แนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 02 July 2024 22:46
- Hits: 9240
แนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. แนวทางการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บน1 เพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ
2. ผลประโยชน์และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าที่ กค. ได้ศึกษาไว้ในเบื้องต้น ทั้งนี้ กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการติดตามและประเมินผลของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าอย่างใกล้ชิดต่อไป
สาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 พฤศจิกายน 2566) เห็นชอบในหลักการการดำเนินมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย (มาตรการฯ) และมอบหมายให้มีการดำเนินการศึกษารายละเอียด ผลประโยชน์และผลกระทบ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การคลัง และสังคม รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ตามที่ กค. เสนอ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้าเพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ2 โดยมอบหมาย กค. พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินมาตรการดังกล่าว
2. กค. ได้พิจารณาแล้ว สามารถสรุปได้ ดังนี้
2.1 หลักการ : ปัจจุบันผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติ โดยทั่วไปสามารถซื้อสินค้าโดยได้รับสิทธิยกเว้นอากรตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (1) ของที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซื้อเพื่อใช้เองเป็นการส่วนตัว หรือใช้ในวิชาชีพ ราคารวมกันไม่เกินสองหมื่นบาท (2) บุหรี่ปริมาณไม่เกินสองร้อยมวน หรือซิการ์ หรือยาเส้น ปริมาณไม่เกินอย่างละสองร้อยห้าสิบกรัม หรือหลายชนิดรวมกัน ปริมาณไม่เกินสองร้อยห้าสิบกรัม แต่บุหรี่ต้องมีปริมาณไม่เกินสองร้อยมวน และ (3) สุรา ปริมาณไม่เกินหนึ่งลิตร ทั้งนี้ การได้สิทธิซื้อสินค้าต่างๆ ภายในร้าน Duty Free ขาเข้า ย่อมทำให้โอกาสในการจับจ่ายในการบริโภคและการซื้อสินค้าภายในประเทศมีน้อยลง ดังนั้น กค. จึงมีแนวคิดที่จะศึกษาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้าน Duty Free สำหรับผู้โดยสารขาเข้า เพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงวงเงินใช้จ่ายในร้าน Duty Free ขาเข้าดังกล่าวมากระจายหมุนเวียนในประเทศ ให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากยิ่งขึ้น
2.2 ข้อมูลและสถิติ : ร้าน Duty Free ขาเข้า3 ที่ตั้งอยู่ ณ ท่าอากาศยาน ภายในบริเวณพื้นที่ห้องผู้โดยสารขาเข้าเพื่อแสดงและขายให้แก่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้าน Duty Free ขาเข้า จำนวน 3 ราย ดำเนินกิจการในท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ (1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (2) ท่าอากาศยานดอนเมือง (3) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (4) ท่าอากาศยานภูเก็ต (5) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (6) ท่าอากาศยานอู่ตะเภา (7) ท่าอากาศยานสมุย และ (4) ท่าอากาศยานกระบี่ โดยจากสถิติของกรมศุลกากร ในปี 2566 มียอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในร้าน Duty Free ขาเข้ารวมทั้งสิ้นเป็น จำนวน 3,021.75 ล้านบาท
2.3 แนวทางการดำเนินการ :
2.3.1 กค. ได้พิจารณาจากข้อกฎหมายแล้ว พบว่า ประกาศกรมศุลกากร ที่ 44/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข เกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร (ประกาศกรมศุลกากรฯ) มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับสิทธิการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรตามข้อ 21 และ 22 ที่ได้กำหนดเกี่ยวกับการพักใช้ และการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากรในกรณีที่ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ หรือเงื่อนไขในการอนุญาต โดยมิได้บัญญัติเกี่ยวกับการสั่งระงับสิทธิในกรณีอื่นๆ ไว้
2.3.2 แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรทั้ง 3 ราย ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร โดยยินดีที่จะหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้าตามนโยบายของรัฐบาลจนกว่ารัฐบาลจะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าว
2.3.3 กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีผู้ประกอบการมีความยินดีในการหยุดดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักการที่ กค. มีแนวคิดจะแปลงวงเงินใช้จ่ายในร้าน Duty Free ขาเข้ามาหมุนเวียนใช้จ่ายในประเทศได้ โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกการอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า
3. กค. ได้ศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้
3.1 ผลต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ : นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น และมีการกระจายการใช้จ่ายและการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยหากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลอดอากรขาเข้า 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปเพิ่มขึ้นประมาณ 570 บาท
3.2 ผลต่อการใช้จ่ายของผู้เดินทางชาวไทย : ผู้เดินทางชาวไทยอาจจะเลือกใช้จ่ายซื้อสินค้าปลอดอากรจากประเทศต้นทางเพื่อทดแทนหรือใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยขึ้นกับปัจจัยในการตัดสินใจที่แตกต่างกัน
3.3 ผลต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ : ผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้าน Duty Free จะมีการสูญเสียรายได้อากรขาเข้าส่วนของการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้า อย่างไรก็ดี หากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนร้านค้าทั่วไป เสมือนได้รับเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่เพิ่มเติมสูงสุด 3,460 ล้านบาทต่อปี เป็นการสร้างโอกาสและส่งผลเชิงบวกต่อการผลิต การลงทุน และการจ้างงานได้ต่อไป
3.4 ผลต่อรายได้ของภาครัฐ : เม็ดเงินหมุนเวียนมีการกระจายสู่ผู้ประกอบการร้านค้าในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการขยายฐานการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม
3.5 ผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม : กรณีที่มีการหยุดดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า เป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Domestic Product: GDP) ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.012
ต่อปี
______________________
1 คลังสินค้าทัณฑ์บน คือ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเพื่อใช้สำหรับเก็บของ (คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลว คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับอู่ซ่อม หรือสร้างเรือ คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมัน) หรือแสดงและขายของที่เก็บ [คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับจัดแสดงหรือนิทรรศการ คลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรบนเที่ยวบิน] หรือผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใดกับของที่เก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน (คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า คลังเสบียงทัณฑ์บน)
2 คือ การยกเลิกคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นพื้นที่แสดงและขายของ (ร้าน Duty Free ขาเข้า) เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนไทยที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศเกิดการจับจ่ายซื้อของในประเทศแทนที่จะซื้อสินค้าจากในร้าน Duty Free ขาเข้าดังกล่าว
3 ร้านค้า Duty Free คือ คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรโดยเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายประเภทร้านค้าปลอดอากรขาเข้าที่อธิบดีกรมศุลกากรอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามความในมาตรา 116 (2) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติให้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนให้ดำเนินการแสดงและขายของที่เก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 กรกฎาคม 2567
7078