รายงานกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของ รัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (เรื่อง ความเดือดร้อนจากการดำเนินโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 July 2024 02:04
- Hits: 8491
รายงานกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของ รัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (เรื่อง ความเดือดร้อนจากการดำเนินโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบสรุปผลการดำเนินการ กรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เรื่องความเดือดร้อนจากการดำเนินโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และแจ้งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบต่อไป
2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
เรื่องเดิม
คณะรัฐมนตรีมีมติ (31 ตุลาคม 2566) รับทราบรายงานกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 (เรื่อง ความเดือดร้อนจากการดำเนินโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย) ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) เสนอ และให้ กษ. รับข้อเสนอแนะของ ผผ. ในเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ กษ. สรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวมแล้วส่งให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก สลค. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานสรุปผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ ผผ. ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ ผผ. [ตามมติ ผลการดำเนินการคณะรัฐมนตรี (31 ตุลาคม 2566)] |
ผลการดำเนินงาน |
|
1. ให้กรมชลประทานและ กษ. เร่งรัดการประชุมและพิจารณารับรองรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อเสนอของบประมาณภายในปี 2567 โดยขอให้กรมชลประทานและ กษ. เสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดสรรงบกลางในการเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบ ในอัตราเหมาจ่าย 7,000 บาท ต่อไร่ต่อปี และค่าสูญเสียโอกาสในอัตรา 3,000 บาทต่อไร่ต่อปี ตั้งแต่ปี 2543-2547 |
- เดิมมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 388/2562 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2562 แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร และโครงการฝายธาตุน้อย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนกลุ่มราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นกรรมการ - คณะกรรมการดังกล่าวได้ประชุมและพิจารณาเห็นชอบรายชื่อและพื้นที่ของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ดและโครงการฝายยโสธร-พนมไพรแล้วเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 และมีมติให้ฝายเลขานุการ (สำนักกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน) แจ้งไปยังคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด และโครงการฝายยโสธร-พนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายยโสธร-พนมไพร จังหวัดยโสธร ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเพื่อจัดเตรียมข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนนำเสนอคณะกรรมการต่อไป รวมทั้งเร่งดำเนินการในส่วนที่ยังมีการอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว - คณะกรรมการดังกล่าวข้างต้นรวมทั้งคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องได้หมดวาระลงภายหลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 - เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและลงนามในร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร และโครงการฝายธาตุน้อย หากนายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งดังกล่าวแล้ว* กรมชลประทานจะได้ดำเนินการเร่งรัดการประชุมและพิจารณารับรองรายชื่อผู้ได้รับ ผลกระทบเพื่อเสนอของบประมาณภายในปี พ.ศ. 2567 ต่อไป |
|
2. ให้กรมชลประทานพิจารณาศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมภายหลังจากการสร้างเขื่อนในลำน้ำชีทั้งระบบ โดยการดำเนินการดังกล่าวขอให้พิจารณาถึงหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนและมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ |
กรมชลประทานได้ดำเนินการว่าจ้างสถาบันที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายหลังการดำเนินโครงการ (POST-EIA) เริ่มปฏิบัติงานเมื่อเดือนตุลาคม 2561 และปิดโครงการศึกษาเมื่อเดือนกันยายน 2562 - เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร และโครงการฝายธาตุน้อย ได้ประชุมและพิจารณาเห็นชอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม โดยที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด และโครงการฝายยโสธร-พนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายยโสธร-พนมไพร จังหวัดยโสธร ไปดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ผู้แทนโครงการชลประทานและผู้แทนราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ เพื่อเร่งรัดดำเนินการคำนวณพื้นที่น้ำท่วมในแต่ละปีของที่ดินโดยเร่งด่วน และดำเนินการในส่วนของผู้ที่ยื่นคำร้องใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสนอคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพรและโครงการฝายธาตุน้อยต่อไป |
|
3. ให้กรมชลประทานและ กษ. เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในด้านบริหารจัดการน้ำทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นไปโดยรวดเร็ว โดยขอให้ดำเนินการศึกษาและแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างอาคารและองค์ประกอบเขื่อน การแก้ปัญหาผลกระทบจากคันกั้นน้ำและโครงการสูบน้ำขนาดใหญ่ และกำหนดมาตรการฟื้นฟูระบบนิเวศโดยกำหนดให้มีผู้แทนจาก สทนช. ทส. และผู้เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะทำงานเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา |
กรมชลประทานขอหารือกับ สทนช. ทส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะดำเนินการแจ้งรายงานให้ทราบต่อไป |
_________________
*นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 377/2566 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร และโครงการฝายธาตุน้อย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567
7295