รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามแนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) ของธนาคารโลก
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 July 2024 00:54
- Hits: 8071
รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามแนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) ของธนาคารโลก
คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการตามแนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) ของธนาคารโลก และการมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละด้านเร่งดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินBusiness Ready (B-READY) ของธนาคารโลกตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ โดยให้สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และข้อสังเกตของกระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ก.พ.ร. รายงานว่า
1. ธนาคารโลกได้จัดทำรายงาน Doing Business ซึ่งเป็นรายงานประจำปีที่จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อเสนอผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากธนาคารโลกมาอย่างต่อเนื่องและในรายงาน Doing Business 2020 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกได้แจ้งยกเลิกการจัดทำรายงาน Doing Business เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 เนื่องจากพบความผิดปกติงของข้อมูลในรายงาน Doing Business 2018 และ Doing Business 2020
2. ธนาคารโลกได้ประกาศแนวทางประเมิน Business Ready (B-READY) เพื่อใช้ทดแทนการประเมินเพื่อจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) โดยการเก็บข้อมูลการประเมิน Business Ready (B-READY) ในประเทศไทยของธนาคารโลกจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 และมีกำหนดประกาศผลการประเมินในปี 2569 ดังนั้นประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจและการลงทุนให้พร้อมสำหรับการประเมินภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยเกณฑ์การประเมิน Business Ready (B-READY) สรุปได้ดังนี้
ขอบเขตการประเมินแบ่งตามวงจรธุรกิจออกเป็น 10 ด้าน |
||
(1) การเข้าสู่ธุรกิจ (Business Entry) (3) การเชื่อมต่อสาธารณูปโภค (Utility Connections) (5) บริการทางการเงิน (Financial Services) (7) การจัดเก็บภาษี (Taxation) (9) การแข่งขันทางการตลาด (Market Competition) |
(2) ที่ตั้งธุรกิจ (Business Location) (4) แรงงาน (Labor) (6) การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) (8) การระงับข้อพิพาท (Dispute Resolution) (10) การล้มละลายทางธุรกิจ (Business Insolvency) |
|
ตัวชี้วัดย่อย 798 ตัวชี้วัด (เดิมตัวชี้วัดย่อยของ Doing Business มี 202 ตัวชี้วัด) |
ประเมินภายใต้ 3 เสาหลัก (Pillars) |
||
(1) กรอบการกำกับดูแล (Regulatory Framework) |
(2) การบริการสาธารณะ (Public Services) |
(3) ประสิทธิภาพ (Efficiency) |
ให้ความสำคัญกับการประเมินใน 3 ประเด็นสำคัญ (Critical Themes) ที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ได้แก่ (1) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ (Digital Adoption) (2) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) และ (3) เพศสภาพ (Gender) |
3. แนวทางการดำเนินการของภาครัฐเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY)
ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจและการลงทุนให้พร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY) ของธนาคารโลก ดังนี้
3.1 เร่งดำเนินการปรับปรุงการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามตัวชี้วัดของการประเมิน Business Ready (B-READY) โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) และประเด็นเพศสภาพ (Gender) ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่ไม่เคยมีการประเมินในรายงาน Doing Business
3.2 พัฒนาระบบการให้บริการประชาชนเป็นอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานและพัฒนาระบบหลังบ้าน (Bank Office) ของแต่ละหน่วยงานให้เชื่อมโยงกัน เพื่อลดขั้นตอน ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างแท้จริง
3.3 ปรับปรุงและพัฒนางานบริการประชาชนโดยคำนึงถึงบริบททั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตด้วย
3.4 สื่อสารการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมิน Business Ready (B-READY) และความก้าวหน้าในการดำเนินการของภาครัฐให้ภาคเอกชนและประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องก่อนที่ธนาคารโลกจะเริ่มเข้ามาสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2567
4. การดำเนินการที่ผ่านมาของสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY)
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY) ดังนี้
4.1 จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการประเมิน Business Ready (B-READY) และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจและการลงทุนของประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการจัดประชุมย่อย (Focus Group) ร่วมกับภาคเอกชนใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านแรงงาน ด้านการแข่งขันทางการตลาด และด้านที่ตั้งธุรกิจ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2566
4.2 ด้านโครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ระยะที่ 3 (Doing Business Phase 3) ร่วมกับธนาคารโลก เพื่อศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอแนะในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยและเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY) ใน 3 ด้าน ได้แก่ การชำระภาษี ด้านการค้าระหว่างประเทศ และด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
4.3 สื่อสารการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมิน Business Ready (B-READY) และความก้าวหน้าในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจและการลงทุนของประเทศไทยให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทราบ โดยได้จัดทำสื่อในรูปแบบ Infographic และวารสารรายไตรมาส “Good Governance on the Move”
5. แนวทางการดำเนินการต่อไปของสำนักงาน ก.พ.ร.
5.1 ส่งเสริมการสื่อสารการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมิน Business Ready (B-READY) ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง
5.2 วิเคราะห์ตัวชี้วัดตามแนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) เพื่อนำไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดในการขับเคลื่อนให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
5.3 เก็บข้อมูลการปฏิรูป (Reform) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินการปฏิรูปที่สอดคล้องกับกรอบการประเมิน Business Ready (B-READY) ด้วย
5.4 วิเคราะห์ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่ได้จากประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) 3 ด้าน ได้แก่ ด้านแรงงาน ด้านการแข่งขันทางการตลาด และด้านที่ตั้งธุรกิจ นำไปประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับการประเมิน Business Ready (B-READY) และความต้องการของภาคเอกชน
5.5 นำผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่ได้จากโครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ระยะที่ 3 (Doing Business Phase 3) ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการชำระภาษี ด้านการค้าระหว่างประเทศ และด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้พร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY)
5.6 วิเคราะห์ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) เกี่ยวกับการปฏิรูปภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจจากกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะอยู่ในการเก็บข้อมูลด้วยการสำรวจระดับองค์กร (Enterprise Survey) ของธนาคารโลก เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำรายงาน Business Ready (B-READY)
5.7 จัดทำวารสารรายไตรมาส “Good Governance on the Move” เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจและการลงทุนของประเทศไทย
5.8 มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY) แต่ละด้าน มีรายละเอียดตามข้อ 6
6. การมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY)
เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจและการลงทุนให้พร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY) จึงเห็นควรมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละด้าน ดังนี้
ด้านและประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการปฏิรูป |
หน่วยงานรับผิดชอบ |
|
1. ด้านการเข้าสู่ธุรกิจ (Business Entry) เช่น การใช้เลขทะเบียนเดียวในการเริ่มต้นธุรกิจ ปรับปรุงแบบฟอร์มให้ง่าย รวมขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและการขึ้นทะเบียนนายจ้างการแจ้งชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง2 ลดข้อจำกัดและปรับปรุงขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการชาวต่างชาติ |
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เจ้าภาพหลัก) - กรมสรรพากร - สำนักงานประกันสังคม - สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) |
|
2. ด้านที่ตั้งธุรกิจ (Business Location) เช่น ลดระยะเวลา ขั้นตอน และค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนทรัพย์สินและการขออนุญาตก่อสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อพิพาทด้านที่ดิน ลดข้อจำกัดและปรับปรุงขั้นตอนด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน และการขออนุญาตก่อสร้างสำหรับผู้ประกอบการชาวต่างชาติ อำนวยความสะดวกในการเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีการบังคับใช้กฎหมายอาคารอนุรักษ์พลังงาน |
- กรมที่ดิน (เจ้าภาพหลัก) - กรมพัฒนาธุรกิจการค้า - กรมโยธาธิการและผังเมือง - สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม .- กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน - กรุงเทพมหานคร |
|
3. ด้านการเชื่อมต่อสาธารณูปโภค (Utility Services) เช่น ลดระยะเวลา ขั้นตอน และค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อสาธารณูปโภค ทบทวนการกำหนดอัตราค่าบริการการใช้ไฟฟ้า ประปา และอินเทอร์เน็ต จัดทำมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) |
- การไฟฟ้านครหลวง (เจ้าภาพหลัก) - สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน - การประปานครหลวง - บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) |
|
4. ด้านแรงงาน (Labor) เช่น ทบทวนกฎระเบียบด้านแรงงานให้เป็นมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดี ลดขั้นตอน ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดการด้านแรงงาน ประกันสังคมและการจัดการกรณีพิพาทด้านแรงงาน |
- กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (เจ้าภาพหลัก) - สำนักงานประกันสังคม |
|
5. ด้านบริการทางการเงิน (Financial Services) เช่น พัฒนากฎระเบียบที่ระบุเรื่องการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence: CDD)3 เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงและเก็บข้อมูลการเข้าถึงสินเชื่อ พัฒนาระบบชำระอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) เชื่อมโยงข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจ4 ระหว่างหน่วยงานเจ้าของข้อมูลทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจผ่านระบบหลักประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ การรวบรวมข้อมูลเครดิตโดยดึงข้อมูลการชำระค่าสาธารณูปโภค |
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (เจ้าภาพหลัก) - กรมพัฒนาธุรกิจการค้า - หน่วยงานเจ้าของข้อมูล ทรัพย์สินที่จะใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ - บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด |
|
6. ด้านการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) เช่น พัฒนาระบบNational Single Window (NSW)5 และ National Digital Trade Platform (NDTP)6 ให้เป็นมาตรฐานสากล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ ชายแดน และท่าอากาศยาน ลดข้อจำกัดในการจ้างงานชาวต่างชาติ และการเข้าสู่ตลาด พัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐาน มีความเป็นสากลและสามารถ คาดเดาได้ ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Digital Trade) |
- กรมศุลกากร (เจ้าภาพหลัก) - กรมการค้าต่างประเทศ - กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ - การท่าเรือแห่งประเทศไทย - บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) - กรมการจัดหางาน - สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง - หน่วยงานเจ้าของใบอนุญาตในการนำเข้าและส่งออก |
|
7. ด้านการจัดเก็บภาษี (Taxation) เช่น ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดการด้านภาษีขยายการใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ มีการดำเนินการด้านภาษีสิ่งแวดล้อม ประสานงานร่วมกันกับสำนักงานประกันสังคมในการตรวจสอบบัญชีเงินเดือนของผู้ประกันตน |
- กรมสรรพากร (เจ้าภาพหลัก) - สำนักงานประกันสังคม |
|
8. ด้านการระงับข้อพิพาท (Dispute Resolution) เช่น มีการกำหนดระยะเวลามาตรฐานในการจัดการคดีรวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการบังคับคดี มีกลไกการไกล่เกลี่ยอนุญาโตตุลาการ การระงับข้อพิพาททางเลือก7 |
- สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) (เจ้าภาพหลัก) |
|
9. ด้านการแข่งขันทางการตลาด (Market Competition) เช่น มีมาตรการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาดของภาครัฐ ลดการใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตรวจสอบและพัฒนากฎระเบียบเพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้า |
- กรมบัญชีกลาง (เจ้าภาพหลัก) - สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ - สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) |
|
10. ด้านการล้มละลายทางธุรกิจ (Business Insolvency) เช่น มีกระบวนการล้มละลายแบบพิเศษสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ปรับปรุงกระบวนการล้มละลายและฟื้นฟูการให้มีประสิทธิภาพ จัดตั้งศาลชำนัญพิเศษด้านการล้มละลายหรือมีผู้พิพากษาเฉพาะด้านการล้มละลาย |
- กรมบังคับคดี (เจ้าภาพหลัก) - ศย. |
7. ก.พ.ร. ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 มีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามแนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) ของธนาคารโลก และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
__________________________________________________
1 ธนาคารโลกได้ตรวจสอบเป็นการภายในแล้วพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์โดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลก โดยการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าว ทำให้ข้อมูลของจีนในรายงาน Doing Business 2018 และข้อมูลของซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในรายงานตัว Doing Business 2020 ดีกว่าข้อมูลที่ควรจะเป็นและข้อมูลของอาเซอร์ไบจานในรายงาน Doing Business 2020 ด้อยกว่าที่ควรจะเป็น ต่อมาธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงานผลการสืบสวนเรื่องดังกล่าวที่จัดทำโดยสำนักงานกฎหมายจากภายนอกพบว่า มีผู้บริหารระดับสูงของธนาคารโลกใช้อิทธิพลกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าว
2ตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 “ผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง” หมายความว่าบุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงหรือมีอำนาจควบคุมความสัมพันธ์ทางธุรกิจของลูกค้ากับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 (บุคคลที่มีหน้าที่ต้องรายการการทำธุรกรรมต่อสำนักงาน ปปง. เช่น ผู้ประกอบอาชีพที่ปรึกษาการลงทุน ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำ) หรือบุคคลที่ลูกค้าทำธุรกรรมแทน รวมถึงบุคคลผู้ใช้อำนาจควบคุมนิติบุคคลหรือบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย
3การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence: CDD) เป็นมาตรการคัดกรองลูกค้าของสถาบันการเงินและผู้ประกอบการอาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอนุภาพทำลายล้างสูง โดยต้องมีกระบวนการในการระบุและพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้า และประเมินและบริหารความเสี่ยงของลูกค้าทุกราย รวมทั้งตรวจสอบธุรกรรมที่ลูกค้าได้ทำขึ้นเพื่อบริหารและบรรเทาความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศไทยยังมีข้อบกพร่องในกรอบด้านกฎหมายหลายประการ รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการทดสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงของลูกค้า
4พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ตราขึ้นเพื่อรองรับการนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นประกันการชำระหนี้ในลักษณะที่ไม่ต้องส่งมอบการครอบครองแก่เจ้าหนี้โดย “สัญญาหลักประกันทางธุรกิจ” คือสัญญาซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้หลักประกัน ตราทรัพย์สินไว้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับประกัน เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่จำเป็นต้องมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับหลักประกัน และ “หลักประกัน” ได้แก่ทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ (1) กิจการ (2) สิทธิเรียกร้อง (3) อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า (4) อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง (5) ทรัพย์สินทางปัญญา และ (6) ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
5ระบบ National Single Window (NSW) เป็นระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจสำหรับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ เน้นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ (Government to Government: G2G ) และหน่วยงานของรัฐกับภาคเอกชน (Business to Government: B2G) โดยเชื่อมโยงข้อมูลแบบไร้เอกสารระหว่างกรมศุลกากรและผู้ประกอบการค้า ธนาคาร บริษัทเรือ สายการบิน หน่วยงานรัฐต่างๆ และรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศในภูมิภาคอื่นๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการบริการแบบเบ็ดเสร็จจากการติดต่อเพียงจุดเดียวไม่ต้องกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกัน มีการใช้ข้อมูลร่วมกันกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง และการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตและใบรับรองระหว่างหน่วยงานภาครัฐภายในประเทศและระหว่างประเทศมีกรมศุลกากรเป็นเจ้าภาพ
6แพลตฟอร์มการค้าระหว่างประเทศของไทย (National Digital Trade Platform: NDTP) เป็นแพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมโยงและส่งผ่านข้อมูลไปยังระบบดิจิทัลของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคการประกันภัย ภาคการเงิน การธนาคาร ภาคผู้ประกอบการ และภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งในและนอกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้มาตรฐานทางดิจิทัลเดียวกัน ที่มีความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลระบบ National Single Windows (NSW) เน้นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาคเอกชน (Business to Business: B2B) ซึ่งจะเป็นการปรับเปลี่ยนระบบและกระบวนการทำงานจากการค้าแบบดั้งเดิมให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ลดความซ้ำซ้อนในการกรอกข้อมูลในกระดาษ ลดเวลาและต้นทุนในการนำส่งเอกสารต้นฉบับแบบดั้งเดิม ยกระดับความโปร่งใสในกระบวนการของการค้าระหว่างประเทศโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร มีภาคเอกชนเป็นเจ้าภาพ ดำเนินการโดยบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้พัฒนาและให้บริการโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของไทยรวมทั้งระบบพร้อมเพย์ ขณะนี้การพัฒนาระบบยังอยู่ในระยะนำร่อง โดยที่ผ่านมามีการจัดทำระบบต้นแบบ (Prototype) เพื่อนำเสนอในช่วงการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคของไทยในปี พ.ศ. 2565
7การระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution) คือการระงับข้อพิพาทโดยไม่ใช้วิธีฟ้องศาล เป็นทางเลือกเพื่อให้ข้อพิพาทยุติได้อย่างรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่ากระบวนการตัดสินของศาล มีวิธีที่สำคัญ เช่น (1) การเจรจา (Negotiation) โดยคู่กรณีเจรจากันเองโดยไม่มีบุคคลที่สาม (2) การไกล่เกลี่ย (Mediation) และการประนอมข้อพิพาท (Conciliation) โดยมีบุคคลที่สามซึ่งเป็นคนกลางเข้ามาช่วยเหลือเสนอแนะ หาทางออก โดยคู่กรณีเป็นผู้ตัดสินใจเอง (3) อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) โดยคู่กรณีตกลงกันให้บุคคลที่สามที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระเป็นผู้ทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าวและคู่กรณีจะต้องยอมรับคำวินิจฉัยชี้ขาดและผูกพันที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้นด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567
7289