รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2567 และแนวโน้มไตรมาสที่ 2/2567 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 July 2024 02:46
- Hits: 8310
รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2567 และแนวโน้มไตรมาสที่ 2/2567 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2567
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2567 และแนวโน้มไตรมาสที่ 2/2567 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2567 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอดังนี้
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีค่าอยู่ที่ 100.93 ลดลงร้อยละ 3.58 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเป็นการปรับตัวลดลงเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน ตามการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก โดยการผลิตเพื่อส่งออกยังคงชะลอตัว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีการปรับตัวลดลงในสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรม หลังจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลง และรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นน้อย สวนทางกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญที่ชะลอตัวในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 อาทิ ยานยนต์จากสินค้ารถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก จากกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนตัวลง หนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูง สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อกระทบต่อการออกรถยนต์ใหม่ ประกอบกับผู้บริโภคบางส่วนหันไปซื้อรถยนต์มือสองที่มีราคาถูกกว่า ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการบริโภคและการลงทุน ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชะลอตัว และ น้ำมันปาล์ม จากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ สาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งยาวนาน ส่งผลให้ปริมาณผลปาล์มออกสู่ตลาดน้อยลง สำหรับ อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปีโตรเลียม จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ทิศทางการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินทางมีมากขึ้น ปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจนเป็นการผลิตเพื่อรองรับการเพาะปลูกในช่วงถัดไป ประกอบกับสามารถนำเข้าแม่ปุ๋ยได้เพิ่มขึ้นซึ่งในช่วงเดียวกันของปีก่อนเกิดปัญหาขาดแคลนแม่ปุ๋ยและมีราคาแพง และ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่ และน้ำดื่มบรรจุขวดประเภทอื่นๆ เพิ่มขึ้นจากสินค้าเกือบทุกรายการ ยกเว้นเครื่องดื่มกาแฟสำเร็จรูปจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2567 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่ที่ระดับ 90.34 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากฐานของปีก่อนต่ำ เนื่องจากเดือนเมษายน ปี 2566 ค่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมค่อนข้างต่ำ (MPI เดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ 87.35) และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม และการกลั่นน้ำมัน เป็นต้น
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนเมษายน 2567 ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
1. เครื่องปรับอากาศ ขยายตัวร้อยละ 24.19 ตามความต้องการบริโภคมากขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดและผู้ผลิตพัฒนาสินค้าตรงตามความต้องการของผู้บริโภค อาทิ กรอง PM 2.5 โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศ (+18.64%) และตลาดส่งออก (+15.54%) ไปสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง
2. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 4.78 จากน้ำมันเครื่องบิน ก๊าซหุงต้ม และแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นหลัก โดยน้ำมันเครื่องบินและแก๊สโซฮอล์ 91 ขยายตัวตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คึกคักกว่าปีก่อน ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาเพิ่มขึ้น
3. อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 18.11 จากอาหารสัตว์เลี้ยง อาหารไก่ และอาหารสุกร เป็นหลัก โดยอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวจากตลาดส่งออก (+36.25%) ตามความนิยมในการเลี้ยงสุนัขและแมว เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดยุโรปเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาหารไก่และอาหารสุกร ก็เพิ่มขึ้นตามปริมาณการเลี้ยงของเกษตรกร
อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในเดือนเมษายน 2567 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
1. ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 17.16 จาก Integrated Circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก
2. ยานยนต์ หดตัวร้อยละ 6.82 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง อีกทั้งสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยหดตัวทั้งตลาดในประเทศ (-27.97%) และตลาดส่งออก (-6.81%)
3. ปูนซีเมนต์ หดตัวร้อยละ 7.39 จากพื้นสำเร็จรูป และเสาเข็มคอนกรีต เป็นหลักตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์
แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 2/2567
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์การผลิตจะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการสั่งซื้อเพื่อดูทิศทางราคา และอาจส่งผลต่อความต้องการใช้เหล็ก อย่างไรก็ตาม การเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างต่างๆ ของภาครัฐที่คาดว่าจะกลับมาดำเนินการได้ตามการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าดัชนีผลผลิตจะหดตัวประมาณร้อยละ 9.06 เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า เช่น จีน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในขณะที่มูลค่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องประมาณร้อยละ 7.57 จากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การผลิตชิปขั้นสูง และการพัฒนาเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน รวมทั้ง การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำของอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ
อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง คาดการณ์ได้ว่า ปริมาณการผลิตยางแปรรูป ขั้นปฐม (ยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ยางรถยนต์ และถุงมือยาง จะขยายตัว ทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ โดยยางแปรรูปขั้นปฐมและถุงมือยางจะขยายตัวจากความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ยางรถยนต์จะขยายตัวจากความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นหลักโดยเฉพาะในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้
อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงสงกรานต์ ในส่วนของภาคการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว จากความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้า เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567
7298