ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 July 2024 00:20
- Hits: 7970
ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (30 มกราคม 2567) เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4 (The 4th ASEAN Digital Ministers’ Meeting: The 4 th ADGMIN) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 ฉบับ1 และหากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างเอกสารดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ ดศ. ดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังพร้อมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ซึ่งต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเมื่อวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ (นางโจเซฟิน เตียว) ทำหน้าที่ประธานการประชุม
2. ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
2.1 การกล่าวถ้อยแถลงและแลกเปลี่ยนมุมมองภายใต้หัวข้อหลัก คือ “การสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัลที่ครอบคลุมและเชื่อถือได้” (Building an Inclusive and Trusted Digital Ecosystem) ของผู้แทนไทย สรุปได้ ดังนี้
2.1.1 การนำเสนอนโยบาย “The Growth Engine of Thailand” ในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (2) การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และ (3) การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล
2.1.2 การรับมือกับปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ได้แก่ การออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC)
2.1.3 การกล่าวขอบคุณอาเซียนที่สนับสนุนข้อเสนอของไทยในการจัดตั้งคณะทำงานอาเซียนด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ [The ASEAN Working Group on Anti - Online Scam (WG - AS)] เพื่อร่วมกันยกระดับความร่วมมือด้านการป้องกันและรับมือกับปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ของอาเซียนซึ่งเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติระดับโลก ดังนั้น อาเซียนต้องร่วมกันบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ได้อย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ประชาชนในภูมิภาคอาเซียน
2.1.4 การกล่าวสนับสนุนความร่วมมือด้านดิจิทัลที่สำคัญ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ของอาเซียน
2.2 การรับรองปฏิญญาสิงคโปร์ (Singapore Declaration) และการกล่าวถ้อยแถลงข่าวร่วมสำหรับการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยยังคงไว้ซึ่งสาระสำคัญตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (30 มกราคม 2567) เห็นชอบไว้แล้ว ได้แก่
ย่อหน้า |
รายละเอียดที่ปรับแก้ไข |
ปฏิญญาสิงคโปร์ (Singapore Declaration) |
|
3 |
ปรับเพิ่มถ้อยคำ “removal” หรือ “การรื้อถอน” สายเคเบิลใต้น้ำ เพื่อให้มีความครอบคลุม การอำนวยความสะดวกในการดำเนินการเกี่ยวกับเคเบิลใต้น้ำร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน |
6 |
ปรับเพิ่มถ้อยคำ “bridge the digital divide, enhance digital Iiteracy” หรือ “การลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล” เพื่อประโยชน์ของการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น |
ถ้อยแถลงข่าวร่วมสำหรับการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง |
|
11 |
ปรับเพิ่มถ้อยคำ “welcome” เพื่อให้มีความถูกต้องและเหมาะสม |
14 |
ปรับเพิ่มเรื่องการตระหนักถึงความสำคัญของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างประเทศประเภทบริการข้ามแดนอัตโนมัติในอาเซียน |
15 |
ปรับเพิ่มเรื่องการตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงข่าย 5G ในอาเซียน |
18 |
ปรับเพิ่มเรื่องการรับรองแผนการดำเนินการด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนและจีน (ASEAN -China 2024 Digital Work Plan) และเห็นพ้องที่จะร่วมกันพัฒนาข้อเสนอแนวคิดข้อริเริ่มจีน - อาเซียน ในด้านการอำนวยความสะดวกความร่วมมือในการสร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัลที่ยั่งยืนและครอบคลุม (The China - ASEAN Initiative on Facilitating Cooperation in Building Sustainable and Inclusive Digital Ecosystem) |
20 |
ปรับเพิ่มข้อความการแสดงความยินดีกับโครงการ ASEAN Cyber Shield ซึ่งมีวัตถุประสงค์การสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ และการรับรองแผนการดำเนินการด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี ปี 2567 (The 2024 ASEAN - ROK Digital Work Plan) |
22 |
ปรับเพิ่มถ้อยคำให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอแนวคิดโครงการ ASEAN AI Roadmap เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานด้าน Al สำหรับอาเซียนในอนาคต |
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกำหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเดือนมกราคม 2568 ณ กรุงเทพมหานคร
3. การอนุมัติงบประมาณจากกองทุน ASEAN ICT Fund2 ประจำปี 2567
ที่ประชุมอนุมัติงบประมาณจากกองทุน ASEAN ICT Fund สำหรับดำเนินงานโครงการภายใต้กรอบการประชุมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล (ASEAN Digital Senior Officials' Meeting: ADGSOM) และกรอบการประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน ประจำปี 2567 จำนวน 15 โครงการ รวมเป็นเงินจำนวน 602,444.70 ดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้รับการอนุมัติจำนวน 1 โครงการ คือ โครงการ ASEAN Digital Awards 2025 เป็นเงินจำนวน 76,300 ดอลลาร์สหรัฐ
3. ผลการประชุม ADGMIN กับคู่เจรจา [จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สาธารณรัฐอินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU] ที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
3.1 การรับรองแผนการดำเนินการด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียน – จีน อาเซียน - ญี่ปุ่น อาเซียน - เกาหลีใต้ และอาเซียน - อินเดีย สำหรับปี 2567
3.2 รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินกิจกรรม/โครงการความร่วมมือตามแผนการดำเนินการด้านดิจิทัล สำหรับปี 2566 เช่น ความเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
3.3 รับทราบเอกสารความร่วมมือในประเด็นสำคัญระหว่างอาเซียนและ ITU ประจำปี 2567-2569 โดยมีประเด็นความร่วมมือสำคัญ เช่น ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การสร้างความเท่าเทียมทั่วถึงทางดิจิทัลนโยบายโทรคมนาคมและดิจิทัล
4. ผลการหารือทวิภาคี
ประเทศคู่เจรจา |
ประเด็นการหารือ |
จีน |
หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะประเด็นด้านธรรมาภิบาล นโยบายคลาวด์ เทคโนโลยี 5G ที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย |
สิงคโปร์ |
หารือเกี่ยวกับการจัดการปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ (Anti - Online Scam) และการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ Start - Ups ของทั้งสองฝ่าย - การพิจารณาเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement: DEPA) ของไทย - ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการต่ออายุบันทึกความเข้าใจระหว่าง ดศ. และกระทรวงการสื่อและสารสนเทศของสิงคโปร์ |
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) |
- หารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาคลื่นความถี่บริเวณชายแดนและการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงออนไลน์ (Anti - Online Scam) โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ - ติดตามความก้าวหน้าและการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่าง ดศ. และกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารแห่ง สปป.ลาว โดยทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาการหารือระดับรัฐมนตรีระหว่างกันต่อไป - ไทยยินดีให้การสนับสนุน สปป.ลาว ในการแลกเปลี่ยนความรู้และการดำเนินการในเรื่องการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (Digital ID) รวมถึงการให้บริการของภาครัฐผ่านแอปพลิเคชัน เช่น เป๋าตัง ThaID เป็นต้น |
กัมพูชา |
- การติดตามการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่าง ดศ. และกระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งกัมพูชาว่าด้วยความร่วมมือด้านการปราบปรามแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam (แผนประทุษกรรมของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติในคดีหลอกลงทุนสกุลเงินดิจิทัล) การบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันและปราบปราม โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานและหารือร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา - หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อเพิ่มโอกาสและรายได้ให้กับทั้งสองประเทศ โดยจะมีการหารือในรายละเอียดต่อไป |
มาเลเซีย |
หารือในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยร่วมกันการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อส่งเสริมและยกระดับมาตรการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ Start – ups โดยมาเลเซียเสนอให้มีความร่วมมือสามฝ่าย ระหว่างมาเลเซีย บรูไนดารุสซาลาม และไทย รวมถึงการพิจารณาจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกันต่อไป |
5. ประโยชน์และผลกระทบ
5.1 ประเทศไทยมีบทบาทนำสำคัญในการยกระดับความร่วมมือและ การดำเนินงานของอาเซียน เพื่อจัดการและรับมือกับปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์เพื่อก่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านการจัดตั้งคณะทำงานอาเซียนด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งมีกำหนดจะจัดการประชุมคณะทำงานดังกล่าว (ครั้งที่ 1) ในเดือนมีนาคม 2567 ณ กัมพูชา
5.2 การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ADGSOM ครั้งที่ 5 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเดือนมกราคม 2568 ณ กรุงเทพมหานคร จะช่วยส่งเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศไทย และส่งผลตีต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม รวมทั้งสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของประเทศไทยในเวทีอาเซียนด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน
5.3 ดศ. จะดำเนินการขยายความร่วมมือกับประเทศต่างๆ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนของไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองฝ่าย
_____________
1เอกสารการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัล (2) ร่างปฏิญญาสิงคโปร์ (3) ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมสำหรับการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (4) ร่างแนวปฏิบัติธรรมาภิบาลและจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน - รายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน (ระยะ 2) (5) ร่างแนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรปและข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียนสำหรับการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ (ระยะ 2) (6) ร่างรายงานทบทวนการดำเนินงานระยะกลางของแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 (7) ร่างเอกสารต้นแบบทางการเงินสำหรับการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ซองอาเซียน (8) ร่างเอกสารพื้นที่นำร่องด้านการกำกับดูแลเพื่ออำนวยความสะดวกของการไหลเวียนข้อมูลดิจิทัลข้ามพรมแดนสำหรับการใช้งานรถยนต์ไร้คนขับในอาเซียน (9) ร่างเอกสารกรอบการดำเนินงานอาเซียนด้านโลจิสติกส์ของห่วงโซ่อุปทานเศรษฐกิจดิจิทัลสำหรับพื้นที่ชนบท (10) ร่างเอกสารการประเมินความเกี่ยวข้องระหว่างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและทักษะด้านดิจิทัล และการไหลเข้าของการลงทุนจากต่างประเทศสู่ภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอาเซียน: การระบุทางเลือกด้านนโยบายเพื่อปรับปรุงการดึงดูดด้านการลงทุน (11) ร่างเอกสารการจัดทำมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน (12) ร่างเอกสารกรอบการดำเนินงานของคณะทำงานอาเซียนด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์2 กองทุนไอซีทีอาเซียน (ASEAN ICT Fund) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนที่สามารถดำเนินโครงการและกิจกรรมการพัฒนาไอซีทีในด้านต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็ว โดยที่ผ่านมาประเทศสมาชิกอาเซียนได้สนับสนุนเงินเข้ากองทุนฯ แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินกองทุนฯ จะถูกจัดสรรให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ เพื่อนำไปจัดทำแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมเป็นประจำทุกปี (โครงการที่ขอรับสนับสนุนจะต้องเป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกอาเซียน) ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยได้รับการสนับสนุนเงินเพื่อดำเนินโครงการแล้วรวมทั้งสิ้น 24 โครงการ วงเงินรวม 889,200 ดอลลาร์สหรัฐ (รวมโครงการในปีนี้ด้วย) เช่น โครงการ Develop guidelines and promote awareness on child and youth online risk and protection วงเงิน 18,500 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดำเนินการในปี ค.ศ. 2020 โครงการ Study on ICT Startup Problems and Developing Policy for their Growth วงเงิน 44,200 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดำเนินการในปี ค.ศ. 2021
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567
7284