การปรับแก้ไขตารางข้อผูกพันด้านบริการ ภายใต้องค์การการค้าโลกของไทย ที่ผูกพันวินัยในการใช้กฎระเบียบภายใน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 25 June 2024 22:28
- Hits: 10860
การปรับแก้ไขตารางข้อผูกพันด้านบริการ ภายใต้องค์การการค้าโลกของไทย ที่ผูกพันวินัยในการใช้กฎระเบียบภายใน
คณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่องการปรับแก้ไขตารางข้อผูกพันด้านบริการ ภายใต้องค์การการค้าโลก [World Trade Organization (WTO)] ของไทย ที่ผูกพันวินัยในการใช้กฎระเบียบภายใน (ตารางข้อผูกพันฯ) ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญ
พณ. รายงานว่า
1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (13 กันยายน 2565) ให้ความเห็นชอบร่างตารางข้อผูกพันด้านบริการภายใต้ WTO ของไทย ที่ผูกพันวินัยในการใช้กฎระเบียบภายใน1 ประเทศไทยได้ยื่นตารางข้อผูกพันดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 25652 ต่อมาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ประเทศอินเดียและสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ได้คัดค้านการปรับปรุงตารางข้อผูกพันฯ ดังนั้น ตารางข้อผูกพันฯ จึงยังไม่ได้รับการรับรองโดยสมาชิก WTO และยังไม่มีผลใช้บังคับ ส่งผลให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ (รวมถึงประเทศไทย) ร่วมกันหารือกับประเทศอินเดียและสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เพื่อให้เพิกถอนคำคัดค้านการปรับปรุงตารางข้อผูกพันฯ
2. ประเทศสมาชิกมีข้อสรุปร่วมกันในการปรับแก้ไขเอกสารในรูปแบบใบแก้ไขข้อผิดพลาด (Corrigendum) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยืนยันความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างประเทศสมาชิกเกี่ยวกับพันธกรณีใหม่ที่จะผูกพันเพิ่มเติม โดยเป็นการปรับแก้ไขถ้อยคำเชิงเทคนิคในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำของวินัยในตารางข้อผูกพันฯ แต่อย่างใด รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการตามวินัยภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องปรับแก้ไขกฎหมายปัจจุบัน ดังนี้
2.1 ประเทศไทยได้ยื่นเอกสารใบแก้ไขผิดพลาดที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบภายในประเทศด้านบริการ ซึ่งปรากฏตามเอกสารแนบท้ายร่างตารางของประเทศไทย ได้แก่ วินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศด้านบริการ และวินัยทางเลือกเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศด้านบริการสำหรับบริการด้านการเงิน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำของวินัยตามตารางข้อผูกพันฯ ที่ได้จัดทำไว้แล้ว ดังนี้
สาขาหรือสาขาย่อย |
ข้อจำกัด การเข้าสู่ตลาด |
ข้อจำกัด การประติบัติ เยี่ยงคนชาติ |
ข้อผูกพันเพิ่มเติม |
ทุกสาขาที่รวมอยู่ในตารางนี้ |
|
|
ไทยยอมรับ “วินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศด้านบริการ” ระบุในส่วนที่สองของเอกสาร INF/SDR/23 ที่แนบท้ายให้เป็นข้อผูกพันเพิ่มเติมสำหรับทุกสาขาที่รวมอยู่ในตารางนี้ยกเว้นบริการด้านการเงิน |
สอง ข้อผูกพันเฉพาะรายสาขา |
|||
เจ็ด บริการด้านการเงิน |
|
|
ไทยยอมรับ “วินัยทางเลือกเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศด้านบริการสำหรับบริการด้านการเงิน” ระบุในส่วนที่สองของเอกสาร INF/SDR/2 ที่แนบท้ายให้เป็นข้อผูกพันเพิ่มเติม สำหรับบริการด้านการเงินที่รวมอยู่ในตารางนี้ |
2.2 ประเทศไทยได้ยืนยันความเข้าใจดังต่อไปนี้
(1) การรับรองในปัจจุบันไม่ถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับการผนวกรวมผลลัพธ์ใน WTO
(2) ข้อผูกพันเฉพาะเพิ่มเติมไม่เป็นการลดสิทธิหรือปรับเปลี่ยนพันธกรณีภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการของสมาชิก WTO ซึ่งไม่ยอมรับข้อผูกพันเฉพาะเพิ่มเติม นอกจากนี้ข้อผูกพันเฉพาะเพิ่มเติมยังไม่ลดพันธกรณีใดภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการของสมาชิก WTO ที่ยอมรับข้อผูกพันเฉพาะเพิ่มเติม
(3) ข้อผูกพันเฉพาะเพิ่มเติมไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดทำวินัยที่จำเป็นใดตามวรรคสี่ของข้อหกของความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ
(4) การอ้างถึง “หลายสมาชิก” หรือ “สมาชิก” ที่รวมไว้ในวินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศด้านบริการ และวินัยทางเลือกเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศด้านบริการสำหรับบริการด้านการเงิน หมายถึง การอ้างถึงสมาชิก WTO ที่ยอมรับข้อผูกพันเฉพาะเพิ่มเติมเหล่านี้ การอ้างถึง “หลายสมาชิกอื่น” หมายถึง การอ้างถึง “สมาชิก WTO อื่น” การอ้างถึง “องค์กรวิชาชีพของหลายสมาชิก” หมายถึง การอ้างถึง “องค์กรวิชาชีพของสมาชิก WTO”
3. ประเทศไทยและประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้ยื่นเอกสารใบแก้ไขข้อผิดพลาด (Corrigendum) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 จึงเป็นผลให้ประเทศอินเดียและสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เพิกถอนคำคัดค้านต่อการปรับปรุงตารางข้อผูกพันฯ และเป็นผลให้ตารางข้อผูกพันฯ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งการปรับแก้ไขและการมีผลบังคับใช้ของเอกสารดังกล่าวจำเป็นต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565
__________________
1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (13 กันยายน 2565) เห็นชอบร่างตารางข้อผูกพันฯ และมอบหมายให้ พณ. นำร่างตารางข้อผูกพันของประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการภายใต้ WTO เพื่อให้การปรับปรุงร่างตารางข้อผูกพันฯ มีผลผูกพันทางกฎหมาย ตามที่ พณ. เสนอ ทั้งนี้ ในการผูกพันสาขาบริการ ประเทศไทยได้จัดทำตารางข้อผูกพันเฉพาะการเปิดเสรีในสาขาบริการต่างๆ 2 ส่วน ได้แก่ การเข้าสู่ตลาด และการประติบัติเยี่ยงคนชาติ โดยจะให้ประเทศสมาชิกระบุข้อผูกพันเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากการเปิดเสรีสองส่วนข้างต้นที่เป็นผลจากการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับประเทศสมาชิกอื่นและแตกต่างกันไปในแต่ละสาขาบริการ เช่น กำหนดว่าผู้ที่จะประกอบธุรกิจบริการในประเทศไทยจะต้องได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่ผูกพันหรือสงวนสิทธิในการเปิดเสรีในบางสาขาบริการ และกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้คนต่างชาติเข้ามาให้บริการในประเทศได้ โดยกำหนดเงื่อนไขว่าต้องดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบที่กรมการจัดหางานกำหนด เป็นต้น
2 คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 พฤศจิกายน 2564) เห็นชอบข้อเสนอท่าที่ไทยสำหรับการประชุมรัฐมนตรีของ WTO สมัยสามัญครั้งที่ 12 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการประชุมภายใต้กรอบการหารือหลายฝ่ายเพื่อการจัดทำวินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศด้านการค้าบริการ โดยไทยมีท่าทีสนับสนุนการดำเนินการที่สำคัญได้แก่ (1) การประกาศสรุปผลการเจรจาจัดทำร่างวินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศ (2) การยื่นร่างตารางข้อผูกพันเพื่อนำร่างวินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศเข้ามาผูกพันไว้เป็นส่วนหนึ่งของตารางข้อผูกพันภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของ WTO และ (3) การดำเนินการภายในเพื่อนำร่างวินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศมาผูกพันทางกฎหมายตามกระบวนการของ WTO ภายใน 12 เดือน
3 การปรับแก้ไขข้อความมีผลทำให้ตารางข้อผูกพันฯ ผูกพันเฉพาะประเทศสมาชิกกลุ่มถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยระเบียบภายในประเทศสำหรับภาคบริการ [Joint Initiative on Service Domestic Regulation (JI DR)] จำนวน 66 ประเทศที่ไทยร่วมเป็นสมาชิก (ไม่รวมถึงประเทศอินเดียและสาธารณรัฐแอฟริกาใต้) โดยจะไม่ได้ผูกพันกับประเทศ WTO ทั้งหมด 164 ประเทศ (รวมประเทศอินเดียและสาธารณรัฐแอฟริกาใต้)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 25 มิถุนายน 2567
6787