ผลการพิจารณา ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวม 11 ญัตติ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 July 2024 02:00
- Hits: 8301
ผลการพิจารณา ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวม 11 ญัตติ
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณา ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวม 11 ญัตติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวม 11ญัตติ มาเพื่อดำเนินการ โดยได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ได้แก่ กุ้ง ปลา พืชผล พืชสวน พืชไร่ และปศุสัตว์ (สุกร ไก่ โค และกระบือ) เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และอาหารสัตว์ รวมทั้งมีการนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย รวมทั้งโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เช่น ควรเข้าไปควบคุมต้นทุนการผลิต ควบคุมการนำเข้าจากต่างประเทศ ควบคุมการผูกขาด เร่งสร้างความร่วมมือด้านเขตการค้าเสรี (FTA) ผลักดันนโยบาย “ตลาดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยทำ Profile Market เพื่อผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาดควรมีการแก้ไขปัญหาแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร รวมทั้งทบทวนการจัดโซนนิ่งในการทำเกษตรกรรมเพื่อตอบโจทย์คุณภาพของสินค้าและเป็นการลดรายจ่ายในการปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ทำให้ได้สินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นง่ายต่อการตลาดในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีนโยบายการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร
2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (2 มกราคม 2567)
2.1 รับทราบญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวม 11 ญัตติ ตามที่ สผ. เสนอ
2.2 มอบหมายให้ กษ. เป็นหน่วยงานหลักรับญัตติพร้อมทั้งข้อเสนอแนะไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
กษ. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มกราคม 2567 โดยสรุปผลการพิจารณา ได้ดังนี้
1. ได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยบริหารงบประมาณโครงการในการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร เช่น ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การจัดหาแหล่งน้ำชลประทานสำหรับพืชผลทางการเกษตร การปศุสัตว์ และการประมง เพื่อทำให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาด จัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นตลาดนำการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด และจัดทำข้อมูลความต้องการผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้วางแผนการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคา
2. จัดทำมาตรการ/โครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำและต้นทุนการผลิตสูง ด้วยการบริหารจัดการผลผลิต ทั้งการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ผลักดันการส่งออก รวมทั้งส่งสริมการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยมาตรการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรที่สำคัญ มีดังนี้
สินค้าเกษตรที่สำคัญ |
ผลการดำเนินการ |
|
1. สินค้าข้าว |
● มีคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติกำกับดูแล โดยมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/2567 จำนวน 4 โครงการ ดังนี้ 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (7 พฤศจิกายน 2566) โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรวงเงินสินเชื่อต่อตันจำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวตันละ 10,000 บาท โดยเกษตรกรจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือกได้รับในอัตราตันละ 500 บาท 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2566/67 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (7 พฤศจิกายน 2566) โดยให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3.85 ต่อปี 3. โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2566/67 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (14 พฤศจิกายน 2566) โดยให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท 4. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (28 พฤศจิกายน 2566) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสารโดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 |
|
2. สินค้ามันสำปะหลัง |
● มีคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลังกำกับดูแล โดยมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2566/67 จำนวน 4 โครงการ ดังนี้ 1. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 สนับสนุนดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการ ลานมัน โรงแป้ง โรงงานเอทานอลที่กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้สามารถรับซื้อมันสำปะหลังและแปรรูปเก็บสต็อกโดยไม่ต้องเร่งระบายผลผลิต เพื่อดึงผลผลิต ส่วนเกินออกจากตลาด โดยรัฐบาลชดเซยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท 2. โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง โดยสนับสนุนเงินทุนให้แก่กลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย (วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน หรือกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ ภายใต้การรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ) เพื่อจัดหาเครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ตากมันเส้น จำนวน 650 เครื่อง เครื่องละไม่เกิน 15,000 บาท ให้เกษตรกรสามารถแปรรูปหัวมันสำปะหลังสดเป็นมันเส้นด้วยตัวเองและจำหน่ายให้แก่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงงานเอทานอล ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ผู้ส่งออกได้โดยตรง งบประมาณ 10 ล้านบาท 3. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปี 2566/67 โดยให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรใช้เป็นเงินทุนในการรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันเส้นจากเกษตรกร และ/หรือสถาบันเกษตรกรที่มีสมาชิกประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก (สำหรับกรณีใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์) วงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3.85 สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 4. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 โดยให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกรโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยใช้อัตราดอกเบี้ยตามโครงการฯ ในอัตรา MRR1 (ปัจจุบัน 6.975%) โดยคงอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลรับภาระร้อยละ 3 และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ รับภาระในอัตรา MRR – ๓% วงเงินงบประมาณ 41.40 ล้านบาท |
|
3. สินค้าอ้อย |
มีกระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลมาตรการและการแก้ไขปัญหาสินค้าอ้อยทั้งระบบ |
|
4. สินค้ายางพารา |
● มีคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติกำกับดูแล โดยมีการยางแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ซึ่งได้จัดทำมาตรการระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ประกอบด้วย 1. มาตรการระยะสั้น ได้แก่ (1) ช่วยเหลือค่าครองชีพให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยให้มีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงชีพ (2) พัฒนาศักยภาพการผลิตและการแปรรูปและสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และ (3) ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเพื่อยื่นขอใบรับรองมาตรฐานตามกฎหมาย EU-Deforestation2 2. มาตรการระยะปานกลาง ได้แก่ (1) เพิ่มการใช้ยางภายในประเทศ (2) แปรรูปยางพาราที่เหมาะกับพื้นที่ และส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตจากยางพาราขั้นต้นเป็นการแปรรูปชั้นกลาง (3) สร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ และพัฒนาเครื่องมือการขายคาร์บอนเครดิต3 เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่หลากหลาย (4) จัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการสร้างเครือข่ายและพันธมิตร เกษตรกรสถาบันเกษตรกร และตลาดกลาง และ (5) เร่งจัดทำใบรับรองมาตรฐานยางพาราและกำหนดคุณภาพของยางแปรรูปขั้นต้นให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปขั้นปลาย 3. มาตรการระยะยาว ได้แก่ (1) วิจัยและส่งเสริมการลงทุนแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา (2) สร้างระบบตลาดซื้อขายยางพาราของประเทศไทยที่ใช้ในการอ้างอิงของประเทศอื่นๆ และ (3) ร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ผ่านสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ |
|
5. สินค้าปาล์มน้ำมัน |
● มีคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติกำกับดูแล โดยมีมาตรการดูแลช่วยเหลือรายได้แก่เกษตรกร เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนี้ 1. กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน โดยกำหนด “ห้ามมิให้ผู้ประกอบการจุดรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน (ลานเท) กระทำด้วยประการใดๆ เพื่อให้ผลปาล์มน้ำมันร่วงอย่างไม่เป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะโดยใช้ ตะแกรง รางเท สำหรับลำเลียงทะลายปาล์มน้ำมันที่เป็นตะแกรง อุปกรณ์หรือสิ่งอื่นใดสำหรับแยกผลปาล์มน้ำมันร่วง” ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพผลปาล์มน้ำมันและเพิ่มอัตราสกัดน้ำมันปาล์ม ส่งผลให้มีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบทั้งระบบเพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยได้อย่างยั่งยืน 2. จัดทำโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวจะทำให้มีเกณฑ์โครงสร้างราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา และราคาซื้อขายจะไม่ผันผวนและถูกกดราคา ทำให้เกษตรกรได้รับรายได้ที่เป็นธรรม |
|
6. สินค้าผลไม้ |
● มีคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) กำกับดูแล โดยมีแนวทางการบริหารจัดการ ดังนี้ 1. ระยะสั้น จัดตั้งศูนย์รวบรวม/กระจาย ระดับพื้นที่เพื่อเร่งกระจายผลผลิตสร้าง Platform ข้อมูลด้านการผลิตเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการขนส่งและการตลาดทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด 2. ระยะปานกลาง จัดทำแผนบริหารจัดการ เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตกระจุกตัวส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า/เพิ่มช่องทาง 3. ระยะยาว ส่งเสริมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และประกันภัยพืชผลเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาผลไม้ไทย รวมทั้งส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งผลิตตลาดผลไม้เมืองร้อนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล |
|
7. สินค้าปศุสัตว์ |
● กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าปศุสัตว์ ดังนี้ 1. ใช้กลไกกำกับดูแลของคณะกรรมการรายชนิดสัตว์ เช่น สินค้าสุกร ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการนโยบายสุกรและผลิตภัณฑ์ สินค้าโคกระบือ ขับเคลื่อน โดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ - กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติ สินค้าไก่ ขับเคลื่อนโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด และสินค้าแพะ ขับเคลื่อนโดยคณะทำงานพัฒนาด้านแพะแกะ 2. ประกาศชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งโคกระบือหรือซากโคซากกระบือ 3. แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหา ป้องกันและปราบปรามสินค้าด้านการเกษตรที่ผิดกฎหมายต่างๆ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4. ผลักดันการเปิดตลาดส่งออกโคและกระบือมีชีวิต รวมทั้งซากโคและซากกระบือไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และรณรงค์การบริโภคสินค้าเนื้อโคไทย 5. การบังคับใช้ระบบเบอร์หูแห่งชาติ (NID) เพื่อจัดทำฐานข้อมูลโคเนื้อทั้งระบบสำหรับใช้ในการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว |
|
8. สินค้ากุ้ง |
● กรมประมง ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โดยมีมาตรการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลที่กู้เงินจาก ธ.ก.ส. ไปใช้ในการติดตั้งระบบอุปกรณ์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell) ระบบควบคุมเครื่องเติมอากาศอัจฉริยะ และปรับปรุงโครงสร้างฟาร์มหรือโครงสร้างบ่อ โดยชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี (ไม่เกิน 20 พฤษภาคม 2569) 2. โครงการส่งเสริมการใช้ระบบ Solar Cell เพื่อลดต้นทุนการผลิต 3. โครงการอาหารกุ้งทะเลธงเขียวเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลสำหรับบริโภคภายในประเทศ ปี 2566 โดยขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าอาหารกุ้ง 4. กรมประมงได้ดำเนินการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 (แบบผง) และ ปม.2 (แบบน้ำ) เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกร เพื่อช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง และได้ดำเนินการควบคุมการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศก่อนอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย จะต้องถูกดำเนินการควบคุมโรคภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 รวมทั้งจัดทำแนวทางการเฝ้าระวังโรคในกุ้งทะเลครอบคลุม ทั้งห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่โรงเพาะฟัก โรงอนุบาล ฟาร์มเลี้ยง ตลอดจนสถานบรรจุสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก และเพื่อให้การตรวจพบโรคกุ้งที่เฝ้าระวังเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีความแม่นยำและสามารถเข้าจัดการแก้ไขปัญหาโรคได้ทันท่วงที 5. กษ. ได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการผลักดันการขยายตลาดสินค้าเกษตรและประมงที่ไทยมีศักยภาพในเชิงรุก โดยเฉพาะในประเทศที่มีความตกลง FTA กับไทย รวมถึงอาศัยกลไกความร่วมมือที่มีอยู่ในการจับคู่ธุรกิจ |
|
9. สินค้าปลากะพงขาว |
● กรมประมง ได้ดำเนินมาตรการ ดังนี้ 1. ยกระดับมาตรการควบคุมการนำเข้า เพิ่มความเข้มงวดในการเปิดตรวจสินค้าทุกครั้ง หากพบสารตกค้างให้แจ้งด่านอาหารและยาในพื้นที่ เพื่อดำเนินการเปรียบเทียบปรับ และสั่งทำลายหรือดำเนินการอื่นใดตามเห็นสมควร 2. ส่งเสริมการผลิตปลากะพงขาวให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดส่งเสริมการใช้ระบบ Solar Cell เพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ในการเลี้ยง เพื่อช่วยควบคุมคุณภาพน้ำ ควบคุมการเกิดกลิ่นโคลน ลดต้นทุนการใช้ยาและสารเคมี และลดต้นทุนการเปลี่ยนถ่ายน้ำ และส่งเสริมให้มีการขายผ่านร้านค้าของกรมประมง “Fisherman Shop” (ออฟไลน์) ที่มีทุกจังหวัด หรือช่องทางออนไลน์ผ่าน “Fisheries Shop” รวมทั้งกรมประมงอยู่ระหว่างการเจรจาทำข้อตกลงการส่งออกปลากะพงขาวกับสาธารณรัฐประชาชนจีน |
________________________________
1MRR (Minimum Retail Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารใช้ในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีใช้ได้สำหรับเงินกู้ทุกประเภทที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบลอยตัวที่ธนาคารพาณิชย์ใช้กันมากที่สุดในธุรกรรมการให้สินเชื่อ
2EU Deforestation-free products คือ กฎหมายที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป
3คาร์บอนเครดิต (Carbon credit) คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมแต่ละโครงการสามารถลดหรือกักเก็บได้เมื่อได้รับการรับรองแล้วสามารถนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตได้ (ผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตจะมาจากภาคพลังงาน การขนส่งเกษตรกรรม และป่าไม้)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567
7294