รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือคำสั่ง กรณีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการชันสูตรพลิกศพ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 July 2024 02:13
- Hits: 8437
รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือคำสั่ง กรณีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการชันสูตรพลิกศพ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง กรณีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รับทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรฐานการให้ความเห็นเชิงวิชาการของแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ และปัญหาเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงกรณีไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือกระบวนการตรวจสอบซ้ำเพื่อเป็นหลักประกันและยืนยันความถูกต้องของผลการชันสูตรที่ชัดเจน
2. กสม. เห็นว่า กระบวนการชันสูตรพลิกศพตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งในกรณีเจ้าหน้าที่เห็นว่าการตายไม่ผิดธรรมชาติก็อาจทำให้ไม่เข้าสู่กระบวนการชันสูตรพลิกศพ และไม่มีการผ่าศพหรือแยกธาตุ จึงควรกำหนดให้ญาติผู้ตายสามารถร้องขอให้เจ้าหน้าที่ทำการชันสูตรพลิกศพหรือผ่าศพได้ กฎหมายยังขาดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ชัดเจน เช่น ไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ซ้ำอย่างชัดเจน กฎหมายมิได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขให้บุคคลที่เกี่ยวข้องขอทราบผลการชันสูตรพลิกศพหรือผลการผ่าพิสูจน์ได้ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนที่มิอาจเปิดเผยได้ ไม่มีกำหนดเวลาเกี่ยวกับการคืนศพ จึงควรมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ชัดเจนอันจะทำให้เจ้าหน้าที่มีกรอบการปฏิบัติงาน และบุคคลทั่วไปได้รับรู้และเข้าใจความจำเป็น บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่มีบทบัญญัติว่าแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพจะต้องมาจากหน่วยงานใด จึงทำให้ขาดหลักประกันความเป็นกลางและความอิสระ รวมทั้งขาดการบูรณาการจัดการองค์ความรู้ด้านนิติเวชศาสตร์และมาตรฐานการชันสูตรพลิกศพ โดยในบางพื้นที่อาจมีกรณีที่แพทย์ไม่อาจไปปฏิบัติหน้าที่ได้ นอกจากนี้ ภายหลังจากที่พนักงานผู้ชันสูตรพลิกศพได้จัดทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นแล้ว ควรให้เป็นบทบาทขององค์กรตุลาการในการพิจารณาคำโต้แย้งคัดค้านรายงานผลการชันสูตรพลิกศพที่พนักงานผู้ชันสูตรพลิกศพจัดทำเสร็จสิ้น
3. กสม. ได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง กรณีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการชันสูตรพลิกศพเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
4. ที่ผ่านมาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ว่า เมื่อได้รับข้อเสนอแนะของ กสม. แล้ว ให้รายงานรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิจารณาสั่งการให้มีหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของ กสม. ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้รายงานสรุปผลการพิจารณาในภาพรวมต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปซึ่งรองนายกรัฐมนตรีที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีคำสั่งมอบหมายให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ สธ. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้ สลค. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า ได้ประชุมหารือเพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของ กสม. ในเรื่องดังกล่าวตามข้อ 4 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กห. กค. อว. มท. ยธ. สคก. ตช. ศย. อส. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แพทยสภา ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย และ กสม. เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 ซึ่งมีผลการพิจารณาสรุปในภาพรวมได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม. |
สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม |
|
1. ข้อเสนอแนะมาตรการระยะสั้น คณะรัฐมนตรีควรมอบหมาย ดังนี้ 1.1 ให้ สธ. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตช. และแพทยสภาร่วมกันพิจารณาแนวทางในการตรวจพิสูจน์ซ้ำเพื่อให้มีมาตรฐานและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน |
- แนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ซ้ำ 1. ให้ปฏิบัติโดยยึดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 1511 ประกอบกับประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 10 การชันสูตรพลิกศพบทที่ 1 อำนาจและหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ ข้อ 62 และประกาศราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย วาระ พ.ศ. 2562 – 2564 ชุดที่ 17 ที่ 25/2563 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 25633 2. ให้มีการยกระดับประกาศราชวิทยาลัยฯ โดยให้แพทยสภาออกประกาศเป็นข้อบังคับแพทยสภาเพื่อการบังคับใช้ให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน โดยให้ราชวิทยาลัยฯ เสนอเรื่องต่อแพทยสภาต่อไป |
|
1.2 ให้ สธ. ยธ. กค. และ ตช. ร่วมกันพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการขนส่งศพเพื่อทำการผ่าพิสูจน์ |
- ให้ สธ. แต่งตั้งคณะทำงานสำหรับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้านงบประมาณของนิติเวชร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อสนับสนุนค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของแพทย์และค่าบริการสาธารณสุขด้านนิติเวชเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อไป |
_______________________________________
1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 151 บัญญัติให้เมื่อมีการจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใด หรือจะให้ส่งทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้
2 ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 10 การชันสูตรพลิกศพ บทที่ 1 อำนาจและหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ ข้อ 6 วรรคหนึ่งกำหนดให้ในการชันสูตรพลิกศพนั้น เมื่อมีความจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ผ่าศพ แล้วแยกธาตุส่วนใดหรือจะให้ส่งทั้งศพ เศษหรือบางส่วนของศพไปยังแพทย์ หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐก็ได้
3 ประการราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย วาระ พ.ศ. 2562 – 2564 ชุดที่ 17 ที่ 25/2563 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2563 กำหนดแนวทางปฏิบัติในการผ่าศพซ้ำ กรณีการร้องขอให้ผ่าซ้ำ โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1. หน่วยงานที่ถูกร้องขอจะรับทำได้ ต้องมีห้องปฏิบัติการการชันสูตรศพที่ผ่านการรับรองโดยราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย
2. หน่วยงานที่ถูกร้องขอต้องจัดตั้งคณะกรรมการ ซึ่งเป็นแพทย์จำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน โดยต้องประกอบด้วยกรรมการสองกลุ่ม ได้แก่ กรรมการจากหน่วยงานที่ถูกร้องขอ กับกรรมการภายนอก
3. คุณสมบัติของกรรมการมี ดังนี้
3.1 เป็นแพทย์ที่ได้รับหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรจากแพทยสภาในสาขานิติวิทยาศาสตร์
3.2 หลังจากได้รับหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแล้ว ต้องปฏิบัติงานในสาขานิติเวชศาสตร์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี (และขณะที่เป็นกรรมการยังปฏิบัติงานในสาขานิติวิทยาศาสตร์อยู่)
3.3 ต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ร้องขอให้ทำการผ่าศพซ้ำ และผู้เสียชีวิต
4. ให้คณะกรรมการประสานขอข้อมูลการผ่าศพครั้งก่อน เท่าที่ทำได้
5. ผู้ผ่าศพครั้งก่อน หรือตัวแทน สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์กระบวนการผ่าศพได้
6. การสรุปผลการผ่าศพซ้ำ หากไม่สามารถหาฉันทามติได้ ให้กรรมการแต่ละคนแสดงความเห็นไว้ในรายงาน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567
7296