ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 July 2024 03:47
- Hits: 8395
ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างประกาศ
1. มท. โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 (ผังเดิมสิ้นสุดการใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552) โดยมีสาระสำคัญเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการดำรงเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2. ในการประชุมคณะกรรมการผังเมือง ครั้งที่ 9/2561 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และนำไปปิดประกาศเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียแสดงข้อคิดเห็น ปรากฏว่ามีผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องจำนวน 13 เรื่อง และได้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการผังเมือง ครั้งที่ 10/2562 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เพื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าว ซึ่งมีมติให้ตามคำร้องด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวน 2 เรื่อง ด้านข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวน 1 เรื่อง และให้ตามคำร้องบางส่วนด้านข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจำนวน 1 เรื่อง
3. ต่อมาได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ทั้งฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรูปแบบการประกาศใช้บังคับกฎหมายเกี่ยวกับผังเมืองรวมที่องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำให้ประกาศเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น จากเดิมที่ต้องประกาศเป็นกฎกระทรวง และกรณีตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 มาตรา 1101 ที่ประชุมคณะกรรมการ ผังเมือง ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ได้มีมติให้ผังเมืองรวมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้วางและจัดทำ ซึ่งคณะกรรมการผังเมือง (ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย ให้ดำเนินการออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยเพื่อใช้บังคับต่อไป
4. มท. โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ. .... ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติว่า “เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 29 แล้ว ไม่มีผู้มีส่วนได้เสียผู้ใดยื่นคำร้องตามมาตรา 30 หรือมีแต่คณะกรรมการผังเมืองสั่งยกคำร้องดังกล่าวหรือเมื่อกรมโยธาธิการและผังเมืองไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองหรือ เจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี โดยไม่ชักช้า ในการนี้ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองนำประกาศกระทรวงมหาดไทยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยตรงเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน” ทั้งนี้ ในกระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะได้จัดทำเป็นร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผังเมือง ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว
5. มท. โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
5.1 กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ให้ท้องที่ตำบลบางนาสี ตำบลตะกั่วป่า ตำบลโคกเคียน ตำบลบางม่วง ตำบลบางไทร และตำบลตำตัว อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้
5.1.1 อนุรักษ์เมืองตะกั่วป่าซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม
5.1.2 ส่งเสริมและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติ
5.1.3 ส่งเสริมและพัฒนาให้ชุมชนเมืองเป็นศูนย์กลางการบริหาร การปกครอง การศึกษา การคมนาคมและการขนส่งของอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
5.1.4 ส่งเสริมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรมและการบริหารให้สัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจของชุมชน
5.1.5 ส่งเสริมและพัฒนาการบริการทางสังคม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน
5.1.6 อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5.2 กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 11 ประเภท ดังนี้
ประเภท |
วัตถุประสงค์ |
|
1. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) |
- เป็นพื้นที่รอบนอกชุมชนเมืองต่อจากพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยเบาบาง กำหนดให้ก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยได้ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว และให้สร้างอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารชุด โดยมีข้อจำกัดเรื่องขนาดของอาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่และกำหนดความสูงของอาคารไม่เกิน 15 เมตร |
|
2. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) |
- เป็นพื้นที่บริเวณชุมชนต่อเนื่องกับพื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางในการรับรองการอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกับย่านพาณิชยกรรม โดยกำหนดให้สามารถสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว โดยมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดอาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ |
|
3. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) |
- เป็นพื้นที่ศูนย์กลางด้านพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางพาณิชย กรรมและการบริการชุมชนเพื่อรองรับการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจ การค้า การบริการที่ให้บริการแก่ประชาชน เช่น ตลาด ร้านค้า โรงแรม รวมทั้งกำหนดให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากเพื่อรองรับการประกอบกิจการดังกล่าวและการอยู่อาศัยในเขตชุมชน กำหนดไว้เป็น 2 ย่าน คือ ย่านรองรับการพัฒนาชุมชนโดยทั่วไป และย่านเมืองเก่าตะกั่วป่าที่คำนึงถึงมรดกทางวัฒนธรรม |
|
4. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) |
- เป็นพื้นที่กันชนระหว่างย่านที่อยู่อาศัยเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป และรองรับชุมชนในอนาคต มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่เพื่อเกษตรกรรม เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ |
|
5. ที่ดินประเภทปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สีเขียวมีกรอบและเส้นทแยงสีน้ำตาล) |
- เป็นพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ส่วนที่ดินของเอกชน กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การอยู่อาศัย หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น ซึ่งมีข้อจำกัดให้ดำเนินการหรือประกอบกิจการใดๆ ได้ในอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร |
|
6. ที่ดินประเภทอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว (สีเขียวมีกรอบและเส้นทแยงสีขาว) |
- เป็นพื้นที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การอยู่อาศัย การท่องเที่ยวเฉพาะ การบริการด้านที่พักประเภทโรงแรมและบังกะโล เกษตรกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีข้อจำกัดและเงื่อนไขในการใช้ประโยชน์ที่ดินจากแนวชายฝั่งทะเลในระยะ 75 เมตร กำหนดให้ประกอบกิจการได้ในอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 7 เมตร และในระยะเกิน 75 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเลกำหนดให้ประกอบกิจการได้ในอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร รวมทั้งการอยู่อาศัยและการท่องเที่ยวเฉพาะการบริการด้านที่พักประเภทโรงแรมและบังกะโล ในระยะ 225 เมตรจากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาต และในระยะเกิน 225 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาต |
|
7. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน) |
- เป็นที่ดินพื้นที่โล่งซึ่งเป็นที่ดินของรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนไว้เป็นที่โล่งสำหรับนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสาธารณประโยชน์ กรณีที่ดินของเอกชน กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อนันทนาการหรือเกี่ยวข้องกับนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การอยู่อาศัย เกษตรกรรม โดยมีข้อจำกัดเรื่องความสูงและขนาดของอาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ |
|
8. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว) |
- มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการสงวนและคุ้มครองดูแลรักษา หรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำ ลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติ อื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี และกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำหรับที่ดินซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การอยู่อาศัย ประเภทบ้านเดี่ยว หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น |
|
9. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน เช่น โรงเรียนเทศบาลบ้านย่านยาว โรงเรียนบ้านบางม่วง |
|
10. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่สถาบันศาสนาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินปัจจุบัน เช่น วัดย่านยาว วัดคงคาภิมุข |
|
11. ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถาบันราชการ การดำเนินกิจการของรัฐที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หรือสาธารณประโยชน์ เช่น เรือนจำอำเภอตะกั่วป่า ศาลจังหวัดตะกั่วป่า |
5.3 กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ที่ดินประเภทพาณิชย กรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท
5.4 กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณแนวถนนสาย ก 1 ถนนสาย ก 2 ถนนสาย ก 3 ถนนสาย ก 4 ถนนสาย ก 5 ถนนสาย ก 6 ถนนสาย ก 7 ถนนสาย ก 8 ถนนสาย ก 9 ถนนสาย ก 10 ถนนสาย ก 11 ถนนสาย ก 12 ถนนสาย ก 13 ถนนสาย ก 14 ถนนสาย ก 15 ถนนสาย ก 16 ถนนสาย ข 1 ถนนสาย ข 2 ถนนสาย ข 3 ถนนสาย ข 4 ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้
5.4.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภคและ สาธารณูปการ
5.4.2 การสร้างรั้วหรือกำแพง
5.4.3 เกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร หรือไม่ใช่อาคารใหญ่
_________________________________
1มาตรา 110 บัญญัติว่า บรรดาผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะที่อยู่ระหว่างดำเนินการวางและจัดทำตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การดำเนินการต่อไปสำหรับการนั้นให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนดโดยไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567
7313