ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอให้จดทะเบียนเลิกภาระในอสังหาริมทรัพย์และการเรียกคืนค่าทดแทนจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 พ.ศ ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 June 2024 00:04
- Hits: 11763
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอให้จดทะเบียนเลิกภาระในอสังหาริมทรัพย์และการเรียกคืนค่าทดแทนจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 พ.ศ ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอให้จดทะเบียนเลิกภาระในอสังหาริมทรัพย์และการเรียกคืนค่าทดแทนจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมมาทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 พ.ศ …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยไปประกอบการพิจารณาด้วยแล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ คค. เสนอว่า
1. การดำเนินโครงการจัดทำระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า กรณีที่ รฟม. มีความจำเป็นต้องใช้อสังหาริมทรัพย์ของเอกชนเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว แต่ไม่จำเป็นต้องเวนคืนเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ รฟม. จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 โดยวิธีการกำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์โดยมีกำหนดเวลา สำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่จำเป็นต้องใช้เป็นการชั่วคราวในระหว่างก่อสร้าง และโดยไม่มีกำหนดเวลาสำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่จำเป็นต้องใช้เป็นการถาวร ซึ่งกรณีที่จดทะเบียนกำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในกิจการขนส่งมวลชนโดยไม่มีกำหนดเวลา แต่มิได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ภายในกำหนดเวลา 10 ปี เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิขอให้จดทะเบียนเลิกภาระในอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอให้จดทะเบียนเลิกภาระในอสังหาริมทรัพย์และการเรียกคืนค่าทดแทนจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง รฟม. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอให้จดทะเบียนเลิกภาระในอสังหาริมทรัพย์และการเรียกคืนค่าทดแทนจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 พ.ศ. ….
2. โดยที่ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 25401 เพื่อรองรับในกรณีที่ได้มีการจดทะเบียนกำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีกำหนดเวลาแต่มิได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียน เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิขอให้จดทะเบียนเลิกภาระในอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ ซึ่งร่างกฎกระทรวงฯ จะช่วยแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีความประสงค์จะใช้สิทธิตามกฎหมายในการขอจดทะเบียนเลิกภาระดังกล่าว ประกอบกับการออกกฎกระทรวงฉบับนี้มีลักษณะเป็นการออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่ประชาชนจะได้รับสิทธิจากกฎหมาย ตามมาตรา 22 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 (คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรอง ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566)
3. คณะกรรมการ รฟม. ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ได้มีมติอนุมัติให้ รฟม. ดำเนินการตราร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
4. รฟม. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการดังกล่าวตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายเรียบร้อยแล้ว
5. ประโยชน์และผลกระทบ
5.1 หน่วยงานด้านขนส่งมวลชนของรัฐจะต้องพิจารณากำหนดวาระในอสังหาริมทรัพย์ในที่ดินของเอกชน สำหรับใช้ในการจัดทำโครงการได้เพียงเท่าที่จำเป็นและเกิดประโยชน์สูงสุด และก่อภาระแก่ประชาชนให้น้อยที่สุด
5.2 ประชาชนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายและไม่ถูกจำกัดสิทธิในทรัพย์สินจากการดำเนินงานของรัฐมากเกินสมควร
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอให้จดทะเบียนเลิกภาระในอสังหาริมทรัพย์และการเรียกคืนค่าทดแทนจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ สรุปได้ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
กำหนดบทนิยาม |
- “ภาระในอสังหาริมทรัพย์” หมายความว่า ภาระที่ได้จดทะเบียนไว้ ณ สำนักงานที่ดินโดยไม่มีกำหนดเวลา - “เจ้าของ” หมายความว่า ผู้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ณ สำนักงานที่ดิน |
|
ผู้มีสิทธิร้องขอ |
- กำหนดให้ผู้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์คนใดคนหนึ่ง (กรณีมีหลายคน) ขอให้จดทะเบียนเลิกภาระในอสังหาริมทรัพย์ |
|
การยื่นคำร้อง |
- กำหนดให้เจ้าของผู้มีความประสงค์จะเลิกภาระในอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วน ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารหรือหลักฐานตามแบบท้ายกฎกระทรวงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือโดยวิธีทางไปรษณีย์ หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ |
|
การออกใบรับรองคำร้อง/การยุติเรื่อง |
- กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกใบรับคำร้องเบื้องต้น ดังนี้ 1. การตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารหรือหลักฐาน (ไม่เกิน 7 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง) 2. การแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องดำเนินการแก้ไขเอกสารหรือหลักฐาน (ไม่น้อยกว่า 180 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง) และแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบภายใน 15 วันทำการนับแต่วันที่ตรวจแล้วเสร็จหรือต้องแล้วเสร็จ 3. การยุติเรื่องในกรณีผู้ยื่นคำร้องไม่ดำเนินการแก้ไขเอกสารหรือหลักฐาน ให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด 4. การออกใบรับคำร้องก็ต่อเมื่อผู้ยื่นคำร้องได้ยื่นคำร้องถูกต้องครบถ้วน |
|
การพิจารณาคำร้อง/ การแจ้งผล/การนำเงินมาคืน/การชะลอเรื่อง |
- กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาคำร้องขอให้จดทะเบียนเลิกภาระ ในอสังหาริมทรัพย์ให้แล้วเสร็จพร้อมแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำร้องทราบภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องที่ถูกต้อง ซึ่งการพิจารณาจดทะเบียนดังกล่าวให้คำนึงถึงประโยชน์การใช้อสังหาริมทรัพย์ของหน่วยงานและบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย - กรณีที่จะจดทะเบียนดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งผู้ยื่นคำร้องเพื่อกำหนดนัดหมายการจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดิน และนำเงินทดแทนตามส่วนที่จะจดทะเบียนดังกล่าวมาคืนก่อนการจดทะเบียน โดยสั่งจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คหรือโดยวิธีการอย่างอื่นที่หน่วยงานเห็นสมควรไปพร้อมกับแจ้งผลการพิจารณา - กรณีผู้ยื่นคำร้องรายใดไม่นำเงินทดแทนมาคืน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ชะลอการ จดทะเบียนไว้ก่อน และดำเนินการต่อไปเมื่อได้รับคืนค่าทดแทนครบถ้วนแล้ว |
|
การจดทะเบียน |
กำหนดให้หลักเกณฑ์และวิธีการให้เป็นไปตามที่กรมที่ดินกำหนด |
|
บทเฉพาะกาล |
กำหนดให้บรรดาคำร้องขอให้จดทะเบียนดังกล่าวที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้รับคำร้องนั้นไว้พิจารณาต่อไปตามกฎกระทรวงนี้ |
_________________________
1 มาตรา 18 บัญญัติให้ภาระในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้ว หากมิได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ภายในสิบปี เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิขอให้จดทะเบียนเลิกภาระในอสังหาริมทรัพย์นั้นได้
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอให้จดทะเบียนเรื่องภาระในอสังหาริมทรัพย์และการเรียกคืนค่าทดแทนจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้นำบทบัญญัติมาตรา 15 มาใช้บังคับกับการจดทะเบียนเลิกภาระในอสังหาริมทรัพย์โดยอนุโลม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 25 มิถุนายน 2567
6804