ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 June 2024 00:22
- Hits: 11703
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ยธ. เสนอว่า
1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2548 กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้ในตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สรุปได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณ์ความแพ่ง ตาราง 5 ค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี |
||
ค่าธรรมเนียม |
จำนวน |
|
1. ขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัด |
ร้อยละ 3 ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย |
|
2. จ่ายเงินที่ยึดหรืออายัดแก่เจ้าหนี้ |
ร้อยละ 2 ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด |
|
3. เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย |
ร้อยละ 2 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด |
|
4. เมื่อยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย |
ร้อยละ 1 ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด หรือราคาทรัพย์สินที่อายัด |
|
5. ขายโดยวิธีประมูลระหว่างคู่ความ |
ร้อยละ 2 ของราคาประมูลสูงสุด |
2. โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในทุกระดับ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้ลูกหนี้จำนวนมากอาจต้องตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และมีความรับผิดตามสัญญาหรือตามกฎหมายหลายประการ ส่งผลให้มีปริมาณการฟ้องร้องบังคับคดีเพิ่มมากขึ้นทั้งคดีแพ่งและคดีล้มละลาย กรณีเป็นปัญหาความเป็นธรรมของประชาชนที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม สมควรต้องมีมาตรการชั่วคราวเพื่อบรรเทาโดยเร่งด่วน เนื่องจากตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีสูงเกินไป ทำให้ลูกหนี้ต้องรับภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมบางประการที่ไม่จำเป็น เช่น การยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงินหรือการอายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย และในด้านกฎหมายยังไม่ปรากฏมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งและคดีล้มละลายอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - 19 ดังกล่าว
3. นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2548 มีผลบังคับใช้มาเป็นระยะเวลา 19 ปีแล้ว และปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนั้น ยธ. จึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยลดภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีบางประการที่ไม่จำเป็น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากการไม่สามารถชำระหนี้ได้ และยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น กำหนดค่าธรรมเนียมขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัด ร้อยละ 2 ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย (ปัจจุบัน ร้อยละ 3 ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย) กำหนดค่าธรรมเนียมจ่ายเงินที่ยึดหรืออายัดแก่เจ้าหนี้ ร้อยละ 1 ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด (ปัจจุบัน ร้อยละ 2 ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด) รวมทั้งยกเลิกค่าธรรมเนียมเมื่อยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว ไม่มีการขายหรือจำหน่าย (ปัจจุบัน ร้อยละ 2 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด)
4. ยธ. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ผ่านทางระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) และทางเว็บไซต์ของกรมบังคับคดี (www.led.go.th) ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็น พร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบด้วยแล้ว
5. ยธ. ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้
5.1 คณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ได้วางหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมโดยต้องคำนึงถึงปัจจัยในการเรียกเก็บ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนการดำเนินการและการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ประโยชน์ที่บุคคลจะได้รับ หรือผลกระทบทางลบที่บุคคลนั้นก่อให้เกิดความสามารถของประชาชนในการจ่ายค่าธรรมเนียม การเทียบเคียงอัตราเดิมที่เคยเรียกเก็บหรืออัตราอื่นในลักษณะเดียวกันหรืออัตราของต่างประเทศ การได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และอัตราเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น การพิจารณากำหนดค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงต้องพิเคราะห์ถึงความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยการกำหนดค่าธรรมเนียมนี้ต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็น สอดคล้องกับสภาพการณ์ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน
5.2 การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดำเนินการยึด หรืออายัด โดยผิดหลงประการใด หากมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถเรียกให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารับผิดชอบได้ การปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมตามร่างพระราชบัญญัตินี้จึงมิได้ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างแต่อย่างใด
5.3 การปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ยธ. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วยแล้ว โดยกรมบังคับคดีได้สำรวจข้อมูลจำนวนค่าธรรมเนียมประเภทต่างๆ ตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 - 2567 (ข้อมูลถึงเดือนมกราคม 2567) พบว่าได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นเงินทั้งสิ้น 6,842,907,178.19 บาท เมื่อคำนวณเฉพาะค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย และค่าธรรมเนียมยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่ร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ยกเลิก คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 95,461,667.64 บาท คิดเป็นร้อยละ 1.40 ของค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีทั้งหมด และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวสามารถช่วยสนับสนุนให้คู่ความเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี อันเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกระหว่างลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ในการเจรจาชำระหนี้ โดยลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะสามารถรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของตนไม่ให้ถูกขายทอดตลาดและสร้างความยุติธรรมแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรม
จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 25 มิถุนายน 2567
6808