ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 3/2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 July 2024 01:49
- Hits: 7901
ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 3/2567
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาครั้งที่ 77 พร้อมทั้งร่างประกาศฯ รวม 2 ฉบับ ดังนี้
1.1 ร่างประกาศ เรื่อง ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง
1.2 ร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ
2. รับทราบร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของเรื่อง
สมช. เสนอว่า
1. รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 เพื่อใช้มาตรการต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทั้งของรัฐและประชาชนภายในเขตพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยได้มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องทุก 3 เดือน จนถึงปัจจุบัน เป็นคราวที่ 76
2. สมช. ได้จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธานกรรมการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ได้สรุปผลการปฏิบัติงานตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อประกอบการพิจารณาขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ครั้งที่ 77 สรุปได้ดังนี้
(1) สถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ในห้วงตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นห้วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ครั้งที่ 76 ปรากฏการก่อเหตุรุนแรง จำนวน 10 เหตุการณ์ เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 20 ราย รวม 22 ราย และจำนวน 62 ภาพข่าว (การประชุมวางแผน/สั่งการ 21 ภาพข่าว การเคลื่อนไหวเตรียมก่อเหตุ 35 ภาพข่าว และการขนย้ายอาวุธหรือวัตถุระเบิด 6 ภาพข่าว) ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าการก่อเหตุรุนแรงมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับห้วงระยะเวลาก่อนหน้า
(2) ผลการปฏิบัติงานการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ จชต. เจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้นและปิดล้อมตรวจค้นในพื้นที่ จชต.จำนวน 3,224 ครั้ง เจ้าหน้าที่ได้ใช้ประโยชน์จากสถานที่ควบคุมตัว โดยชี้แจงทำความเข้าใจและอบรมให้เกิดทัศนคติที่ถูกต้องต่อผู้ต้องสงสัย ซึ่งควบคุมตัวที่หน่วยซักถามหน่วยข่าวกรองทางทหารและศูนย์พิทักษ์สันติ รวม 15 คน ซึ่งการควบคุมตัวดังกล่าวสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี โดยห้วงที่ผ่านมาสามารถดำเนินคดีได้ จำนวน 8 คน และมีการออกหมายจับตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำนวน 11 หมาย ในด้านสถิติคดีความมั่นคงมีคดีที่เข้าสู่ชั้นพิจารณาคดีของศาล จำนวน 13 คดี และในด้านสถิติผลคำพิพากษาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จชต. มีคดีที่เข้าสู่ชั้นพิจารณาคดีของศาล จำนวน 7 คดี
(3) มาตรการลดผลกระทบต่อการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 การสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติการ โดยนำภาคประชาชนและสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือรับทราบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และแนวทางที่ 2 การสร้างความโปร่งใสในการจับกุมและควบคุมตัวเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากประชาชน และให้คลายความวิตกกังวลของญาติผู้ถูกควบคุมตัว รวมทั้งการสร้างความโปร่งใสในการออกคำสั่งเรียกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยปรับปรุงการออกคำสั่งเรียกให้มีรูปแบบที่โปร่งใสและเป็นที่ยอมรับของประชาชน
(4) การประเมินผลการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ประเมินผลจากกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐพบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อการประกาศใช้พระราชกำหนดฯ คิดเป็นร้อยละ 66.20
(5) ข้อดีและข้อเสียจากการปรับลดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ดังนี้
(5.1) ข้อดีจากการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ มีการรวมศูนย์อำนาจในการแก้ไขสถานการณ์เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการบูรณาการกำลังทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายพลเรือน ตำรวจและทหาร ทั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้รับการคุ้มครองเมื่อปฏิบัติตามหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกรณีที่จำเป็น อีกทั้งมีบทบัญญัติที่เปิดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในการควบคุมตัวผู้กระทำความผิดได้มากกว่ากฎหมายปกติ
(5.2) ข้อเสียจากการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่มีระยะเวลาและพื้นที่จำกัดในการดำเนินการ ซึ่งการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวมีขั้นตอนในการปฏิบัติ อาทิ การออกประกาศ คำสั่ง ทำให้การแก้ไขปัญหาในบางกรณีอาจไม่ทันการณ์ กฎหมายไม่มีข้อบัญญัติที่จะชดเชยให้กับผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่อีกทั้งเป็นกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ
2.2 ปัจจุบันภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยังคงมีพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ จตช. รวม 18 อำเภอ ดังนี้
จังหวัด |
พื้นที่ภายใต้ พ.ร.ก. การบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 48 (จำนวนอำเภอ) |
พื้นที่ภายใต้ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 51 (จำนวนอำเภอ) |
จำนวนอำเภอ ทั้งหมด |
นราธิวาส |
9 |
4 |
13 |
ปัตตานี |
5 |
7 |
12 |
ยะลา |
4 |
4 |
8 |
สงขลา |
- |
4 |
16 |
รวม |
18 |
19 |
49 |
37 |
2.3 ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า การขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ จชต. เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน ระงับ ยับยั้ง สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มาตรการในการจับกุม และควบคุมตัวผู้กระทำความผิด เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดี จนสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งเป็นช่องทางในการสร้างความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกิดทัศนคติที่ถูกต้อง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานจึงมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ทุกอำเภอในพื้นที่ จชต. ยกเว้น อำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และอำเภอเบตง อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 และสิ้นสุดในวันที่ 19 ตุลาคม 2567 โดยเป็นการขยายระยะเวลาการประกาศฯ เป็นครั้งที่ 77
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567
7292