              1.2 การประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 15 จะจัดขึ้น ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นประธานร่วม โดยที่ประชุมจะรับรองเอกสารผลลัพธ์ “ร่างยุทธศาสตร์กรอบความร่วมมือ ลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ค.ศ. 2024” ซึ่งเป็นเอกสารกําหนดแนวทางความร่วมมือในระยะ 5 ปี ต่อเนื่องจากยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2018 ใน 3 เสา ได้แก่ (1) การเป็นสังคมที่มีความยืดหยุ่นและเชื่อมโยงกันในโลกหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิค-19) (2) การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และ (3) การตอบสนองเชิงรุกต่อประเด็น ความมั่นคงรูปแบบใหม่ เช่น การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การบริหารจัดการนํ้า ความมั่นคงทางอาหาร และ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 

          2. การประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ครั้งที่ 3

              2.1 สหรัฐอเมริกาประกาศข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative: LMI) เมื่อปี 2552 โดยมีประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสหรัฐอเมริกา และได้ยกระดับ LMI เป็นกรอบความร่วมมือ MUSP เมื่อปี 2563 เพื่อตอบรับกับความท้าทายใหม่ๆ และส่งเสริมความเป็นยุทธศาสตร์ ความมุ่งมั่น และประสิทธิภาพของความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก โดยมีความร่วมมือ 4 สาขาหลัก ได้แก่ (1) ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (2) การใช้และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (3) ความมั่นคงรูปแบบใหม่ รวมถึงความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด สัตว์ป่าและพืชป่า ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การหลอกลวงทางออนไลน์ และอาชญากรรมทางไซเบอร์อื่นๆ การรับมือและเตรียมพร้อมต่อภัยพิบัติ และ (4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

              2.2 การประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ที่เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอมริกาเป็นประธานร่วม โดยที่ประชุมจะรับรองเอกสารผลลัพธ์ “ร่างแผนดําเนินการหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ค.ศ. 2024 -2026” ซึ่งกําหนดกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่สหรัฐฯ จะดําเนินการภายใต้ MUSP ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า การระบุหลักการความเป็นแกนกลางของอาเซียน ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล การเคารพต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และความร่วมมือที่มีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐานโครงสร้างและสาขาความร่วมมือ 4 สาขา รวมทั้งโครงการของสหรัฐฯ ที่จะดําเนินการในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงภายใต้ MUSP ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ปรับปรุงสาระและถ้อยคําของร่างแผนดําเนินการฯ ฉบับล่าสุด โดยมุ่งให้ความสําคัญกับอนุภูมิภาคฯ ชัดเจนมากขึ้น ตลอดจนกําหนดกรอบเวลาของการดําเนินโครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่แผนดําเนินการฯ จะสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 2026

              2.3 นอกจากนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ครั้งที่ 3 จะหารือเกี่ยวกับข้อเสนอการส่งมอบตําแหน่งประธานร่วมของ MUSP ในส่วนของประเทศลุ่มน้ำโขงในปี 2568 จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวให้แก่ราชอาณาจักรไทย เพื่อทําหน้าที่ประธานร่วมกับสหรัฐอเมริกา โดยตามหลักการ ที่ระบุในเอกสารจัดตั้ง MUSP จะต้องมีการหมุนเวียนประเทศลุ่มน้ำโขงที่ทําหน้าที่ประธานร่วมในกรอบ MUSP ทุกปี ตามลำดับตัวอักษร อย่างไรก็ดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ทําหน้าที่ประธานร่วมตั้งแต่ปี 2565 โดยไม่สามารถส่งมอบตําแหน่งให้แก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่ประสงค์ทําหน้าที่ร่วมกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาด้วยเหตุสถานการณ์ทางการเมืองในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา แต่ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส MUSP เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่เมืองวังเวียง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประธานร่วม (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสหรัฐอเมริกา) ได้เสนอให้มีการส่งมอบตําแหน่งประธานร่วมใน ปี 2568 จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยข้ามสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาไปยังประเทศลุ่มน้ำโขงลำดับถัดไป คือ ราชอาณาจักรไทย ซึ่งผู้แทนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา แจ้งว่า ไม่ขัดข้องต่อข้อเสนอดังกล่าวเฉพาะในครั้งนี้

          3. ประโยชน์และผลกระทบ 

              1) ร่างยุทธศาสตร์กรอบความร่วมมือลุ่มนํ้าโขง-ญี่ปุ่น ค.ศ. 2024 เป็นประโยชน์ต่อราชอาณาจักรไทยและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมโยง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความร่วมมือทางวิชาการ และการลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนา โดยคํานึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก และสนับสนุนความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียน 

              2) ร่างแผนดําเนินการหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ค.ศ. 2024-2026 เป็นประโยชน์ต่อ ราชอาณาจักรไทยและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในด้านการพัฒนาความเชื่อมโยงในทุกมิติ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการลดความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก 

              3) การรับตําแหน่งประธานร่วมของ MUSP ของราชอาณาจักรไทยในปี 2568 จะเป็นการส่งเสริมบทบาทนำของราชอาณาจักรไทยในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะการกําหนดวาระการประชุมและประเด็นความร่วมมือต่างๆ ที่ประเทศลุ่มน้ำโขงให้ความสําคัญ เพื่อให้ความร่วมมือในกรอบ MUSP เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราชอาณาจักรไทยและประเทศลุ่มน้ำโขง เป็นการแก้ไขปัญหาการส่งมอบตําแหน่งประธานร่วม MUSP บนหลัก ฉันทามติของประเทศสมาชิก รวมทั้งยังเพื่อให้ความร่วมมือสามารถเดินหน้าต่อไปได้ 

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 กรกฎาคม 2567

 

 

7701

Click Donate Support Web 

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!