มาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 17 July 2024 02:29
- Hits: 8450
มาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบทั้ง 2 ข้อตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอและแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ทราบต่อไป ดังนี้
1. รับทราบสรุปผลการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (มาตรการฯ) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำความเห็นจากที่ประชุมไปดำเนินการ
2. ขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ป.ป.ท. รายงานว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (20 กุมภาพันธ์ 2567) รับทราบมาตรการฯ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และมอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ท. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ท. ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (12 มีนาคม 2567) โดยในครั้งนี้สำนักงาน ป.ป.ท. ได้รายงานผลการพิจารณาตามมาตรการฯ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 73 หน่วยงาน ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับมาตรการฯ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. (3 เป้าหมาย 8 ตัวชี้วัด 22 มาตรการ) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) (รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงาน ป.ป.ท. ในขณะนั้น) เป็นประธาน ซึ่งผลการพิจารณามาตรการฯ ในภาพรวมมีหน่วยงานที่เห็นด้วยกับมาตรการฯ และไม่ขอแก้ไข จำนวน 60 หน่วยงาน มีหน่วยงานที่ขอแก้ไข จำนวน 11 หน่วยงาน เช่น ขอปรับปรุงแก้ไขเป้าหมายและตัวชี้วัด กิจกรรมที่ต้องดำเนินการ ขอปรับปรุงแก้ไขหน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการ และมีหน่วยงานที่ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม จำนวน 2 หน่วยงาน [สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และ สลค.] มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดตามมาตรการฯ (ส่วนที่ 5)
มาตรการฯ เช่น [ตามมติคณะรัฐมนตรี (20 กุมภาพันธ์ 2567)] |
ความเห็นของหน่วยงาน/มติของที่ประชุม |
|
เป้าหมายที่ 1 : ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต |
||
ตัวชี้วัดที่ 1.2 : สัดส่วนประชาชนที่มีวัฒนธรรมค่านิยมสุจริต มีทัศนคติและพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อประชาชนทั้งหมด (ค่าเป้าหมาย : ร้อยละ 84) |
||
มาตรการที่ 1 : ส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต และมีส่วนร่วมต่อการทุจริตและประพฤติมิชอบ |
||
การดำเนินการ : สร้างการรับรู้และความตระหนักในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการบริหารภาครัฐ หน่วยงานรับผิดชอบ : สำนักงาน ก.พ.ร. |
ความเห็นของหน่วยงาน : สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอขอแก้ไข เป้าหมายของการดำเนินการ จากเดิม กลุ่มเป้าหมายมีการรับรู้การบริหารงานภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ เปิดเผย โปร่งใส และตอบสนองประชาชน เป็น กลุ่มเป้าหมายมีการรับรู้การพัฒนาระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตัวชี้วัด จากเดิม กลุ่มเป้าหมายผ่านการประเมินร้อยละ 80 เป็น กลุ่มเป้าหมายผ่านการประเมินร้อยละ 84 มติของที่ประชุม : รับข้อเสนอไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
ตัวชี้วัดที่ 1.3 : สัดส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐต่อหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด (เกณฑ์ 85 คะแนนขึ้นไป) (ค่าเป้าหมาย : ร้อยละ 100) |
||
มาตรการที่ 2 : การยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานระดับต่ำกว่ากรม1 |
||
การดำเนินการ : พัฒนาเครื่องมือและแนวทางการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ของหน่วยงานระดับต่ำกว่ากรมที่นำเครื่องมือฯ ไปปรับใช้ตามบริบทของหน่วยงาน โดยศึกษาวิเคราะห์ผลการประเมิน ITA ของหน่วยงานในประเด็นที่ต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน การให้บริการ การอำนวยความสะดวก และตอบสนองต่อประชาชนได้ดียิ่งขึ้น หน่วยงานรับผิดชอบ : สำนักงาน ป.ป.ช. กค. (กรมสรรพากรและกรมศุลกากร) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) มท. (กรมที่ดิน) ศธ. [สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)] สธ. (สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) |
ความเห็นของหน่วยงาน : กรมศุลกากร ไม่ขัดข้องต่อมาตรการฯ ทั้งนี้ เพื่อให้การประเมิน ITA ของหน่วยงานระดับต่ำกว่ากรมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขอให้สำนักงาน ป.ป.ท. พิจารณาจัดทำเครื่องมือในการประเมินฯ เช่นเดียวกับที่ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมที่ได้เคยเสนอแก่สำนักงาน ป.ป.ช. ใน ร่างมาตรการฯ ครั้งที่ผ่านมา มติของที่ประชุม : รับข้อเสนอไปดำเนินการ |
|
เป้าหมายที่ 2 : คดีทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง |
||
ตัวชี้วัดที่ 2.1 : คดีทุจริตในภาพรวม (ค่าเป้าหมาย : ลดลงร้อยละ 30) ตัวชี้วัดที่ 2.2 : คดีทุจริตรายหน่วยงาน [ข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ถูกชี้มูลเรืองวินัย (ทุจริต) และข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ถูกชี้มูลว่ากระทำการทุจริต (ค่าเป้าหมาย : ลดลงร้อยละ 30) ตัวชี้วัดที่ 2.3 : คดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งท่างการเมือง (ค่าเป้าหมาย : ลดลงร้อยละ 40) |
||
มาตรการที่ 7 : การพัฒนาและส่งเสริมจริยธรรมทางการเมือง |
||
การดำเนินการ : (1) พัฒนากลไกและแนวทางในการกำหนดให้นักการเมืองแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต รวมถึงการพัฒนาค่านิยมของนักการเมืองและยกระดับการมีจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานรับผิดชอบ : สำนักงาน กกต. สผ. สว.และสถาบันพระปกเกล้า |
ความเห็นของหน่วยงาน : สว. เสนอขอแก้ไขหน่วยงานรับผิดชอบ จากเดิม สำนักงาน กกต. สผ. สว. และสถาบันพระปกเกล้า เป็น หน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ สำนักงาน กกต. และหน่วยงานร่วมดำเนินการ คือ สถาบันพระปกเกล้า สผ. และ สว. ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) (แผนปฏิบัติการฯ) มติของที่ประชุม : รับข้อเสนอไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
(2) กำกับดูแลการปฏิบัติตามจริยธรรมทางการเมือง หน่วยงานรับผิดชอบ : สำนักงาน กกต. สผ. สว. และสำนักงาน ป.ป.ช. |
ความเห็นของหน่วยงาน : สว. เสนอขอแก้ไข (1) เป้าหมายของการดำเนินการ จากเดิม พรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามจริยธรรมทางการเมือง เป็น นักการเมืองหรือพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามจริยธรรมทางการเมือง (2) ตัวชี้วัด จากเดิม ร้อยละการดำเนินงานของพรรคการเมืองในการปฏิบัติตามจริยธรรมทางการเมือง เป็น ร้อยละการดำเนินงานของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองในการปฏิบัติตามจริยธรรมทางการเมือง และ (3) หน่วยงานรับผิดชอบ จากเดิม ได้แก่ สำนักงาน กกต. สผ. สว. และสำนักงาน ป.ป.ช. เป็น หน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ สำนักงาน กกต. และหน่วยงานร่วมดำเนินการ คือ สถาบันพระปกเกล้า สผ. และ สว. เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฯ มติของที่ประชุม : รับข้อเสนอไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
(3) ติดตามและประเมินผลการกำกับดูแลการปฏิบัติตามจริยธรรมทางการเมือง หน่วยงานรับผิดชอบ : สำนักงาน กกต. สผ. สว. และสำนักงาน ป.ป.ช. |
ความเห็นของหน่วยงาน : สว. เสนอขอแก้ไข (1) เป้าหมายของการดำเนินการ จากเดิม ดำเนินการติดตามและประเมินผลหน่วยงานหรือพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามจริยธรรมทางการเมือง เป็น ดำเนินการติดตามและประเมินผลหน่วยงานหรือนักการเมืองหรือพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามจริยธรรมทางการเมือง (2) ตัวชี้วัด จากเดิม ระดับความสำเร็จในการติดตามและประเมินผลหน่วยงานหรือพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามจริยธรรมทางการเมือง เป็น ดำเนินการติดตามและประเมินผลหน่วยงานหรือนักการเมืองหรือพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามจริยธรรมทางการเมือง เนื่องจากเป็นลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาในการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจึงเห็นว่าต้องปรับให้สอดคล้องกับกฎหมายที่กำหนดไว้และ (3) หน่วยงานรับผิดชอบ จากเดิม ได้แก่ สำนักงาน กกต. สผ. สว. และสำนักงาน ป.ป.ช. เป็น หน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ท. และหน่วยงานร่วมดำเนินการ ให้ระบุหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฯ มติของที่ประชุม : รับข้อเสนอไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
มาตรการที่ 9 : การสร้างความโปร่งใส่ในระบบงบประมาณของหน่วยง่านภาครัฐ |
||
การดำเนินการ : พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างความโปร่งใสในระบบงบประมาณ หน่วยงานรับผิดชอบ : กค. (กรมบัญชีกลาง) สงป. สำนักงาน ก.พ. สศช. |
ความเห็นของหน่วยงาน : สำนักงาน ก.พ. เสนอขอให้ตัดสำนักงาน ก.พ. ออกจากการเป็นหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เกี่ยวกับการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อสร้างมาตรฐานที่โปร่งใสในระบบงบประมาณของหน่วยงานรัฐ เนื่องจากไม่มีความเกี่ยวข้องกับภารกิจดังกล่าว มติของที่ประชุม : เห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ |
|
มาตรการที่ 10 : การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างความโปร่งใส่ในการปฏิบัติงาน |
||
การดำเนินการ : ขับเคลื่อนการใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานและสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งอำนวยความสะดวก รวดเร็ว สามารถลดระยะเวลาในการดำเนินงานหรือการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานรับผิดชอบ : กค. (กรมบัญชีกลาง) ทส. (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) |
ความเห็นของหน่วยงาน : กค. (กรมบัญชีกลาง) เห็นว่าเนื่องจากกรมบัญชีกลางยังอยู่ระหว่างพัฒนาระบบฯ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถใช้งานได้จริงในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จึงเห็นควรนำตัวชี้วัด “หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน พึงพอใจต่อการใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 70” ไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 และขอเพิ่มตัวชี้วัด “กรมบัญชีกลางสามารถเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างได้ตามมาตรฐานสากล Open Contracting Data Standard (OCDS)” มติของที่ประชุม : เห็นชอบให้ปรับลดค่าเป้าหมายตัวชี้วัด “หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน พึงพอใจต่อการใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน” จากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 70 แต่ให้คงเป็นตัวชี้วัดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และเห็นชอบให้เพิ่มตัวชี้วัดตามที่กรมบัญชีกลางเสนอ |
|
มาตรการที่ 11 : การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการตามมาตรการ ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ |
||
การดำเนินการ (1) การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ “ข้อเสนอแนะเพื่อดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารและอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว” หน่วยงานรับผิดชอบ : สำนักงาน กสทช. มท. [องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค] คค. (กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท) ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งในส่วนรัฐวิสาหกิจและธุรกิจเอกชน |
ความเห็นของหน่วยงาน : สำนักงาน กสทช. เสนอขอให้ตัดสำนักงาน กสทช.ออกจากการเป็นหน่วยงานรับผิดชอบตามข้อเสนอแนะเพื่อดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารฯ เนื่องจากภารกิจดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน กสทช. ทั้งนี้ หากเห็นควรคงสำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดนิยามเป้าหมาย/ตัวชี้วัด เกณฑ์การวัดเชิงปริมาณต่อไป นอกจากนี้ ยังเห็นว่าที่ผ่านมาการจัดระเบียบสายสื่อสารมีปัญหาและอุปสรรค เช่น ศักยภาพและกำลังคนไม่เพียงพอ ผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถปฏิบัติงานได้ เนื่องจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ไม่อนุญาตให้ดำเนินการ มติของที่ประชุม : รับข้อเสนอไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
(2) การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ “ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน” หน่วยงานรับผิดชอบ : กษ. [สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board)] มท. (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กทม.) ศธ. (สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน) สธ. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) สำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน |
ความเห็นของหน่วยงาน : กษ. (กรมปศุสัตว์) เห็นด้วยกับมาตรการฯ โดยมีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะฯ เช่น ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลโครงการฯ รายปี มีกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต เช่น มีคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงพื้นที่ระดับจังหวัด จัดชุดทำงานเฉพาะกิจเพื่อตรวจนับนมยูเอชทีที่จะส่งมอบให้กับเด็กนักเรียนในช่วงปิดเทอม เมื่อได้รับข้อมูลความเสี่ยงในการทุจริต จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และนำมาพัฒนาหลักเกณฑ์ในทุกปีการศึกษา ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ควรมีการวิเคราะห์กระบวนงานและการประเมินความเสี่ยงการทุจริตโดยใช้แนวทางการวิเคราะห์ความเสี่ยงการทุจริตที่สำนักงาน ป.ป.ท. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนมาตรการฯ อีกทางหนึ่งด้วย มติของที่ประชุม : รับข้อเสนอไปดำเนินการ |
|
เป้าหมายที่ 3 : การดำเนินคดีทุจริตมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ |
||
- ไม่มีหน่วยงานขอปรับปรุงหรือแก้ไข - |
||
ความเห็น/ข้อเสนอแนะอื่นๆ |
||
ความเห็นของหน่วยงาน : - สคก. เห็นด้วยกับมาตรการฯ เป็นส่วนใหญ่ และมีความเห็นเพิ่มเติมบางส่วน เช่น มาตรการที่กำหนดมีแผนงานจำนวนมากส่งผลต่อการดำเนินการให้สำเร็จตามแผนงานภายในหนึ่งปี การกำหนดแผนงานจึงควรมุ่งเน้นในส่วนที่เป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างของปัญหาการทุจริต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการบูรณาการข้อมูลแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเกิดความรวดเร็วในการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต - สลค. เห็นควรให้สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อลดความซับซ้อนในการดำเนินการ เช่น การกำหนดแนวทางการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงทุจริตให้เป็นมาตรฐานและมีหลักเกณฑ์แบบเดียวกัน รวมถึงเรื่องที่มีลักษณะเดียวกันควรใช้ข้อมูลร่วมกันได้ เช่น การรายงานความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของเจ้าพนักงานของรัฐ การรายงานการรับของขวัญ การรายงานข้อร้องเรียนการทุจริต มติของที่ประชุม : รับข้อเสนอไปดำเนินการ |
2. การปรับปรุงแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมส่วนอื่นๆ ในเอกสารมาตรการฯ เช่น (1) ส่วนที่ 1 ข้อมูลสถานการณ์การทุจริต สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลผลการประเมินค่าคะแนน CPI ให้เป็นปัจจุบัน (ตามที่องค์กรโปร่งใสนานาชาติได้ประกาศไว้ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566) (2) ส่วนที่ 3 การดำเนินงานที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน (3) ส่วนที่ 6 ปัจจัยแห่งความสำเร็จ สคก. เห็นว่าควรมีการพิจารณาอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจในการขับเคลื่อนมาตรการฯ ทั้งนี้ ส่วนที่ 2 ข้อมูลกฎหมาย ระเบียบ และแผนที่เกี่ยวข้อง และส่วนที่ 4 บทวิเคราะห์แนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ ไม่มีหน่วยงานขอปรับหรือแก้ไขเพิ่มเติม
3. ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับค่าคะแนน CPI ประจำปี พ.ศ. 25663 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตหรือการรับรู้การทุจริตของประเทศต่างๆ โดยประเทศไทยได้รับคะแนน 35 คะแนน และอยู่ในลำดับที่ 108 ของโลก พบว่า ข้อมูลสถิติเรื่องร้องเรียนที่ให้มีการแก้ไขเร่งด่วน คือ ปัญหาการเรียกรับสินบน ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ต้องแสวงหาวิธี แนวทาง และมาตรการใหม่ๆ ที่จะสามารถขับเคลื่อนและยกระดับค่าคะแนน CPI ของไทยได้จริง
4. มติของที่ประชุม
4.1 ให้สำนักงาน ป.ป.ช. รับความเห็นของหน่วยงานไปพิจารณาปรับมาตรการฯ ให้สอดคล้องกับความเห็นจากที่ประชุม
4.2 หน่วยงานที่มีการดำเนินการสอดคล้องกับมาตรการฯ ซึ่งบรรจุในแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของหน่วยงานแล้วให้ดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ
4.3 การดำเนินการที่ยังไม่ถูกบรรจุในแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของหน่วยงาน ให้สำนักงาน ป.ป.ท. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. จัดทำแผนขับเคลื่อนการยกระดับค่าคะแนน CPI เพื่อขับเคลื่อนมาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการในระยะต่อไป โดยให้แสวงหาวิธีการ แนวทางและมาตรการใหม่ๆ ที่จะสามารถขับเคลื่อนค่าคะแนน CPI ได้จริง
4.4 การดำเนินการผ่านองค์กรอิสระที่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับขอบเขตของอำนาจและหน้าที่ขององค์กร ให้สำนักงาน ป.ป.ช. หารือร่วมกับองค์กรอิสระเพื่อกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนมาตรการฯ ต่อไป
____________________
1 สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร สถานีตำรวจ และอำเภอ
2 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบแผนปฏิบัติการฯ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ
3 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 รับทราบรายงานผลการวิเคราะห์ดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปี พ.ศ. 2566 (CPI 2023) และรายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับค่าคะแนน CPI ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามที่สำนักงาน ป.ป.ท. เสนอ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 16 กรกฎาคม 2567
7530