ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 03 July 2024 00:05
- Hits: 8994
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567
คณะรัฐมนตรีมีติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2029 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2567 ตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (ประธาน คกง.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติให้จังหวัดตรังเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ปี 2565 (โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ ปี 2565) โดยขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการพัฒนาวนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสุขภาพ (โครงการพัฒนาวนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตังฯ) วงเงิน 20.9000 ล้านบาท จากเดิม เดือนธันวาคม 2566 เป็น เดือนเมษายน 2567 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้จังหวัดตรังเร่งปรับปรุงรายละเอียดของโครงการในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform: eMENSCR) (ระบบ eMENSCR) และเบิกจ่ายเงินให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด
2. รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ราย 3 เดือน ครั้งที่ 10 (1 พฤศจิกายน 2566 - 31 มกราคม 2567) พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คกง. ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
3. รับทราบแนวทางการปิดบัญชี “เงินกู้ตามพระราชกำหนด COVID - 19 (ปี 2564)” และการเตรียมแหล่งเงินรองรับกรณีการตรวจสอบเหตุทุจริตของโครงการภายใต้ พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พร้อมทั้งให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ต้องดำเนินโครงการและเบิกจ่ายเงินโครงการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี รวมถึงส่งเงินกู้เหลือจ่ายคืนเข้าบัญชี “เงินกู้ตามพระราชกำหนด COVID – 19 (ปี 2564)” ภายใน 3 เดือน นับจากวันที่สิ้นสุดการดำเนินโครงการพัฒนาวนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตังฯ ที่ได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการเบิกจ่ายตามมติคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานพิจารณาบริหารเงินงบประมาณของหน่วยงานเป็นลำดับแรก (รวมถึงกรณีการตรวจสอบเหตุทุจริตของโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564)
สาระสำคัญของเรื่อง
เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธาน คกง. ได้รายงานผลการพิจารณาของ คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2567 โดยมีมติ ดังนี้
1. เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ กรณีโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ ปี 2565 ของกระทรวงมหาดไทย (มท.) จำนวน 1 จังหวัด (จังหวัดตรัง) รวม 1 โครงการ (โครงการพัฒนาวนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตังฯ) กรอบวงเงิน 20.9000 ล้านบาท โดยขอขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ จากเดิมสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2566 เป็นเดือนเมษายน 2567 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว และให้จังหวัดตรังเร่งปรับปรุงรายละเอียดของโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความ เข้มแข็งฯ ปี 2565 ในระบบ eMENSCR และเบิกจ่ายเงินให้แล้วแสร็จตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ ปี 2565 ดำเนินการเสร็จแล้ว คงเหลือ การเบิกจ่ายเงินตามขั้นตอน
2. เห็นชอบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ราย 3 เดือน ครั้งที่ 10 (1 พฤศจิกายน 2566 – 31 มกราคม 2567) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ประเภทโครงการ |
จำนวน โครงการ |
รายละเอียด |
(1) โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ |
2,338 |
- กรอบวงเงินอนุมัติรวม 464,491.16 ล้านบาท โดยมีผลการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 445,368.20 ล้านบาท (ร้อยละ 95.88 ของกรอบวงเงินอนุมัติ) ประกอบด้วย (1) แผนงานที่ 1 จำนวน 43 โครงการ1 (1) แผนงานที่ 2 จำนวน 31 โครงการ1 (1) แผนงานที่ 3 จำนวน 2,264 โครงการ1 |
(1.1) โครงการของส่วนราชการ |
83 |
วงเงินอนุมัติรวม 459,824.12 ล้านบาท โดยมีผลการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 441,140.24 ล้านบาท (ร้อยละ 95.94 ของกรอบวงเงินอนุมัติ) |
(1.2) โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ ปี 2565 |
2,255 |
วงเงินอนุมัติรวม 4,667.04 ล้านบาท โดยมีผลการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 4,227.96 ล้านบาท (ร้อยละ 90.59 ของกรอบวงเงินอนุมัติ) |
(2) โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ |
2 |
- โครงการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรค วงเงินอนุมัติรวม 34,680.16 ล้านบาท โดยมีผลการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 28,604.96 ล้านบาท (ร้อยละ 82.48 ของกรอบวงเงินอนุมัติ) ดังนี้ (1) โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย จำนวน 30,002,310 โดส (Pfizer) ปี พ.ศ. 2565 ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการส่งมอบวัคซีนและตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของเอกสารการเบิกจ่าย (ปัจจุบันการดำเนินการดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว) (2) โครงการจัดหาวัคซีนฯ AZ - คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 อนุมัติให้ สธ. (กรมควบคุมโรค) เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการจัดหาวัคซีนฯ AZ ในส่วนที่ยังไม่ได้รับการส่งมอบจำนวน 19,074,400 โดส เป็นการจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long – acting antibody: LAAB)2 รุ่นใหม่ จำนวน 36,000 โดส ส่งผลให้กรอบวงเงินโครงการจัดหาวัคซีนฯ AZ ลดลงจาก 18,382,4643 ล้านบาท เป็น 13,634.8712 ล้านบาท หรือลดลงจำนวน 4,747.5931 ล้านบาท - ณ เดือนมกราคม 2567 สธ. (กรมควบคุมโรค) อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการ เนื่องจากเห็นว่าอาจไม่สามารถเบิกจ่ายเงินส่วนที่เหลือได้ภายในเดือนมีนาคม 25673 |
(3) โครงการที่อยู่ระหว่างขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ |
2 |
โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ ปี 2565 วงเงินรวม 26.30 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่าย 12.80 ล้านบาท (ร้อยละ 48.65 ของกรอบวงเงินอนุมัติ) ดังนี้ (1) โครงการพัฒนาวนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตังฯ จังหวัดตรัง กรอบวงเงิน 20.90 ล้านบาท โดยสถานะ ณ เดือนมกราคม 2567 หน่วยงานรับผิดชอบโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินงวดงานส่วนที่เหลือได้ เนื่องจากสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินโครงการ [ข้อเสนอในครั้งนี้] (2) โครงการปรับภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวหาดอ่าวนางฯ จังหวัดกระบี่ กรอบวงเงิน 5.40 ล้านบาท ณ เดือนมกราคม 2567 ผู้รับเหมาได้ส่งมอบงานครบถ้วนแล้ว แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินงวดงานที่เหลือได้ เนื่องจากสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินโครงการ [มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้จังหวัดกระบี่ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นสิ้นสุดเดือนเมษายน 2567 แล้ว] |
รวม |
2,342 |
|
ทั้งนี้ ให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คกง. ตามชั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ดังนี้
2.1 กรณีโครงการแล้วเสร็จ ให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการเร่งดำเนินการคืนวงเงินเหลือจ่าย พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของการเบิกจ่ายให้ครบถ้วนก่อนจัดส่งรายงานผลสำเร็จของโครงการให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) โดยเร็วตามขั้นตอนข้อ 21 และ 22 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2564)
2.2 กรณีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ สำหรับกรณีโครงการจัดหาวัคซีนฯ AZ ให้กรมควบคุมโรคเร่งบริหารสัญญาโดยการเจรจากับบริษัท AZ เพื่อยุติสัญญาการจัดซื้อวัคซีน AZ ที่ยังไม่ได้ส่งมอบจำนวน 19,074,400 โดส ตามแนวทางที่กรมควบคุมโรคพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม พร้อมทั้งปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของข้อสัญญา โดยในกรณีที่ไม่สามารถยุติสัญญาการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าวได้ ให้กรมควบคุมโรคเตรียมหาแหล่งเงินอื่นสำหรับดำเนินการส่วนที่เหลือต่อไป
3. รับทราบแนวทางการปิดบัญชี “เงินกู้ตามพระราชกำหนด COVD – 19 (ปี 2564)” และการเตรียมแหล่งเงินรองรับกรณีการตรวจสอบเหตุทุจริตของโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 สรุปได้ ดังนี้
3.1 หน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ต้องดำเนินโครงการและเบิกจ่ายเงินโครงการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี รวมถึงส่งเงินกู้เหลือจ่ายคืนเข้าบัญชี “เงินกู้ตามพระราชกำหนด COVID - 19 (ปี 2564)” ภายใน 3 เดือน นับจากวันที่สิ้นสุด (เดือนเมษายน 2567) การดำเนินโครงการพัฒนาวนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตังฯ ที่ได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการเบิกจ่ายตามมติคณะรัฐมนตรี ให้หน่วยงานพิจารณาบริหารเงินงบประมาณของหน่วยงานเป็นลำดับแรก (รวมถึงกรณีการตรวจสอบเหตุทุจริตของโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564)
3.2 ให้ สบน. รวบรวมข้อมูลและนำส่งคืนคลังเพื่อรายงาน คกง. ทราบ หลังจากนั้น สบน. จะส่งเงินและแจ้งกรมบัญชีกลางปิดบัญชี “เงินกู้ตามพระราชกำหนด COVID - 19 (ปี 2564)” ต่อไป
__________________
1แผนงานที่ 1: แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข แผนงานที่ 2: แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ค่าใช้จ่ายของประชาชน และแผนงานที่ 3: แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
2 LAAB (Long Acting Antibody) คือ แอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว สำหรับใช้เพื่อการป้องกันและรักษาโรคโควิด 19 โดยใช้ในกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้ไม่เพียงพอจากโรคต่างๆ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่ได้รับยา กดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยล้างไต รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้ ซึ่ง LAAB มีความแตกต่างจากวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 คือ LAAB เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้วจะสามารถสร้างภูมิต้านทานได้ทันที ส่วนวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน (ใช้เวลาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์) หลังฉีดเข้าร่างกาย
3 สธ. แจ้งว่า ปัจจุบันบริษัท AstraZeneca (บริษัท AZ) ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียน LAAB กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ จึงคาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในระยะเวลาสิ้นสุดโครงการเดือนมีนาคม 2567 (ตามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566) ซึ่งกรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท AZ เพื่อขอยุติสัญญาการจัดซื้อวัคซีนฯ AZ ที่ยังไม่ได้รับมอบต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 กรกฎาคม 2567
7082