ร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการออกใบรับรองและอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 July 2024 03:31
- Hits: 8425
ร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการออกใบรับรองและอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการออกใบรับรองและอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้รับความเห็นของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังไปประกอบการตรวจร่างฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอเป็นการดำเนินการตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ที่จะขายในราชอาณาจักรต้องแจ้งรายการส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งเป็นการกำหนดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการห้ามใช้สารปรุงแต่ง เนื่องจากปัจจุบันการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบมีการเติมสารปรุงแต่งหลายชนิด ก่อให้เกิดสารเสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบเพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องควบคุมและตรวจสอบส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เป็นอันตราย เช่น สารชูรส สารชูกำลัง กัญชาหรือสารที่ทำให้เกิดสีอันอาจจูงใจหรือดึงดูดให้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมถึงกำหนดปริมาณสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ (เดิมไม่ได้กำหนดปริมาณ) ได้แก่ ทาร์ ต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อมวน นิโคติน ต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อมวน และคาร์บอนมอนอกไซด์ ต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อมวน และกำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการตรวจสอบส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ดังกล่าว รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันเกิดจากประกาศห้ามขายหรือห้ามนำเข้า และค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการทำลายผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวเนื่อง (กำหนดขึ้นใหม่) รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้ง การออกใบรับรอง และการออกใบแทนใบรับรอง และกำหนดให้ใบรับรองมีอายุ 3 ปี ตลอดจนกำหนดค่าธรรมเนียมใบรับรองอัตราฉบับละ 100,000 บาท และใบแทนใบรับรองอัตราฉบับละ 2,000 บาท (กำหนดขึ้นใหม่ เดิมกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้) ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่เกินตามที่กำหนดไว้ท้ายพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เปิดเผยข้อมูล ส่วนประกอบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของผลิตภัณฑ์ยาสูบในกรณีที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยหรือความปลอดภัยของสาธารณชน (กำหนดขึ้นใหม่) ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการควบคุม ตรวจสอบ และเปิดเผยรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ อันเป็นการคุ้มครองสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของประชาชน และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้กำหนดระยะเวลามีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา อีกทั้งกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับสำหรับยกเว้นการปฏิบัติเรื่องการควบคุมสารที่ใช้ในการปรุงแต่ง และสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ปรับตัวเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย
ร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการออกใบรับรองและอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
1. ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ |
- กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ ต้องไม่มีสารที่ใช้ในการปรุงแต่งในส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและปริมาณสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ดังนี้ 1. ต้องไม่มีสารที่ใช้ในการปรุงแต่ง ดังต่อไปนี้ 1.1 สารชูรส สารแต่งกลิ่นผัก ผลไม้ สมุนไพร เครื่องเทศ ขิง อบเชย พืชตระกูลมินต์ (Mint) เบนซาลดีไฮด์ (Benzaldehyde) มอลทอล (Maltol) วานิลลิน (Vanillin) กานพลู หรือสารอื่นใดที่ทำให้เกิดรสชาติหรือกลิ่นของกานพลูหรือสารอื่นใดที่ทำให้เกิดรสชาติหรือกลิ่นอันอาจจูงใจหรือดึงดูดให้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรืออาจทำให้การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบง่ายขึ้น ยกเว้นเมนทอลและชะเอม 1.2 สารที่ทำให้เกิดสีอันอาจจูงใจหรือดึงดูดให้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในผลิตภัณฑ์ยาสูบ ควันหรือไอระเหยที่เกิดจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ ยกเว้นสารที่ทำให้เกิดสีของมวนบุหรี่ซึ่งเป็นการดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ 1.3 ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการแปรรูปผักหรือผลไม้ วิตามิน กรดอะมิโน กรดไขมันจำเป็น สารอาหารเกลือแร่ สารเพิ่มภูมิต้านทาน สารลดอนุมูลอิสระ หรือสารอื่นใดที่ทำให้เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบมีประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือลดอันตรายต่อสุขภาพ ยกเว้นโกโก้ที่จำเป็นต้องใช้ปรับปรุงคุณภาพใบยาสูบโดยไม่ก่อให้เกิดรสหรือกลิ่นที่เด่นชัดกว่ารสชาติหรือกลิ่นตามธรรมชาติของใบยาสูบ 1.4 สารชูกำลัง กาเฟอีน กัวรานา ทอรีน กลูคูโรโนแลคโทน หรือสารอื่นใดที่ทำให้เข้าใจว่าเพิ่มพลังงานและความมีชีวิตชีวา 1.5 กัญชา กัญชง สารสกัดแคนนาบิไดออล หรือสารสกัดเตตราไฮโดรแคนนาบินอล 2. ต้องมีสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบไม่เกินปริมาณ ดังต่อไปนี้ 2.1 ทาร์ (Tar) ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อมวน 2.2 นิโคติน (Nicotine) ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อมวน 2.3 คาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อมวน |
|
2. การแจ้ง การออกใบรับรอง อายุใบรับรอง และการออกใบแทนใบรับรอง |
- กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบต้องแจ้งรายการส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบเพื่อขอใบรับรอง ก่อนนำผลิตภัณฑ์ยาสูบออกจากแหล่งผลิตภายในราชอาณาจักรหรือก่อนนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยต้องแนบผลการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่กำหนด พร้อมด้วยข้อมูลเอกสาร และหลักฐาน อาทิ เลขทะเบียนนิติบุคคล ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยาสูบ ใบแสดงรายการส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่ใช้ในการปรุงแต่ง - กำหนดให้การยื่นคำขอ การออกใบรับรอง การแก้ไขเปลี่ยนแปลงใบรับรองและการออกใบแทนใบรับรอง ดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก - เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอแล้วให้ตรวจสอบรายละเอียดในคำขอ ข้อมูล เอกสารและหลักฐานว่ามีความถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ หากไม่ถูกต้องให้แจ้งผู้แจ้งให้แก้ไขภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ หากผู้แจ้งไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องและครบถ้วน ให้คืนคำขอ เอกสาร และหลักฐาน พร้อมทั้งแจ้งเหตุแห่งการคืนคำขอเป็นหนังสือให้ทราบด้วย ในกรณีที่คำขอถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ให้นายทะเบียน (ปลัด สธ. หรือผู้ซึ่งปลัด สธ. มอบหมาย) พิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน - กำหนดให้ใบรับรอง มีอายุ 3 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนออกให้ กรณีต้นฉบับใบรับรอง ชำรุด สูญหาย หรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ยื่นคำขอรับใบแทนใบรับรอง ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงเหตุดังกล่าว และให้ใบแทนใบรับรองมีอายุเท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามต้นฉบับใบรับรอง |
|
3. การตรวจสอบ การเก็บรักษาข้อมูล และการเปิดเผยต่อสาธารณชน |
กำหนดให้กรมควบคุมโรค มีหน้าที่ในการเก็บรักษาข้อมูลการแจ้งไว้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบมาตรฐานส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ และเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของประชาชน โดยไม่ต้องส่งคืนแก่ผู้แจ้ง และกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลการแจ้งต่อสาธารณชนได้ ในกรณีที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยหรือความปลอดภัยของสาธารณชน |
|
4. ค่าใช้จ่าย และอัตราค่าธรรมเนียม |
- กำหนดค่าใช้จ่ายที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายจากการตรวจวิเคราะห์ส่วนประกอบฯ ค่าใช้จ่ายอันเกิดขึ้นจากการตรวจสอบที่อาจมีขึ้นในขั้นตอนการออกใบรับรองและภายหลังการออกใบรับรอง ค่าใช้จ่ายอันเกิดขึ้นจากการประกาศห้ามขายหรือห้ามนำเข้า หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินการดังกล่าว และค่าใช้จ่ายอันเกิดขึ้นจากการทำลายผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินการดังกล่าว - กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ดังนี้ (1) ใบรับรอง ฉบับละ 100,000 บาท (2) ใบแทนใบรับรอง ฉบับละ 2,000 บาท |
|
5. บทเฉพาะกาล |
- กำหนดให้การแจ้งรายการส่วนประกอบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ได้แจ้งไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ให้ถือว่าเป็นการแจ้งตามกฎกระทรวงนี้ และให้ใช้ได้ต่อไป 3 ปีนับแต่วันที่ออกใบรับรองตามกฎกระทรวงดังกล่าว - กำหนดภายในระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ยกเว้นการควบคุมสารที่ใช้ในการปรุงแต่ง และการควบคุมปริมาณสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ |
|
6. วันที่มีผลใช้บังคับ |
เมื่อพ้น 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567
7308