รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 25 June 2024 23:28
- Hits: 11459
รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2566 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอและให้ กนง. รับความเห็นเพิ่มเติมของ กค. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
โดย กค. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนที่สูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 จากร้อยละ 0.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.50 ในปัจจุบัน1 รวมถึงความเปราะบางที่เกิดจากภาระหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยของต่างประเทศพบว่า หลายประเทศมีทิศทางที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น โดยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กับนโยบายการคลัง ดังนั้น กนง. ควรคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้ทิศทางการส่งผ่านนโยบายการเงินสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอรายงานผลการดำเนินงานของ กนง. ประจำครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2566 ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. เป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติ (27 ธันวาคม 2565) อนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป้าหมายในช่วงดังกล่าวมีความเหมาะสมภายใต้บริบทที่อัตราเงินเฟ้อมีความไม่แน่นอนสูง และมีความยึดหยุ่นเพียงพอสำหรับรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลางและเอื้อให้ดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566
2.1 ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้ม : เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงโดยมีแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวโดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดบริการ สำหรับภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยว แต่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเฉลี่ยต่อคนปรับลดลงจากจำนวนวันพักที่ลดลงและสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะสั้นที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้ายังคงฟื้นตัวช้าตามทิศทางการค้าโลกและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก (ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งทำให้ภาคการผลิตขยายตัวต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ดี กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 และ 2568 มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นจากปี 2566 โดยมีแรงส่งสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับภาคการส่งออกสินค้าและภาคการผลิตที่จะกลับมาขยายตัวตามอุปสงค์ต่างประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจโลกและการกลับมาของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก
2.2 ภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้ม : อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (อัตราเงินเฟ้อที่ครอบคลุมทุกหมวดสินค้าและบริการที่ใช้บริโภคทั่วไป) เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -0.01 ซึ่งปรับลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ที่เฉลี่ยร้อยละ 2.5 จากราคาอาหารสดที่ลดลง ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อาทิ มาตรการลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซล ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อที่หักราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงานออก) เฉลี่ยครึ่งหลังของปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ที่เฉลี่ยร้อยละ 1.9 สำหรับในระยะต่อไป กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน และคาดว่าจะเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ
2.3 เสถียรภาพระบบการเงินและภาวะการเงิน : ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพแต่ต้องติดตามพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อที่อาจได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงติดตามความสามารถในการระดมทุนของภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง แต่ระบบธนาคารพาณิชย์และตลาดการเงินยังสามารถทำหน้าที่ตัวกลางจัดสรรสภาพคล่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ สำหรับภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นเล็กน้อย โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป กนง. ประเมินว่าสินเชื่อภาคเอกชนจะฟื้นตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
3. การดำเนินนโยบายการเงิน
3.1 การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย : กนง. มีมติ (2 สิงหาคม 2566 และ 27 กันยายน 2566) ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาจนถึงสิ้นปี 2566 โดยอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มทยอยปรับขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ช่วยป้องกันไม่ให้อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันและปัจจัยด้านอุปทานส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าและบริการในวงกว้าง รวมถึงช่วยป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน และช่วยให้นโยบายการเงินมีขีดความสามารถเพียงพอในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
3.2 การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน : ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 โดยส่วนหนึ่งมาจากการคาดการณ์ของนักลงทุนว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเข้มงวดยาวนานขึ้น ส่วนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ กนง. เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ธปท. ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศกับสถาบันการเงินในประเทศเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและลดภาระด้านเอกสารหลักฐานให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่มีการค้าการลงทุนกับประเทศไทย
3.3 การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน : กนง. ได้สนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมที่สนับสนุนให้ผู้ให้บริการทางการเงินต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ รวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง นอกจากนี้ ยังสนับสนุนแนวทางการดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมที่จะดำเนินการควบคู่ไปด้วยในอนาคต ทั้งนี้ กนง. ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินเพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) และดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินของไทย
_______________
1 ในคราวประชุม กนง. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 25 มิถุนายน 2567
6795