ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Economic Ministers Retreat) ครั้งที่ 30 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 25 June 2024 22:33
- Hits: 11026
ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Economic Ministers Retreat) ครั้งที่ 30 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Economic Ministers Retreat: AEM Retreat) ครั้งที่ 30 และการประชุมที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. การประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 30 และการประชุมที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 ณ แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นการประชุมเพื่อรายงานให้ทราบถึงภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนและประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจในปี 2567 รายงานความคืบหน้าการเจรจาต่างๆ เช่น ความคืบหน้าการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ความคืบหน้าการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน รวมทั้งมีการรับรองกรอบการอำนวยความสะดวกด้านบริการของอาเซียน การหารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนและการหารือทวิภาคีของไทยอย่างไม่เป็นทางการ โดยในส่วนของประเทศไทยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งผลการประชุมฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
(1) การประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 30 |
(1.1) บทบาทอาเซียนในเวทีโลกท่ามกลางความท้าทายต่างๆ : ที่ประชุมฯ ให้ความเห็นชอบแนวทางการดำเนินการ ดังนี้ (1) ปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ของโลก (2) หาตลาดและแหล่งวัตถุดิบใหม่ เช่น เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา (3) ส่งเสริมและพัฒนาทุนมนุษย์อย่างต่อเนื่องให้รองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ และ (4) แสวงหาประโยชน์จากเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รายงานว่า ในปี 2567 เป็นช่วงสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา อาเซียนจึงควรรักษาบทบาทความเป็นกลางของอาเซียน ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ตลอดจนร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกร้อนและมลภาวะ (1.2) ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ ปี 2567 : ที่ประชุมฯ เห็นชอบประเด็นภายใต้ AEM จำนวน 8 ประเด็น จากทั้งหมด 14 ประเด็น ซึ่งเน้นการเชื่อมโยงในภูมิภาคและการมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตของโลกตั้งแต่ต้นน้ำ - ปลายน้ำ เช่น การสรุปผลการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน และการมีผลบังคับใช้ของความตกลง FTA อาเซียน - ออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ (1.3) ความคืบหน้าการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน : ที่ประชุมฯ รายงานความคืบหน้าโดยได้สรุปข้อบทเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ทั้งหมด 80 ข้อบท จาก 195 ข้อบท คิดเป็น ร้อยละ 41 และมอบคณะกรรมการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าอาเซียนหาข้อสรุปในประเด็นสำคัญ เช่น การเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมกลไกทางเลือกในการระงับข้อพิพาทและการเปิดตลาดสินค้าหมุนเวียน ซึ่งเน้นให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับประโยชน์ระหว่างกันให้มากที่สุด (1.4) ความคืบหน้าการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน : ที่ประชุมฯ รายงานความคืบหน้าการเจรจา โดยมอบคณะกรรมการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนให้เร่งการเจรจาและให้ประเทศสมาชิกหารือหน่วยงานภายในเพื่อมีท่าทีต่อการเจรจาในข้อบทสำคัญ เช่น การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ ความร่วมมือด้านความมั่งคงปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงผลการเจรจาที่ทำให้กรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนมีคุณภาพสูง มองไปข้างหน้าและรองรับรูปแบบการค้าในอนาคต (1.5) ที่ประชุมรับรองกรอบการอำนวยความสะดวกด้านบริการของอาเซียน เพื่อเป็นกลไกในการเสริมสร้างการอำนวยความสะดวกในด้านการค้าบริการและสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจบริการของนักลงทุนอาเซียน (คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกรอบการอำนวยความสะดวกด้านบริการของอาเซียนเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567) (1.6) ความคืบหน้าการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน : ที่ประชุมฯ รายงานความคืบหน้าการเจรจาโดยได้ข้อสรุป 2 ข้อบท ได้แก่ (1) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ และ (2) วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprise: MSMEs) ในขณะที่ข้อบทที่มีความคืบหน้าเกินร้อยละ 50 ได้แก่ การแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคและมาตรฐานกฎระเบียบทางเทคนิคและกระบวนการตรวจสอบและรับรอง ทั้งนี้ ข้อบทที่ต้องเร่งเจรจา เช่น การค้าสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งได้มอบคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน พิจารณาให้ความยืดหยุ่นระหว่างกันเพื่อให้สามารถหาข้อสรุปร่วมกัน ภายในปี 2567 โดยการเจรจาต้องไม่สร้างผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ หรืออุตสาหกรรมภายในของแต่ละประเทศ (1.7) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) : ที่ประชุมฯ รายงานความคืบหน้าการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เพื่อเป็นกลไกในการกำกับดูแลการดำเนินการของประเทศภาคีให้เป็นไปตามพันธกรณีของความตกลงฯ รวมถึงการจัดทำกระบวนการเปิดรับสมาชิกใหม่ ทั้งนี้ เร่งรัดให้สำนักเลขาธิการอาเซียนดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและหาข้อสรุปกระบวนการเปิดรับสมาชิกใหม่โดยเร็ว (1.8) การจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2588 และแผนยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : ที่ประชุมฯ มอบองค์กรรายสาขาด้านเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ AEM 14 สาขา จัดทำโครงร่างแผนยุทธศาสตร์รอบที่ 1 ให้สะท้อนถึงการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งและมองไปข้างหน้าให้มากยิ่งขึ้นให้สอดคล้องกับบริบทการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปให้แล้วเสร็จในปี 2568 (1.9) การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับวาระความยั่งยืนของอาเซียน : ที่ประชุมฯ เห็นพ้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาการดำเนินการที่เสริมสร้างความยั่งยืนในภูมิภาค ซึ่งความคืบหน้าการดำเนินการสร้างความยั่งยืนของอาเซียน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน กรอบเศรษฐกิจหมุนเวียน และกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจภาคทะเล |
(2) การหารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน |
ภาครัฐของประเทศสมาชิกอาเซียนพร้อมสนับสนุนและให้ความร่วมมือโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคและโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงการค้าดิจิทัลในระดับภูมิภาคที่สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนนำเสนอในที่ประชุมฯ ซึ่งจะช่วยยกระดับการค้าของอาเซียนและมาตรฐานกฎระเบียบให้สอดรับกับรูปแบบการค้าใหม่ โดยไทยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ MSMEs ให้เข้าถึงตลาดเงินทุนและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันสู่การค้าสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ MSMEs ในอาเซียนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน |
(3) การหารือทวิภาคีของประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการ |
(3.1) ประเทศเวียดนาม (การอำนวยความสะดวกตรวจปล่อยสินค้าผ่านแดนจากไทยไปจีน) : ประเทศไทยได้หารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าประเทศเวียดนาม (นายเหวียน ชิง หยิด เติญ) โดยขอความร่วมมือเวียดนามในการอำนวยความสะดวกการตรวจปล่อยสินค้าผลไม้ของไทยไปจีนในช่วงฤดูกาลผลไม้ไทยที่เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป โดยเส้นทางขนส่งหลักจากด่านมุกดาหารและด่านนครพนมผ่านด่านฮูงี้และด่านหมงก๋ายของประเทศเวียดนาม ก่อนเข้าสู่ด่านโหยวอี้กวนและด่านตงชิงของจีนตามลำดับ ทั้งนี้ ประเทศเวียดนามยินดีจะให้ความร่วมมือเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ (3.2) ประเทศเมียนมา (การลดปัญหาฝุ่นควัน PM2.5) : ไทยได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเมียนมา (ดร. คาน ซอว์) เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาโลกร้อนโดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 โดยประเทศไทยแจ้งว่า ได้มีการเดินหน้าแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทุกภาคส่วนมาโดยตลอด ซึ่งได้ประสบผลสำเร็จในระยะแรก จึงอยากจะส่งต่อความสำเร็จด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีมายังเพื่อนบ้านในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรเช่นเดียวกับประเทศไทย ทั้งนี้ ประเทศเมียนมายินดีขอรับความร่วมมือจากประเทศไทยเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว |
2. พณ. แจ้งว่า ปัจจุบันอาเซียนให้ความสำคัญที่จะร่วมมือกันในการเพิ่มศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้กับการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมเพื่อให้การค้าภายในภูมิภาคขยายตัวสองเท่าในปี 2568 ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการเพิ่มจำนวนชนชั้นกลาง และสร้างความเข้มแข็งให้กับ MSMEs ในภูมิภาคให้มากขึ้นเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก อีกทั้งสนับสนุนการใช้ความตกลงการค้าเสรีช่วยเชื่อมโยงกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค ผ่านการยกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน และอาเซียนกับคู่เจรจา โดยเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้มากยิ่งขึ้น การยกระดับมาตรฐานอาเซียนให้ทันสมัย และรองรับประเด็นการค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะประเด็นด้านดิจิทัล และสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องเตรียมพร้อมรองรับและปรับตัวในเชิงรุก ทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบของภาครัฐ การเสริมสร้างทักษะและเปลี่ยนทักษะที่เกี่ยวข้องในภาคเอกชนและ MSMEs เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 25 มิถุนายน 2567
6788