มาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 02 July 2024 23:51
- Hits: 9134
มาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณาและความเห็นในภาพรวมของข้อเสนอแนะตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรับทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 เมษายน 2567) รับทราบข้อเสนอแนะตามมาตรการฯ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ และให้ กค. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) [สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ] กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงบประมาณ (สงป.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้ กค. สรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจาก สลค. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
2. คณะรัฐมนตรีมีมติ (11 มิถุนายน 2567) รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 (ตามข้อ 1) ตามที่ กค. เสนอ เช่น การสอบถามความเห็นตามข้อเสนอแนะของมาตรการฯ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 9 หน่วยงานการจัดประชุมเพื่อระดมความเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากได้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 และให้ กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้ กค. สรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไปภายใน 2 สัปดาห์ รวมทั้งให้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการในเรื่องนี้ของ กค. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า ได้พิจารณาข้อเสนอแนะตามมาตรการฯ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 11 ประเด็น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นรวม 9 หน่วยงาน ได้แก่ (1) กต. (2) อว. (สวทช.) (3) พณ. (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) (4) มท. (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) (5) สธ. (6) อก. [สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)] (7) สงป. (8) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ (9) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ซึ่ง กค. ได้มีหนังสือถึงหน่วยงานดังกล่าวเพื่อขอทราบความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในแต่ละประเด็นปัญหาและได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เพื่อให้ได้ข้อยุติร่วมกันและได้มีการรับรองรายงานการประชุมเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ทั้งนี้ สามารถสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. |
สรุปผลการพิจารณา |
|
(1) ประเด็นที่หน่วยงานต้องดำเนินการต่อ จำนวน 5 ประเด็น |
||
(1.1) การดำเนินนโยบายที่อาจมีอุปสรรค หากในอนาคตประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกความตกลงการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement Agreement: GPA) และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) (ปัจจุบันไทยยังไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกแต่เป็นผู้สังเกตการณ์) ควรให้ กค. พณ. และ กต. นำแนวทางที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 การขอใช้มาตรการในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional measures) เช่น การใช้แต้มต่อซึ่งประกาศไว้ล่วงหน้า* เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในไทย และแนวทางที่ 2 การระบุข้อยกเว้นสำหรับภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มธุรกิจเป้าหมายมาใช้ประกอบการขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว |
ให้ กต. พณ. (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) และ กค. (กรมบัญชีกลาง) นำทั้ง 2 แนวทางไปใช้ประกอบการพิจารณาเจรจาต่อไป |
|
(1.2) ปัญหานวัตกรรมไทยไม่มีความชัดเจน ควรกำหนดแนวทางในการให้สิทธิพิเศษแก่ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยให้มีความแตกต่างกันตามระดับนวัตกรรมไทย ซึ่งอาจจำแนกระดับนวัตกรรมไทยออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับที่ 1 นวัตกรรมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และระดับที่ 2 นวัตกรรมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยและในการจำแนกระดับนวัตกรรมไทย ควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจนและครอบคลุมถึงความเหมาะสมในประเด็นต่างๆ |
ให้ สวทช. นำข้อแนะไปดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สวทช. อยู่ระหว่างศึกษาเรื่องนี้และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ ให้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร การจำแนกกลุ่มสินค้าบัญชีนวัตกรรมในรูปแบบ ที่ทำให้สิทธิประโยชน์เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ความเป็นไปได้ในการกำหนด Local Content ร้อยละ 50 รวมทั้งให้มีแนวทางการตรวจสอบด้วย |
|
(1.3) ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากภาครัฐ ควรทบทวนหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น โดยกำหนดแนวทางการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การร่วมกับ สมอ. กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม |
- ให้ สวทช. รับข้อเสนอแนะไปดำเนินการโดยให้ประสานกับ สมอ. เพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับสินค้าบัญชีนวัตกรรมไทยที่เป็นสินค้าใหม่ที่ยังไม่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย - ให้ สมอ. ร่วมกับ สวทช. กำหนด มอก. ให้กับสินค้าที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยมากขึ้น - สวทช. อยู่ระหว่างการทบทวนหลักเกณฑ์การตรวจสอบคุณสมบัติผลงานนวัตกรรมครอบคลุมถึงสินค้าที่อยู่ในบัญชีเดิมและสินค้ารายการใหม่ที่กำลังจะขึ้นทะเบียนโดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน |
|
(1.4) ภาครัฐขาดการติดตามและประเมินผลการจัดซื้อ จัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย ที่มีประสิทธิภาพ ควรกำหนดแนวทางในการติดตาม และประเมินผลในเรื่องดังกล่าวให้มีความชัดเจน เช่น แนวทาง การติดตามและประเมินผลการใช้งบประมาณภาครัฐ ในการจัดซื้อ จัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย โดยเชื่อมโยงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุส่งเสริม นวัตกรรม (สงป.) และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย อิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement System: e-GP) (กรมบัญชีกลาง) เข้าด้วยกัน |
ทุกหน่วยงานเห็นด้วย โดยมอบ สวทช. ประเมินผลสัมฤทธิ์ของสินค้าในบัญชีนวัตกรรมไทย ทั้งในด้านการใช้งานและคุณภาพ |
|
(1.5) การแข่งขันไม่เป็นไปตามกลไกการตลาดอย่างเป็นธรรมและความเสี่ยงในการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขายรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนแนวทางการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมโดยตรงจากผู้ประกอบการที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมนั้นๆ ได้มีการกำหนดราคาไว้แล้ว รวมทั้งการให้สิทธิพิเศษแก่หน่วยงานของรัฐในการจัดซื้อ จัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อป้องกันไม่ให้นโยบายดังกล่าวเป็นช่องว่างแห่งกฎหมายที่นำไปสู่ความเสี่ยงของการเป็นตลาดผู้ขาย การผูกขาด และการทุจริตเชิงนโยบาย |
- ให้ สวทช. ปรับลดระยะเวลาการส่งเสริมสนับสนุนให้เหมาะสมและกำหนดกรอบวงเงินรายได้ - ให้ สงป. ปรับปรุงราคาให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง |
|
(2) ไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา จำนวน 5 ประเด็น |
||
(2.1) คุณสมบัติของผู้ขายผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคากับหน่วยงานของรัฐควรกำหนดแนวทางการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จำหน่ายและผู้แทนจำหน่ายให้มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคากับหน่วยงานของรัฐก่อนการประกาศขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย |
ไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา เนื่องจากในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีการตรวจสอบการมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่แล้ว ประกอบกับสำนักงาน ป.ป.ช. เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่จะต้องกำชับให้มีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด |
|
(2.2) ผู้ประกอบการไม่แสดงข้อมูลโครงสร้างราคาต้นทุนของผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย ควรกำหนดแนวทางการให้สิทธิพิเศษแก่ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยเพิ่มเติม เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูลโครงสร้างราคาต้นทุนของผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย โดยมี สงป. เป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาความลับข้อมูล |
ไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา เนื่องจากเป็นเรื่องที่ สงป. ดำเนินการอยู่แล้ว โดยผู้ประกอบการรายใดที่ไม่ยื่นแบบโครงสร้างราคาต้นทุนของผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยและเอกสารประกอบ ที่จำเป็น สงป. จะไม่ตรวจสอบราคา จัดทำและประกาศบัญชีนวัตกรรมไทยจนกว่าจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน |
|
(2.3) ระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทยมีการกำหนดชื่อและรหัสผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยไม่ตรงกับชื่อและรหัสสินค้าหรือบริการในระบบ e-GP ควรกำหนดแนวทางการปรับปรุงฐานข้อมูลในระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทยของ สงป. ให้มีชื่อและรหัสตรงกับชื่อและรหัสสินค้าหรือบริการในระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลางและในระยะยาวอาจพิจารณาจัดทำหมวดรายการผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยในระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทยให้เป็นรหัสมาตรฐานสากล (UNSPSC) |
ไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา เนื่องจาก (1) การตั้งชื่อผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยของ สงป. และกรมบัญชีกลางมีความสอดคล้องกันอยู่แล้ว (2) ปัจจุบันระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลางรองรับการค้นหารหัสบัญชีนวัตกรรมไทยของ สปง. อยู่แล้ว (3) การค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ของ สงป. ไม่ได้กำหนดให้ค้นด้วยรหัส UNSPSC แต่สามารถ ค้นได้ด้วยชื่อผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยที่ สงป. กำหนด ส่วนการค้นหาในระบบ e-GP สามารถค้นได้ทั้งรหัส UNSPSC และชื่อผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย |
|
(2.4) ภาครัฐขาดการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงานควรกำหนดแนวทางการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย เพื่อให้ถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน |
ไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา เนื่องจากข้อหารือมีจำนวนน้อยและไม่ซับซ้อน รวมทั้งแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐไม่ขัดแย้งกับความเห็นของสำนักงาน ป.ป.ช. จึงยังไม่จำเป็นต้องซักซ้อมความเข้าใจในตอนนี้ประกอบกับหน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้ |
|
(2.5) ปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อยาในบัญชีนวัตกรรมไทย ควรให้ สธ. และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ขับเคลื่อนข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เช่น การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมและกฎหมายอื่นที่มีความเกี่ยวข้องให้แก่บริษัทผู้จำหน่ายยาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง |
ไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา เนื่องจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อย. และสำนักงาน ป.ป.ช. มีการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวอยู่แล้ว โดยมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประกาศ สธ. เรื่อง เกณฑ์จริยธรรมการจัดซื้อจัดหาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาของ สธ. พ.ศ. 2564 |
|
(3) ประเด็นที่ควรเน้นในการดำเนินการ จำนวน 1 ประเด็น |
||
การปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดควรให้ สงป. มท. และ กค. (กรมบัญชีกลาง) กำหนดแนวทาง ในการกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติงานตามกฎหมาย ระเบียบ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด |
ควรเน้นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบโดยให้ความสำคัญเรื่องวงเงิน การตรวจสอบหน่วยงานที่ดำเนินการผิดบ่อยครั้งรวมทั้งควรมีวิธีการรายงานให้ภาคประชาชนทราบด้วย |
* สมาชิกความตกลงสามารถต่อรองเงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างประเทศได้ตามความเหมาะสม โดยต้องมีการตกลงหรือหารือกันไว้ล่วงหน้า
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 กรกฎาคม 2567
7081