สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนพฤษภาคม 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 July 2024 01:54
- Hits: 8080
สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนพฤษภาคม 2567
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนพฤษภาคม 2567 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ และข้อเท็จจริง
1. สรุปภาพรวมดัชนีเศษฐกิจการค้าเดือนพฤษภาคม 2567 ดังนี้
ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนพฤษภาคม 2567 เท่ากับ 108.84 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.19 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 1.54 (YoY) โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกรวมถึงผักสด และไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนเมษายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้นร้อยละ 0.19 ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 6 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำสุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย)
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นร้อยละ 1.54 (YoY) ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.13 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหารสด อาทิ ผักสด (ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ มะเขือ กะหล่ำปลี ขิง ผักชี) ผลไม้สด (มะม่วง องุ่น กล้วยหอม) ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ และไข่เป็ด กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน (กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน)) และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทราย น้ำพริกแกง มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ขณะที่ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร มะนาว ปลาทู น้ำมันพืช และกระเทียม เป็นต้น
หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.84 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ 91 95 และ E20 น้ำมันเบนซิน 95) กลุ่มเคหสถาน (ค่ากระแสไฟฟ้า) ค่าเช่าบ้าน) กลุ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน ค่าแต่งผมสตรี) กลุ่มยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (สุรา บุหรี่ ไวน์) อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ น้ำมันดีเซล ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว เสื้อยืดบุรุษและสตรี และเสื้อเชิ้ตบุรุษ และสตรี เป็นต้น
เงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น ร้อยละ 0.39 (YoY) เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนเมษายน 2567 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.37 (YoY)
ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.63 (MoM) ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.37 ปรับสูงขึ้นตามราคาผักสด (มะเขือ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ ต้นหอม กะหล่ำปลี พริกสด) ไข่ไก่ เนื้อสุกร และผลไม้สด (แตงโม มะม่วง กล้วยน้ำว้า) ขณะที่ มะนาว ข้าวสารเจ้า ส้มเขียวหวาน และนมเปรี้ยว ราคาปรับลดลงจากเดือนที่ผ่านมา และหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.09 ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง อาทิ ค่าโดยสารเครื่องบิน ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (น้ำยาซักแห้ง) และสารกำจัดแมลง เป็นต้น
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม - พฤษภาคม) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ลดลงร้อยละ 0.13 (AoA)
2. แนวโน้มเงินเฟ้อ
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายน 2567 คาดว่าจะปรับสูงขึ้นในอัตราชะลอตัว โดยมีสาเหตุสำคัญจาก (1) ผลกระทบจากฐานราคาต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าลดลง (2) การต่ออายุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของครัวเรือน อีก 4 เดือน (พ.ค. - ส.ค. 2567) (3) ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะผักสดมีแนวโน้มลดลง หลังสิ้นสุดสภาพอากาศร้อนจัด และเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ และ (4) การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาขายรวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่มีการทำโปรโมชันส่งเสริมการขาย ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้สินค้าบางชนิดยังอยู่ในระดับสูง ได้แก่ (1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานราคาไม่เกิน 33.00 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง และ (3) ความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแยังทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตาม
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0-1.0 (ค่ากลางร้อยละ 0.5) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนพฤษภาคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.4 จากระดับ 51.9 ในเดือนก่อนหน้า และปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากลดลงต่อเนื่อง 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566) และอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18 (ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.1 จากระดับ 44.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.9 จากระดับ 56.8 สาเหตุการปรับเพิ่มขึ้นโดยรวม คาดว่ามาจาก (1) ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ (2) การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2567 จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังของปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้น และ (3) ภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ราคาพลังงานและค่าครองชีพ และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567
7293