WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อรองรับการเกษียณ ผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ

Gov 34

แนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อรองรับการเกษียณ ผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการตามแนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อรองรับการเกษียณผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (โครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ 

          สาระสำคัญ

          1. สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์1 (Completely Aged Society) และในปี 2576 คาดว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด2 (Super – Aged Society) ซึ่งแนวโน้มของผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญและเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณในการดูแลด้านหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุด้วย แม้ว่าปัจจุบันระบบบำนาญและระบบสนับสนุนการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุจะครอบคลุมประชากรวัยทำงานทุกกลุ่มทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ แต่ความท้าทายหลักยังเป็นเรื่องของความไม่ยั่งยืนทางการเงินจากแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และความไม่เพียงพอของรายได้ที่จะได้รับจากระบบการออมต่างๆ ในวัยสูงอายุ3 ดังนั้น เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด โดยเฉพาะการดูแลประชาชนกลุ่มแรงงานนอกระบบ4 ไม่ให้อยู่ในภาวะยากจนในวัยชรา ลดภาวะพึ่งพิงของประชาชน และลดภาระงบประมาณของรัฐในการดูแลผู้สูงอายุ5 รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนากลไกการออมเพื่อรองรับการเกษียณสำหรับแรงงานนอกระบบและสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มแรงงานนอกระบบมีการสะสมเงินออมได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่องในระยะยาวเพื่อใช้จ่ายในวัยสูงอายุ

          2. นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ กค. ศึกษาแนวทางส่งเสริมการออมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพิ่มแรงจูงใจให้กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีการออมให้เกิดความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณ โดยให้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสแรก ประกอบกับพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 มีบทบัญญัติที่ยังไม่ครอบคลุมการส่งเสริมการออมสำหรับแรงงานนอกระบบทั้งหมดจึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเพื่อขยายให้ครอบคลุมผู้ประกันตนมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเป็นกลไกการออมสำหรับแรงงานนอกระบบในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          3. คณะกรรมการ กอช. ในการประชุมวาระพิเศษเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 มีมติเห็นชอบแนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก กอช. เพื่อรองรับการเกษียณแก่ประชาชน รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ผู้สูงอายุและโครงสร้างประชากรในประเทศโดยใช้วิธีดำเนินโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว กอช. จะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายได้เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับหลักการโครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ โดยมีรายละเอียดโครงการสรุปได้ ดังนี้

 

หัวข้อ

รายละเอียด

วัตถุประสงค์

(1) ขยายโอกาสให้ผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.. 2533 มาตรา 40 และกลุ่มแรงงานนอกระบบมีทางเลือกในการออมแบบสมัครใจเพิ่มมากขึ้น

(2) กระตุ้นและเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่ระบบการออมเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณ

(3) ลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางที่อาจจะกลายเป็นคนยากจนในวัยเกษียณอายุ

(4) ลดภาระทางการคลังในระยะยาวสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งสามารถลดการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

ผู้มีสิทธิซื้อสลาก

สมาชิก กอช. ปัจจุบัน6 ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.. 2533 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และแรงงานนอกระบบที่มีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์

เป้าหมายของ

โครงการ

การมีจำนวนสมาชิกประเภท ช.7 ไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน ภายในระยะเวลา 3 ปี (คาดว่าจะมีสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ 0.36 - 21 ล้านคนต่อปี)

รูปแบบการดำเนิน

โครงการ

(1) ออกสลากเริ่มต้นประมาณ 5 ล้านใบต่องวด (ต่อสัปดาห์) หรือ 260 ล้านใบ ต่อปี โดยกำหนดออกรางวัลทุกวันศุกร์ (รวม 52 งวดต่อปี) ในราคาขายใบละ 50 บาท คิดเป็นเงิน 250 ล้านบาทต่องวด หรือ 13,000 ล้านบาทต่อปี

(2) กำหนดรูปแบบสลากเป็นสลากดิจิทัล (สลากขูดดิจิทัล) โดยผู้ซื้อลงทะเบียนการซื้อและซื้อผ่านช่องทางอ่อนไลน์ในลักษณะแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร

ทั้งนี้ จำกัดการซื้อสลากต่อคนได้สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน หรือคนละไม่เกิน 60 ใบต่องวด

(3) จำนวนเงินที่ซื้อสลากจะถูกเก็บเป็นเงินสะสมเฉพาะบุคคล โดยจะได้รับเงินที่ซื้อสลากคืนทั้งหมดในรูปแบบเงินบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ รัฐบาลจะไม่สมทบเงินให้กับผู้ซื้อสลากและไม่รับประกันผลตอบแทนจากการซื้อสลาก

(4) กอช. ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน (ด้านการรับเงินซื้อสลากและเก็บเป็นเงินสะสมให้กับสมาชิกเป็นรายบุคคล) รวมทั้งบริหารจัดการและดูแลข้อมูลสมาชิกประเภท ข. เช่น การจ่ายเงินรางวัล การคืนเงินให้สมาชิกประเภท ข. และการจ่ายเงินให้กับผู้รับผลประโยชน์กรณีสมาชิกประเภท ข. เสียชีวิตก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

(5) คณะอนุกรรมการด้านการลงทุน (แต่งตั้งโดยคณะกรรมการ กอช.) ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารเงินสะสมที่สมาชิกประเภท ช. ซื้อสลาก โดยจะบริหารเงินลงทุนภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง รวมทั้งมุ่งเน้นการลดความผันผวนของมูลค่าเงินลงทุน ทั้งนี้ กอช. จะหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน (Operating fee) ตามมติคณะกรรมการ กอช.

(6) เมื่อสมาชิกประเภท ข. อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ กอช. จะจ่ายเงินบำเหน็จผ่านพร้อมเพย์เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือจ่ายเงินบำเหน็จให้กับผู้รับผลประโยชน์ผ่านพร้อมเพย์เลขบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีสมาชิกประเภท ข. เสียชีวิต

ตัวอย่าง การซื้อสลากทุกเดือน จำนวน 3,000 บาท หรือ 60 ใบต่อเดือน

 

ช่วงอายุ (ปี)

จำนวนปีที่ซื้อสลาก (ปี)

เงินบำเหน็จที่จ่ายคืนเมื่อครบอายุ 60 ปี บริบูรณ์ (ล้านบาท)

15 - 60

45

1.62

20 – 60

40

1.44

25 – 60

35

1.26

30 – 60

30

1.08

35 – 60

25

0.90

40 – 60

20

0.72

45 – 60

15

0.54

50 – 60

10

0.36

55 - 60

5

0.18

 

เงินรางวัล

(1) เงินรางวัลกรณีถูกรางวัลจะได้รับเมื่อประกาศผลตามวันเวลาที่คณะกรรมการ กอช. กำหนด

(2) กำหนดรูปแบบรางวัลต่องวด (1 สัปดาห์) รวมเงินรางวัล 780 ล้านบาทต่อปี ดังนี้

 

ประเภทรางวัล

จำนวน (รางวัล)

จำนวนเงินรางวัล

รวมเงินรางวัล

รางวัลที่ 1

5

1 ล้านบาท

5 ล้านบาท

รางวัลที่ 2

10,000

1,000 บาท

10 ล้านบาท

 

งบประมาณ

(1) โครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ ในปีแรกใช้งบประมาณ 830 ล้านบาท ประกอบด้วย

      (1.1) เงินรางวัลจำนวน 780 ล้านบาทต่อปี

      (1.2) การพัฒนาระบบเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน ระบบ Clearing และระบบงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 20 ล้านบาท

      (1.3) โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบทะเบียนสมาชิก บุคลากร ระบบงานเพิ่มเติม จำนวน 30 ล้านบาท

(2) ขอรับการสนับสนุนเงินรางวัลจากรัฐบาล งวดละ 15 ล้านบาท รวม 780 ล้านบาทต่อปี

(คิดเป็นร้อยละ 6 ของเงินซื้อสลากที่สะสมเข้ากองทุนประมาณปีละ 13,000 ล้านบาท) หรือในจำนวนที่มีความเหมาะสมกับปริมาณการออกสลาก และความต้องการของสมาชิกเป้าหมาย

 

         ทั้งนี้ แนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกเพื่อรองรับการเกษียณ ผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ ดังกล่าว เป็นแนวทางเบื้องต้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

          4. กอช. พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ จะช่วยให้แรงงานทั้งในและนอกระบบเข้าเป็นสมาชิกมากขึ้น และมีเงินจำนวนหนึ่งไว้ใช้ยามเกษียณอายุเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลที่สูญเปล่าเมื่อไม่ถูกรางวัล รวมทั้งสามารถช่วยลดภาระทางการคลังของรัฐบาลได้ในระยะยาวและยั่งยืน โดยเฉพาะในการดูแลด้านหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า (เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ) ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวจะเป็นกลไกที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงานเข้าสู่ระบบการออมเงินอันเป็นการเพิ่มทางเลือกในการออมเงินเพื่อรองรับการเกษียณ และเมื่อประชาชนกลุ่มนี้เกษียณอายุหรือพ้นวัยทำงานแล้วจะมีแหล่งเงินรายได้เพิ่มเติมที่จะสามารถนำไปใช้จ่ายในการดำรงชีพได้นอกเหนือจากช่องทางการออมเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ กอช. จะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินโครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ ได้ เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ในส่วนที่เกี่ยวข้องเสียก่อน อาทิ การจำแนกคำนิยาม ประเภทสมาชิก กอช. แบบปัจจุบันและแบบซื้อสลากสะสมทรัพย์ การกำหนดวัตถุประสงค์ของ กอช. ในการส่งเสริมการออมโดยการขายสลากสะสมทรัพย์เพื่อจูงใจให้มีการซื้อสลากเพื่อเป็นการสะสมเงินอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นต้น

___________________________

1 สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ เป็นสังคมที่ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ณ เดือนธันวาคม 2566 พบว่าไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 13.06 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20.17 ของประชากรรวมทั้งประเทศ และมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 8.90 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของประชากรรวมทั้งประเทศ

2สังคมสูงอายุระดับสุดยอด เป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ

3 ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศรายได้ปานกลาง อีกทั้งการออมเงินและการออมในรูปแบบต่างๆ ของประเทศในภาพรวมยังอยู่ระดับต่ำ โดยผลการสำรวจทักษะการเงินของไทยปี 2565 ของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าสัดส่วนของคนไทยที่มีการวางแผนและเริ่มการออมเพื่อการเกษียณอายุมีแนวโน้มลดลงจากปี 2563 ที่ร้อยละ 66.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 61.1 โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่พบว่าร้อยละ 53.5 ยังไม่ได้คิดหรือวางแผนการออมเพื่อการเกษียณ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมในการเกษียณซึ่งสะท้อนผ่านผู้ที่มีการวางแผนการออมเพื่อการเกษียณและทำได้ตามแผนที่วางไว้นั้น พบว่ามีเพียงร้อยละ 15.7 โดย Gen Baby Boomer ขึ้นไปมีสัดส่วนผู้ที่มีความพร้อมในการเกษียณสูงที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น แต่ก็มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 21.8 เท่านั้น

4 ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2566 พบว่า ภาพรวมสถานการณ์แรงงานนอกระบบมีจำนวน 21 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวเป็นสมาชิกผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 39 จำนวน 1.78 ล้านคน (ร้อยละ 8.48) มาตรา 40 จำนวน 10.47 ล้านคน (ร้อยละ 52.24) และเป็นสมาชิก กอช. 2.60 ล้านคน (ร้อยละ 12.38) ในขณะที่อีก 5.65 ล้านคน (ร้อยละ 26.90) ยังไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมและสมาชิก กอช.

5 ภาระด้านงบประมาณของรัฐในการจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นแบบขั้นบันไดตามอายุ คือ ผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 60 – 69 ปี ได้รับ 600 บาทต่อเดือน อายุ 70 – 79 ปี ได้รับ 700 บาทต่อเดือน อายุ 80 - 89 ปี ได้รับ 800 บาทต่อเดือน และอายุตั้งแต่ 90 ปีขึ้นไปได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจำนวนมากกว่า 87,600 ล้านบาท และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 93,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2566 จำนวน 5,400 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.16)

6 ปัจจุบัน กอช. มีสมาชิกสะสม ณ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 จำนวน 2.616 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ยังอยู่ในวัยทำงานแต่เป็นแรงงานนอกระบบหรือประกอบอาชีพอิสระ และยังไม่เข้าสู่ระบบการออมเงินเพื่อการเกษียณ

7 ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และระเบียบประกันสังคมว่าด้วยการรับสมัครและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พ.ศ. 2561 สามารถจำแนกสมาชิกและสิทธิประโยชน์ของสมาชิกได้ 2 ประเภท ดังนี้ (1) สมาชิกประเภท ก. คือ สมาชิกปัจจุบันของ กอช. ซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 บริบูรณ์ และเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 (ไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ) สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญ (ข้าราชการ ข้าราชการ กรุงเทพมหานคร และข้าราชการส่วนท้องถิ่น) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือเป็นสมาชิกกองทุนหรืออยู่ในระบบบำนาญอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงที่รัฐบาลจ่ายเงินสมทบ และ (2) สมาชิกประเภท ข. คือ บุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 (ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ) หรือเป็นบุคคลอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวง โดยรัฐบาลไม่จ่ายเงินสมทบ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 16 กรกฎาคม 2567

 

 

7525

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!