รายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 25 June 2024 23:09
- Hits: 11444
รายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบ ดังนี้
1. รับทราบรายงานผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
2. เห็นชอบข้อเสนอแนะระดับนโยบายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการพิจารณาขับเคลื่อนและยกระดับการประเมิน ITA ในปีต่อไป รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยและข้อเสนอแนะของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
3. ให้ส่งความเห็นของกระทรวงมหาดไทยและสำนักงาน ก.พ.ร. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และได้ประกาศผลการประเมินฯ ให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินฯ และสาธารณชนได้รับทราบ รวมทั้งจัดทำรายงานผลการประเมินเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 31/2567 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 แล้วมีมติเห็นชอบให้เสนอรายงานผลการประเมิน ITA ต่อคณะรัฐมนตรี สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การประเมิน ITA เป็นเครื่องมือหนึ่งของการยกระดับและพัฒนาหน่วยงานภาครัฐตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2566 – 2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) โดยในปี 2566-2570 ได้กำหนดค่าเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินจะต้องมีค่าคะแนน ITA 89 คะแนนขึ้นไป จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน และในส่วนแผนย่อยของแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้กำหนดค่าเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่ เข้าร่วมการประเมินจะต้องมีค่าคะแนน ITA 85 คะแนนขึ้นไป เป็นจำนวนร้อยละ 1001 ของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ซึ่งการประเมินฯ ถือเป็นมาตรการด้านการป้องกันการทุจริตที่จะส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐได้มีการปรับปรุง พัฒนา แก้ไขและต่อยอดให้หน่วยงานมีความโปร่งใสและมีการปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนได้ร่วมสะท้อนความคิดเห็นไปยังหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะนำไปสู่การให้บริการที่โปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลต่อไปในอนาคต
2. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมิน ITA จำนวน 8,323 หน่วยงานทั่วประเทศ ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรองรับการประเมิน ITA (Integrity and Transparency Assessment System: ITAS) (ระบบ ITAS) ที่เว็บไซต์ https://itas.nacc.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566-31 กรกฎาคม 2566 และได้ประกาศผลการประเมินเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 โดยครอบคลุมทุกประเภทของหน่วยงานภาครัฐทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ องค์กรอิสระ และ อปท. มีประชาชนที่เคยติดต่อรับบริการจากหน่วยภาครัฐและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน ITA จำนวน 1,006,246 คน ทั้งนี้ มีเครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ITA ตัวชี้วัด และระดับผลการประเมิน ITA ดังนี้
2.1 เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน (3 เครื่องมือ) และตัวชี้วัด (10 ตัวชี้วัด) สรุปได้ ดังนี้
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน |
ตัวชี้วัด |
|
(1) แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (บุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ) (Internal Integrity and Transparency Assessment: IIT) |
ตัวชี้วัดที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่ เป็นการประเมินการปฏิบัติงานโดยยึดหลักตามมาตรฐาน มีความโปร่งใส เป็นไปตามขั้นตอนและระยะเวลา ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ตัวชี้วัดที่ 2 การใช้งบประมาณ เป็นการประเมินการใช้จ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานอย่างคุ้มค่า ตามวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัดที่ 3 การใช้อำนาจ เป็นการประเมินการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาที่เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ ตัวชี้วัดที่ 4 การใช้ทรัพย์สินของราชการ เป็นการประเมินพฤติกรรมของบุคลากรในการใช้ทรัพย์สินของราชการซึ่งหน่วยงานจะต้องมีการกำหนดแนวทางกำกับดูแล/ตรวจสอบการใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันมิให้มีการนำทรัพย์สินของราชการไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ตัวชี้วัดที่ 5 การแก้ไขปัญหาการทุจริต เป็นการประเมินเกี่ยวกับการให้ความสำคัญของผู้บริหารสูงสุดในการต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจังและมีการนำผลการประเมิน ITA ไปปรับปรุงการทำงาน ส่งเสริมการให้ข้อมูล เบาะแส หรือร้องเรียนการทุจริต รวมทั้งตรวจสอบและลงโทษอย่างจริงจังกับการกระทำความผิด |
|
(2) แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (ผู้รับบริการหรือผู้ติดต่อหน่วยงานภาครัฐ) (External Integrity and Transparency Assessment: EIT) |
ตัวชี้วัดที่ 6 คุณภาพการดำเนินงาน เป็นการประเมินเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เป็นไปตามมาตรฐาน ขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนด โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวมเป็นหลัก ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ตัวชี้วัดที่ 7 ประสิทธิภาพการสื่อสาร เป็นการประเมินเกี่ยวกับ การเผยแพร่ข้อมูลของหน่วยงานในเรื่องต่างๆ ต่อสาธารณชนผ่านช่องทางที่หลากหลาย และเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งจัดให้มีช่องทางรับความคิดเห็นของผู้รับบริการ ผู้มาติดต่อ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตัวชี้วัดที่ 8 การปรับปรุงระบบการทำงาน เป็นการประเมินเกี่ยวกับการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานของหน่วยงานให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้เข้าไปมีส่วนร่วม ในการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น |
|
(3) การเปิดเผยข้อมูลทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน (ตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ) (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) |
ตัวชี้วัดที่ 9 การเปิดเผยข้อมูล เป็นการประเมินการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงาน ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐาน การบริหารงาน การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการส่งเสริมความโปร่งใส ในหน่วยงานบนเว็บไซต์ของหน่วยงานเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ ตัวชี้วัดที่ 10 การป้องกันการทุจริต เป็นการประเมินการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานบนเว็บไซต์ของหน่วยงานให้สาธารณชนได้รับทราบเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตและมาตรการส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใส |
2.2 ระดับผลการประมิน ITA (Rating Score) ดังนี้
คะแนน |
เงื่อนไข |
ระดับ |
95.00-100 |
เครื่องมือการประเมิน คือ IIT, EIT ส่วนที่ 1, EIT ส่วนที่ 2, OIT จะต้องมีผลคะแนนทุกเครื่องมือ 95 คะแนนขึ้นไป |
ผ่านดีเยี่ยม |
85.00 ขึ้นไป |
เครื่องมือการประเมิน คือ IIT, EIT ส่วนที่ 1, EIT ส่วนที่ 2, OIT จะต้องมีผลคะแนนทุกเครื่องมือ 85 คะแนนขึ้นไป |
ผ่านดี |
85.00 ขึ้นไป |
เครื่องมือการประเมิน คือ IIT, EIT ส่วนที่ 1, EIT ส่วนที่ 2, OIT เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง มีผลคะแนนน้อยกว่า 85 คะแนน |
ผ่าน |
70.00-84.99 |
ไม่มีเงื่อนไข |
ต้องปรับปรุง |
0-69.99 |
ไม่มีเงื่อนไข |
ต้องปรับปรุงโดยด่วน |
3. สรุปการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
3.1 ผลการประเมิน ITA ในภาพรวมระดับประเทศ มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 90.19 คะแนน สูงกว่าปีที่ผ่านมา 2.62 คะแนน มีจำนวนหน่วยงานภาครัฐที่มีผลการประเมิน ITA ผ่านค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ จำนวน 6,737 หน่วยงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 80.94 (จาก 8,323 หน่วยงาน) (สูงกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 10.42) แต่ยังไม่สามารถบรรลุค่าเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ได้ (ร้อยละ 100) โดยมีผลการจัดระดับผลการประเมิน ดังนี้
ระดับ |
จำนวน (หน่วยงาน) |
ร้อยละ |
ผ่านดีเยี่ยม |
674 |
8.10 |
ผ่านดี |
2,550 |
30.64 |
ผ่าน |
3,513 |
42.21 |
ต้องปรับปรุง |
1,389 |
16.69 |
ต้องปรับปรุงโดยด่วน |
197 |
2.37 |
รวม |
8,323 |
100.00 |
ทั้งนี้ มีหน่วยงานภาครัฐที่มีผลการประเมิน ITA ไม่ผ่านค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ซึ่งมีผลการประเมิน ITA อยู่ที่ระดับต้องปรับปรุงและต้องปรับปรุงโดยด่วนจำนวน 1,586 หน่วยงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.06 โดยหน่วยงานดังกล่าวส่วนใหญ่มีผลคะแนนของตัวชี้วัดที่ 8 การปรับปรุงระบบการทำงาน ตัวชี้วัดที่ 9 การเปิดเผยข้อมูล ตัวชี้วัดที่ 10 การป้องกันการทุจริต ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย2
3.2 ผลการประเมิน ITA ตามตัวชี้วัด พบว่า ทั้ง 10 ตัวชี้วัด มีค่าคะแนนผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยตัวชี้วัดที่มีค่าคะแนนมากที่สุด คือ ตัวชี้วัดที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่ มีคะแนน ITA อยู่ที่ 96.42 คะแนน และตัวชี้วัดที่มีค่าคะแนนน้อยที่สุด คือ ตัวชี้วัดที่ 8 การปรับปรุงระบบการทำงาน มีคะแนน ITA อยู่ที่ 87.17 คะแนน
3.3 ผลการประเมิน ITA ตามประเภทหน่วยงาน แบ่งออกเป็น 17 ประเภท โดยมีหน่วยงานภาครัฐ 6 ประเภท ที่มีหน่วยงานภายในทั้งหมดที่มีค่าคะแนน ITA ผ่านตามค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติฯ ได้แก่ หน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล หน่วยงานของอัยการ หน่วยงานของรัฐอื่นๆ จังหวัด และ อปท. รูปแบบพิเศษ ทั้งนี้ แม้ว่าจะยังมีหน่วยงานในแต่ละประเภทไม่ผ่านค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ แต่ในภาพรวมพบว่าหน่วยงานส่วนใหญ่มีพัฒนาการสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา สรุปได้ ดังนี้
ประเภทหน่วยงาน |
จำนวน หน่วยงาน |
คะแนนเฉลี่ย ปีงบประมาณ พ.ศ. |
พัฒนาการ |
ร้อยละ ที่ผ่าน |
|
2566 |
2565 |
||||
(1) หน่วยงานของรัฐสภา |
3 |
94.49 |
95.55 |
-1.06 |
100.00 |
(2) หน่วยงานของศาล |
3 |
95.77 |
90.06 |
+5.71 |
100.00 |
(3) หน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ |
5 |
88.89 |
86.81 |
+2.08 |
80.00 |
(4) หน่วยงานของอัยการ |
1 |
94.42 |
92.40 |
+2.02 |
100.00 |
(5) ส่วนราชการระดับกรม |
159 |
89.90 |
90.51 |
-0.61 |
86.79 |
(6) องค์การมหาชน |
59 |
87.01 |
91.90 |
-4.89 |
76.27 |
(7) รัฐวิสาหกิจ |
51 |
93.22 |
92.85 |
+0.37 |
92.16 |
(8) หน่วยงานของรัฐอื่นๆ |
17 |
92.67 |
91.31 |
+1.36 |
100.00 |
(9) กองทุน |
12 |
86.76 |
89.54 |
-2.78 |
83.33 |
(10) สถาบันอุดมศึกษา |
87 |
86.95 |
87.99 |
-1.04 |
68.97 |
(11) จังหวัด |
76 |
93.72 |
93.01 |
+0.71 |
100.00 |
(12) องค์การบริหารส่วนจังหวัด |
76 |
94.63 |
93.29 |
+1.34 |
97.37 |
(13) เทศบาลนคร |
30 |
92.09 |
88.69 |
+3.40 |
93.33 |
(14) เทศบาลเมือง |
195 |
91.23 |
89.30 |
+1.93 |
82.05 |
(15) เทศบาลตำบล |
2,247 |
90.16 |
87.80 |
+2.36 |
81.13 |
(16) องค์การบริหารส่วนตำบล |
5,300 |
90.11 |
87.04 |
+3.07 |
80.11 |
(17) อปท. รูปแบบพิเศษ |
2 |
93.96 |
83.13 |
+10.83 |
100.00 |
หมายเหตุ : * แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ กำหนดค่าเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐ จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 100 (ทุกหน่วยงาน) ต้องมีค่าคะแนน 85 คะแนนขึ้นไป
ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่มีผลการประเมินสูงสุดในประเภทต่างๆ เช่น (1) ประเภทหน่วยงานของรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภามีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 97.43 คะแนน (2) ประเภทหน่วยงานของศาล สำนักงานศาลปกครองมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 97.74 คะแนน (3) ประเภทจังหวัด จังหวัดแพร่ มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 99.72 คะแนน
4. การอภิปรายผลการประเมิน ITA เช่น (1) การประเมิน ITA เป็นเพียงการประเมินมาตรฐานการดำเนินงานในขั้นต่ำ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในแง่ขอบเขตการศึกษาและข้อจำกัดในแง่กระบวนการศึกษาเชิงลึก (เช่น ไม่ครอบคลุมผู้บริหารในระดับรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการบริหารในฐานะผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน แต่ประเมินหน่วยงานระดับปฏิบัติหรือหน่วยงานธุรการที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลเท่านั้น มีข้อจำกัดด้านการตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น) (2) รูปแบบของปัญหาการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (แบบวัด OIT) ยังคงเดิม กล่าวคือหน่วยงานที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จึงส่งผลให้หน่วยงานไม่ได้คะแนนในแต่ละข้อคำถาม
5. ข้อเสนอแนะระดับนโยบาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประกอบการขับเคลื่อนและยกระดับการประเมิน ITA ในปีต่อไป ดังนี้
ประเด็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
|
(1) ควรสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและมาตรฐานการประเมินที่กำหนดโดยควรให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ อปท. เป็นพิเศษ โดยเน้นไปที่หน่วยงานที่มีผลการประเมินในระดับต้องปรับปรุงเป็นหลัก (มีหน่วยงานที่ต้องปรับปรุง 1,389 แห่ง และหน่วยงานที่ต้องปรับปรุงโดยด่วน 197 แห่ง) |
ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บริหาร อปท. |
|
(2) ควรกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการยกระดับค่าคะแนนการประเมิน ITA และกำกับติดตามกระบวนการประเมิน ITA ภายในจังหวัดอย่างเป็นระบบ รวมถึงกำหนดผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน ทั้งในระดับจังหวัดและรายหน่วยงาน โดยครอบคลุมประเด็น ดังนี้ (2.1) การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับระยะเวลาและขั้นตอนการประเมิน (2.2) การกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการ วิธีการกำกับติดตามภายในจังหวัด/หน่วยงาน (2.3) การกำกับติดตามการนำเข้าข้อมูลในระบบ ITAS การตอบแบบวัด IIT EIT และ OIT ให้ครบถ้วนตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนด (2.4) การตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลในแต่ละขั้นตอน การประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (2.5) การกำกับติดตามปัญหาอุปสรรคตลอดระยะเวลาการประเมิน |
คณะกรรมการการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบจังหวัด |
|
(3) ควรมีบทบาทในการกำกับติดตามการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน ITA ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาและรายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีไปยังปลัดกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบถึงสถานะความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดแนวทางการสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือในการดำเนินงานตามประเด็นที่ควรมุ่งเน้นต่อไป |
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกระทรวงหรือเทียบเท่า |
|
(4) ควรมีการกำหนดในการประเมิน ITA เป็นตัวชี้วัดการปฏิบัติราชการของผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายและผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากปัญหาการประเมิน ITA ของหน่วยงานส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงระบบภายในหน่วยงาน เช่น กระบวนการที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมิน การมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบการประเมินเป็นผู้ดำเนินการเพียงคนเดียว เมื่อเกิดการโยกย้ายบุคลากรส่งผลให้ทั้งฐานข้อมูลและการบริหารจัดการต้องนับหนึ่งไปทุกปี ทั้งนี้ การกำหนดตัวชี้วัดที่มีความครอบคลุมชัดเจนทุกระดับจะช่วยให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญ อีกทั้งเป็นการผลักดันและสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาการดำเนินงานและการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐให้มีความโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และเป็นการผลักดันให้ ทุกหน่วยงานดำเนินงานให้บรรลุตามค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ |
ผู้บริหารสูงสุดของทุกหน่วยงาน |
______________________________________
1คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (17 มกราคม 2566) เห็นชอบแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ 2566 -2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับแก้เป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนย่อยการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบให้มีความท้าทายยิ่งขึ้น ซึ่งเดิมกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินฯ ในปี 2566 จะต้องมีคะแนนการประเมินผ่านเกณฑ์ 85 คะแนน “จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 84” เป็น “จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 100” ในปี 2566 -2570
2 ข้อมูลจากการประสานสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 25 มิถุนายน 2567
6792