(ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2567-2570)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 July 2024 02:41
- Hits: 8494
(ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2567-2570)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2567-2570) (ร่างยุทธศาสตร์ฯ) และมอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานต่อไปตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ก.พ.ร. รายงานว่า
1. ภายหลังจากที่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2556-2561) สิ้นสุดลง สำนักงาน ก.พ.ร. ไม่ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ในช่วงปี 2562-2563 เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) และได้มีการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2565) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดในแต่ละช่วงเวลา โดยมีแผนแม่บทซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาระบบราชการในแผนแม่บทประเด็นที่ 20 การบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ นอกจากนี้ ได้มีการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ โดยมีแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงเห็นว่า แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศดังกล่าวมีแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการในภาพรวมสำหรับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐแล้ว จึงไม่ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ในช่วงปี 2562-2563
2. ต่อมาสำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2564-2565) โดยเห็นว่า ควรมีการรวบรวมกรอบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการไว้ในที่เดียวกัน ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีหมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาระบบราชการ ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ฯ (พ.ศ. 2564-2565) เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเห็นเป้าหมายในภาพรวมของการพัฒนาระบบราชการ และกำหนดจุดมุ่งเน้นในการดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเป็นการเตรียมการรองรับการพัฒนาระบบราชการในระยะต่อไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วย อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ เป็นการถ่ายทอดมาจากแผนแม่บทประเด็นที่ 20 การบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สำนักงาน ก.พ.ร. จึงไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยได้เสนอ ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และ ก.พ.ร. มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2564-2565) และให้สำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งเวียนเพื่อเป็นแนวทางให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อไป
3. เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของยุทธศาสตร์ฯ (พ.ศ. 2564-2565) สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ (พ.ศ. 2567-2570)1 โดยมีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ แผนแม่บทประเด็นที่ 20 การบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) (ในประเด็นยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ การเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง รวมทั้งการพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ตลอดจนเตรียมพร้อมรองรับภัยคุกคามและวิกฤตการณ์ระดับชาติ) โดยมีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาระบบราชการของประเทศที่มีขีดสมรรถนะด้านประสิทธิภาพภาครัฐสูง ประเด็นปัญหาและความท้าทาย รวมถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์ฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
3.1 วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และตัวชี้วัดภาพรวมและค่าเป้าหมาย สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
วิสัยทัศน์ |
ภาครัฐที่ทันสมัย น่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน |
เป้าหมาย |
รัฐที่ล้ำหน้า (Digital & Innovative Government) และรัฐที่เปิดกว้าง (Open Government) โดยมุ่งพัฒนาภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีความทันสมัย สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาการทำงานและการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรัฐบาลเปิดที่เชื่อมต่อการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น รวมทั้งปรับบทบาทภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน ที่ปลดล็อกข้อจำกัดของประชาชนทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพหรือประกอบธุรกิจ การดึงดูดการลงทุน การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันและการเข้าถึงทางธุรกิจ อันจะนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์ที่ดีต่อประชาชน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และส่งผลให้เกิดความเชื่อถือไว้วางใจของประชาชนต่อภาครัฐ |
ตัวชี้วัดภาพรวมและ ค่าเป้าหมาย |
- ความพึงพอใจในคุณภาพการให้บริการของภาครัฐ2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 - ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI)3 ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก และมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 0.82 (คะแนนเต็ม 1) - อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (IMD Competitiveness Ranking) ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Effectiveness) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 204 |
3.2 ยุทธศาสตร์ (เพื่อขับเคลื่อนไปสู่วิสัยทัศน์และเป้าหมายตามข้อ 3.1) จำนวน 3 ยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัดรายยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ แนวทางการขับเคลื่อนตัวอย่างโครงการสำคัญ (Flagship Project)5 และหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับบริการภาครัฐโดยยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง |
||
เป้าหมาย : ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก ประหยัด ตอบโจทย์ มีทางเลือกในการรับบริการที่หลากหลาย ทั่วถึง และครอบคลุมความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม ในขณะที่ภาครัฐสามารถส่งมอบบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
||
ตัวชี้วัด : (1) ความสำเร็จในการลดบทบาทการให้บริการของภาครัฐโดยการถ่ายโอนภารกิจให้ภาคส่วนอื่นดำเนินการแทนหรือร่วมดำเนินการกับภาครัฐ (ความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนร้อยละ 100) (2) ดัชนีการให้บริการภาครัฐออนไลน์ (Online Service Index: OSI) ตามผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของสหประชาชาติ ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก และมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 0.82 (3) จำนวนงานบริการภาครัฐปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ (Fully Digital) (ตั้งแต่การยื่นคำขอบริการ การชำระค่าธรรมเนียม และการรับเอกสารหรือใบอนุญาตที่ทางราชการออกให้) จำนวน 1,452 กระบวนงาน (จาก 2,420 กระบวนงาน ที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัลได้ตามคู่มือมาตรฐานกลาง)6 (4) ร้อยละของการใช้บริการภาครัฐผ่านแพลตฟอร์มกลางบริการภาครัฐ (Biz Portal และ Citizen Portal)7 เทียบกับการใช้บริการภาครัฐผ่านช่องทางอื่นๆ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 35 ภายในปี 2570 |
||
กลยุทธ์ |
|
แนวทางการขับเคลื่อน |
1. ลดบทบาทการให้บริการของภาครัฐและเปิดให้ภาคส่วนอื่นร่วมให้บริการหรือให้บริการแทนภาครัฐ |
|
1.1 ยกเลิกภารกิจการให้บริการสาธารณะที่ภาคส่วนอื่นทำได้ดีกว่าภาครัฐและส่งเสริมบทบาทภาคส่วนอื่นแทน 1.2 ปรับระเบียบจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ภาคส่วนอื่นสามารถเข้ามาให้บริการแทนภาครัฐหรือให้บริการร่วมกับภาครัฐได้ |
2. ยกระดับงานบริการที่ภาครัฐยังต้องดำเนินการเองเป็นดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จในลักษณะ End to End Service8 และตอบสนองประชาชนเชิงรุก |
|
2.1 ปรับปรุงกระบวนการบริการเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการแต่ละกลุ่ม 2.2 พัฒนาบริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to End Service) ในการประกอบธุรกิจและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับในแต่ละช่วงชีวิตผ่านระบบดิจิทัล 2.3 ยกระดับการให้บริการที่ตอบสนองประชาชนเชิงรุก - แจ้งสิทธิการได้รับบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานให้ประชาชนทราบและบริการประชาชนโดยไม่ต้องติดต่อขอรับบริการจากภาครัฐด้วยตนเอง เช่น สิทธิการได้รับเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สิทธิการได้รับการรักษาพยาบาล สิทธิการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ - ปรับระบบการอนุมัติ อนุญาตต่างๆ เป็นระบบใบอนุญาตหลัก (Super License) ที่ผู้รับบริการสามารถขออนุญาตประกอบธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรได้ใน 1 ใบอนุญาต |
3. ปรับบริการภาครัฐรายหน่วยงานเข้าสู่แพลตฟอร์มกลางของงานบริการภาครัฐและเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน |
|
3.1 ยกระดับแพลตฟอร์มกลางภาครัฐที่สามารถปรับแต่งให้เหมาะสมกับลักษณะงานบริการที่แตกต่างกัน 3.2 เชื่อมโยงงานบริการของทุกหน่วยงานกับแพลตฟอร์มกลางภาครัฐ โดยต้องมีการเชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลในการให้บริการประชาชนระหว่างหน่วยงาน 3.3 ส่งเสริมการใช้ประโยชน์สูงสุดจากแพลตฟอร์มกลางของงานบริการภาครัฐ เช่น งานบริการที่มีขั้นตอน/กระบวนการเหมือนกันทั้งในส่วนกลาง จังหวัดและท้องถิ่น และสามารถให้บริการผ่านระบบเทคโนโลยีได้ อาจให้บริการโดยตรงสู่ประชาชนผ่านแพลตฟอร์มกลาง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านจังหวัด ท้องถิ่นหรือตัวกลางอื่นๆ |
ตัวอย่างโครงการสำคัญ : 1) โครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลกลางแห่งชาติ ซึ่งเป็นการบูรณาการหรือเชื่อมโยงช่องทางการยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการออนไลน์ของทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ [โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) (กรมการปกครอง) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า] 2) โครงการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและการลงทุน โดยเป็นการศึกษาและขับเคลื่อนการเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทยตามแนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) ของธนาคารโลก (โดยสำนักงาน ก.พ.ร. และส่วนราชการที่มีงานบริการภาคธุรกิจ) และ 3) โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการกลางภาครัฐ โดยพัฒนาเป็นช่องทางหลักให้ผู้รับบริการเข้าถึงทุกงานบริการของรัฐได้ภายในช่องทางเดียวอย่างครบวงจร (โดย สพร. สำนักงาน ก.พ. และส่วนราชการที่มีงานบริการประชาชน) |
||
หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงการคลัง (กค.) พณ. มท. สำนักงาน ก.พ.ร. สพร. สพธอ. หน่วยงานที่มีงานบริการประชาชน และหน่วยงานที่มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต |
||
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ลดบทบาทภาครัฐและเปิดการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนอื่น |
||
เป้าหมาย : ภาครัฐมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาท ภารกิจ ลดบทบาทภาครัฐส่วนกลาง กระจายอำนาจการบริหารในระดับพื้นที่ และเชื่อมต่อการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นอันจะนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์ที่ดีต่อประชาชน |
||
ตัวชี้วัด : (1) ความสำเร็จในการปรับปรุงโครงสร้างภาครัฐให้เหมาะสม สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต (ความสำเร็จของการดำเนินการตามแผน ร้อยละ 100) (2) ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Participation Index: EPI) ตามผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของสหประชาชาติ มีคะแนนไม่ต่ำกว่า 0.82 |
||
กลยุทธ์ |
|
แนวทางการขับเคลื่อน |
1. กระจายอำนาจและลดบทบาทภาครัฐส่วนกลาง |
|
1.1 แบ่งอำนาจ มอบอำนาจ และถ่ายโอนอำนาจจากภาครัฐส่วนกลางลงไปในระดับพื้นที่ ตลอดจนปรับโครงสร้างภาครัฐให้มีขนาดที่เหมาะสม โดยการถ่ายโอนภารกิจที่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องดำเนินการเองให้ภาคส่วนอื่นที่มีศักยภาพดำเนินการแทนหรือดำเนินการร่วมกับภาครัฐ และการยุบรวม/ยุบเลิก หรือปรับบทบาทหรือภารกิจภาครัฐที่หมดความจำเป็นหรือไม่คุ้มค่าในการดำเนินการ รวมทั้งควบคุมอัตรากำลังของบุคลากรภาครัฐให้สมดุลกับบทบาทภารกิจ 1.2 เสริสร้างศักยภาพของจังหวัดและท้องถิ่นให้พร้อมรับการถ่ายโอนอำนาจ/ภารกิจจากภาครัฐส่วนกลาง 1.3 ยกระดับบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ว่า CEO) ให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ได้ตามเป้าหมายนโยบายสำคัญของรัฐบาล เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจน การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี 1.4 ปลดล็อกกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้จังหวัดและท้องถิ่นสามารถบริหารทรัพยากร/แก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีศักยภาพดำเนินการเองได้ |
2. เปิดการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน |
|
2.1 เปิดข้อมูลภาครัฐ (Open Data) ให้ภาคส่วนอื่นเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้รวมถึงเพื่อเป็นการสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน 2.2 พัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย9เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) 2.3 บริหารงานในรูปแบบภาครัฐเครือข่ายที่ยึดประเด็นปัญหาเป็นตัวตั้งโดยภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนและเปิดให้ภาคส่วนอื่นที่มีความชำนาญเข้ามามีบทบาทร่วม |
ตัวอย่างโครงการสำคัญ : 1) โครงการปรับบทบาทภาครัฐแนวใหม่เพื่ออนาคต เป็นการทบทวนบทบาทภารกิจของภาครัฐ การปรับโครงสร้างภาครัฐให้รองรับภารกิจใหม่ และเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมจัดบริการสาธารณะหรือให้บริการแทนภาครัฐ (สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงาน ก.พ.) และ 2) โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยพัฒนาแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมที่สร้างพื้นที่และเครื่องมือให้ภาครัฐและประชาชนใช้ในการให้ข้อมูล แสดงความคิดเห็น รวมทั้งการตัดสินใจและดำเนินงานร่วมกัน [สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)] |
||
หน่วยงานรับผิดชอบ : มท. สปน. สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สพร. และทุกส่วนราชการ |
||
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ขับเคลื่อนผลิตภาพภาครัฐด้วยนวัตกรรมและดิจิทัล |
||
เป้าหมาย : ภาครัฐมีความทันสมัย สามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาการทำงานและการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
||
ตัวชี้วัด : (1) ความสำเร็จในการปรับกระบวนงานภาครัฐที่สำคัญเข้าสู่ดิจิทัล (ร้อยละ 100) (2) ความสำเร็จในการปรับข้อมูลภาครัฐเป็นดิจิทัลที่มีมาตรฐาน และสามารถใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการตัดสินใจของภาครัฐ (ร้อยละ 100) (3) หน่วยงานภาครัฐผ่านการประเมินสถานะการเป็นระบบราชการ 4.0 ระดับก้าวหน้าขึ้นไป (ร้อยละ 85) |
||
กลยุทธ์ |
|
แนวทางการขับเคลื่อน |
1. ยกระดับการทำงานด้วยนวัตกรรมและดิจิทัล รวมถึงการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ |
|
1.1 ปรับเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐทั้งหมดให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่ได้มาตรฐานและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้ 1.2 สร้างทักษะการใช้ข้อมูล (Data Literacy) และวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล (Data Culture)10 ในการทำงานและการตัดสินใจให้แก่บุคลากรภาครัฐทุกระดับรวมถึงทักษะทางด้านดิจิทัล (Digital Skill) ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน 1.3 ใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่างๆ เช่น ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการคาดการณ์อนาคต 1.4 พัฒนากลไกสร้างนวัตกรรมทางการบริหารและระบบนิเวศในการทำงาน ที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมในหน่วยงาน |
2. ปรับระบบงาน งบประมาณ บุคลากร และโครงสร้างภายในหน่วยงานให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัว |
|
2.1 ปรับระบบงบประมาณให้หน่วยงานภาครัฐสามารถบริหารงบประมาณได้อย่างยืดหยุ่น มุ่งเน้นผลลัพธ์ สามารถตอบโจทย์ที่สำคัญและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที 2.2 ปรับระบบงาน บุคลากร และโครงสร้างภาครัฐให้เป็นรูปแบบที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัว สามารถปรับเปลี่ยนไปตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป มุ่งเน้นระบบการทำงานแบบแนวราบ11 โดยพัฒนากลไกให้หน่วยงานภาครัฐสามารถทดลองแนวทางการจัดโครงสร้างเพื่อความยืดหยุ่น คล่องตัว (OD Regulatory Sandbox)12 ตลอดจนการจัดตั้งหน่วยงานเสมือนจริง13 กรณีเป็นภารกิจที่มีความสำคัญจำเป็น โดยกำหนดประเภทและระยะเวลาคงอยู่ และให้มีการประเมินผลเมื่อครบกำหนดว่าจะจัดตั้งถาวร ยุบเลิกหรือขยายระยะเวลา 2.3 พัฒนาระบบนิเวศการทำงานที่ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพและเหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งปรับภาพลักษณ์ของระบบราชการเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ |
3. ปรับระบบงานภาครัฐให้มีความโปร่งใส ไร้ทุจริตคอร์รัปชัน |
|
3.1 ปรับกระบวนงานภาครัฐให้เป็นดิจิทัลโดยทบทวนและออกแบบกระบวนการทำงานใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการร่วมกันระหว่างบุคลากรและระบบเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเพื่อให้การปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยลดโอกาสในการเรียกรับผลประโยชน์ ลดปัญหาการใช้ดุลพินิจ และสามารถติดตามสถานะการดำเนินการได้ทุกขั้นตอน 3.2 เร่งปรับกระบวนการทำงานด้วยแพลตฟอร์มที่ใช้ร่วมกัน เช่น ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ระบบบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถปรับกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและช่วยลดต้นทุน 3.3 พัฒนาระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรที่สามารถวัดผลการปฏิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรม 3.4 พัฒนาระบบ/แพลตฟอร์มสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน |
ตัวอย่างโครงการสำคัญ : 1) โครงการขับเคลื่อนการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ เข้าสู่ส่วนกลางเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการตัดสินใจดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล [โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) (สำนักงานสถิติแห่งชาติและสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ)] 2) โครงการพัฒนาระบบการปฏิบัติงานภาครัฐสู่องค์กรดิจิทัล โดยเร่งการพัฒนากระบวนงานที่มีลักษณะคล้ายกันในหลายหน่วยงานให้เป็นดิจิทัล (โดย สพร. และสำนักงาน ก.พ.) และ 3) โครงการพัฒนาระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรภาครัฐ โดยพัฒนาระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรภาครัฐที่สามารถวัดผลการปฏิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงกับระบบการเลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือน (โดยสำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร.) |
||
หน่วยงานรับผิดชอบ : ดศ. สลน. สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สพร. และทุกส่วนราชการ |
4. ประโยชน์ของร่างยุทธศาสตร์ฯ
4.1 เป็นการวางทิศทางและเป้าหมายการขับเคลื่อนระบบราชการในภาพรวมที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
4.2 เป็นแนวทางสนับสนุนให้หน่วยงานพัฒนาระบบการทำงานให้มีความทันสมัย สามารถตอบสนองความคาดหวังของประชาชน รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
4.3 เพิ่มประสิทธิภาพการบริการภาครัฐเพื่อตอบโจทย์ประชาชนและประชาชนมีทางเลือกในการรับบริการที่หลากหลาย ทั่วถึง สะดวก ประหยัด และครอบคลุมความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม
5. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในคราวประชุม ครั้งที่ 8/2566 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ฯ และขอให้สำนักงาน ก.พ.ร. นำความเห็นของสภาพัฒนาฯ ไปพิจารณาปรับรายละเอียดของร่างยุทธศาสตร์ฯ ให้มีความชัดเจนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ฯ ตามความเห็นของ สศช. และปรับปรุงให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลแล้ว โดย ก.พ.ร. ในคราวประชุม ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ฯ ฉบับปรับปรุงดังกล่าวเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานต่อ ไป
_______________
1 ในช่วงปี 2566 ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2567-2570) ตามขั้นตอนแนวทางการเสนอแผนระดับที่ 3 นั้น สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เผยแพร่ทิศทางการพัฒนาระบบราชการในระยะ 5 ปีตาม (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ ที่ ก.พ.ร. มีมติเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2566 ควบคู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566-2580)
2 เป็นการสำรวจข้อมูลความพึงพอใจจากประชาชนผู้ใช้บริการจากหน่วยงานของรัฐทั่วประเทศ [ส่วนราชการ จังหวัด องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)] โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ทั้งนี้ ในปี 2566 ผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนอยู่ที่ร้อยละ 83.24 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีร้อยละ 81.69
3 ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EDGI) เป็นการสำรวจและประเมินสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จำนวน 193 ประเทศ ทุก 2 ปี โดยสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ โดยในปี 2565 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 (คะแนน 0.766 คะแนน) ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น ประเทศเวียดนาม (อันดับ 86/0.678 คะแนน) เมียนมา (อันดับ 134/0.499 คะแนน) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (อันดับ 159/0.376 คะแนน) จากการประสานสำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งว่า การกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายในร่างยุทธศาสตร์ฯ เป็นการถ่ายทอดมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในหมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชนที่กำหนดค่าเป้าหมายไว้ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลกและมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 0.82 (คะแนนเต็ม 1)
4 อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นการประเมินขีดความสามารถของประเทศในเขตเศรษฐกิจต่างๆ ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และ 4) โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจัดทำและเผยแพร่เป็นประจำทุกปีโดย International Institute for Management Development (IMD) โดยสถานการณ์ในด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Effectiveness) ในปี 2566 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 ดีขึ้นจากปี 2565 ที่อยู่ในอันดับที่ 31 และเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน พบว่า ประเทศไทยเป็นรองเพียงแค่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 7 ทั้งนี้ จากการประสานสำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งว่า การกำหนดค่าเป้าหมายไว้ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 20 เพื่อให้ใกล้เคียงกับอันดับของประเทศไทยในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 23 และ 20
5 โครงการสำคัญ (Flagship Project) เป็นการยกระดับโครงการที่อยู่ภายใต้แผนงานของส่วนราชการให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการและมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
6 กำหนดค่าเป้าหมายโดยอิงตามค่าเป้าหมายของตัวชี้วัดในแผนแม่บทฯ ประเด็นที่ 20 ที่กำหนดให้มีสัดส่วนกระบวนงานที่ปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัลต่อกระบวนงานทั้งหมดที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัลได้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ภายในปี 2570
7 Biz Portal คือ ศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ และ Citizen Portal คือ ศูนย์กลางในการบริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร
8 End to End Service คือ การให้บริการดิจิทัลหรือบริการทางออนไลน์แบบครบวงจร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้บริการและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน
9 ระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย คือ รูปแบบที่สำนักงาน ก.พ.ร. พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนภารกิจที่ไม่สามารถดำเนินการสำเร็จได้โดยภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว โดยยกระดับการทำงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการของประชาชน ผ่านความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาสำคัญร่วมกัน
10 วัฒนธรรมการใช้ข้อมูล (Data Culture) คือ การส่งเสริมให้ภาครัฐนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินงานแทนการใช้ความรู้สึกหรือประสบการณ์จากการดำเนินงานที่ผ่านมา
11 ระบบการทำงานแบบแนวราบ เป็นการออกแบบให้องค์กรไม่มีลำดับชั้นในการตัดสินใจสูงมากนักและการทำงานภายในองค์กรอยู่ในระดับเดียวกันมากที่สุด บุคลากรได้รับความไว้วางใจในการตัดสินใจและมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่เพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและช่วยลดความผิดพลาดในการสื่อสาร
12 แนวทางการจัดโครงสร้างเพื่อความยืดหยุ่น คล่องตัว (OD Regulatory Sandbox) คือ กลไกในการพัฒนาองค์กรในลักษณะของพื้นที่ทดลองโดยการผ่อนปรนข้อจำกัดและกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค
13 จากการประสานสำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งว่า หน่วยงานเสมือนจริงเป็นการตั้งหน่วยงานขึ้นมาในลักษณะคณะทำงานตามภารกิจสำคัญ ซึ่งมีโครงสร้าง มีการใช้งบประมาณ และมีกฎหมายในการจัดตั้ง โดยมีหัวหน้าภารกิจที่สามารถดึงบุคลากรจากหน่วยงานของรัฐมาร่วมดำเนินงานได้ ทั้งนี้ เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดจะมีการประเมินความจำเป็นในการคงอยู่ของหน่วยงานเสมือนจริงดังกล่าว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567
7297