ผลการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 25 June 2024 22:18
- Hits: 10928
ผลการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ1 ครั้งที่ 13 (the Thirteenth Ministerial Conference : MC13) (การประชุม MC13) และการประชุมที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ร่วมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม MC13 ระหว่างวันที่ 26-29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติอาบูดาบี กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีรัฐมนตรีด้านการค้าและผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิกจำนวน 164 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม
2. ในภาพรวมการประชุม MC13 มีรูปแบบการประชุมเป็นการหารือรายหัวข้อ (Working Session) ซึ่งเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถแสดงความคิดเห็นหรือกล่าวถ้อยแถลงโดยความสมัครใจในประเด็นต่างๆ โดยภายหลังการประชุม MC13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมได้บรรลุฉันทามติและให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมซึ่งแตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (20 กุมภาพันธ์ 2567)2 เห็นชอบไว้ โดยเปรียบเทียบได้ ดังนี้
ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม MC13 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้ |
ผลลัพธ์การประชุม MC13 |
|
1. ร่างกฎเกณฑ์เรื่องการอุดหนุนที่นำไปสู่การทำประมงที่เกินศักยภาพและการทำประมงที่เกินขนาด และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง |
ที่ประชุมไม่สามารถสรุปผลการเจรจาได้ เนื่องจากสมาชิกยังมีท่าทีที่แตกต่างกัน เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น สนับสนุนให้มีการแจ้งรายชื่อเรือประมงและผู้ประกอบการประมงที่ใช้แรงงานบังคับ เนื่องจากเห็นว่าการใช้แรงงานบังคับทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนในการทำประมงที่น้อยลง ส่วนจีน มาเลเซีย และไทยไม่สนับสนุนให้มีการแจ้งรายชื่อฯ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวอยู่นอกเหนือขอบเขตของ WTO ที่ดูเรื่องการค้าเป็นหลัก |
|
2. ร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์3 ครั้งที่ 43 เป็นการประกาศเจตนารมณ์ของสมาชิกที่จะผลักดันการเจรจาปฏิรูปเกษตรให้มีความคืบหน้าและเป็นรูปธรรมรวมทั้งตระหนักถึงสถานการณ์และความขัดแย้งที่อาจกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก การใช้มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นข้อจำกัดทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรใน 3 ประเด็นหลักภายใต้ WTO ได้แก่ (1) การเปิดตลาดที่จะมีการลดภาษีระหว่างสมาชิกอย่างค่อยเป็นค่อยไป (2) การลดการอุดหนุนที่บิดเบือนการค้าให้แก่สินค้าเกษตร และ (3) การให้สมาชิกปฏิบัติตามมติที่ให้ยกเลิกการอุดหนุนส่งออก |
ที่ประชุมให้การรับรองเป็นเอกสารผลลัพธ์ และได้แสดงความยินดีต่อไทยที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น รองประธานกลุ่มเคร์นส์ในวาระ 1 ปี และเป็น รองประธานกลุ่มเคร์นส์ประเทศแรกที่จะช่วยขับเคลื่อนการเจรจาปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรภายใต้ WTO ได้อย่างเป็นรูปธรรม |
|
3. ร่างรายงานผลดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยเรื่องสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 13 |
ที่ประชุมให้การรับรองเป็นเอกสารผลลัพธ์ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ปฏิญญารัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามข้อบทการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างที่มีความแม่นยำมีประสิทธิภาพ และใช้งานได้จริงของความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า |
|
4. ร่างข้อตัดสินใจรัฐมนตรีเรื่องแผนการดำเนินงานสำหรับเศรษฐกิจขนาดเล็ก |
|
|
5. ร่างข้อตัดสินใจรัฐมนตรีเรื่องการภาคยานุวัติเข้าเป็นสมาชิก WTO ของสหภาพคอโมโรส |
||
6. ร่างข้อตัดสินใจรัฐมนตรีเรื่องการภาคยานุวัติเข้าเป็นสมาชิก WTO ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต |
||
7. ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีเรื่องความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการลงทุนเพื่อการพัฒนา |
||
8. ร่างคำขอให้มีข้อตัดสินใจระดับรัฐมนตรีเพื่อเพิ่มความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการลงทุนเพื่อการพัฒนาภายใต้ภาคผนวก 4 ของความตกลง WTO |
ที่ประชุมให้การรับรองเป็นเอกสารผลลัพธ์
|
|
9. ร่างปฏิญญารัฐมนตรีว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านกฎระเบียบเพื่อลดอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า |
||
10. ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรี WTO สมัยสามัญ ครั้งที่ 13 เอกสารดังกล่าวแสดงความมุ่งมั่นของสมาชิก WTO ที่จะผลักดันและเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีภายใต้ WTO ในการรับมือกับความท้าทายทางการค้าโลกยุคใหม่ เช่น การเน้นย้ำบทบาทสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน การมีส่วนร่วมผู้ประกอบการ MSMEs4 และสตรีในภาคการค้า โดยยืนยันหลักการในการผลักดันและเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคี โดยมี WTO เป็นศูนย์กลาง เพื่อผลักดันให้เกิดการจัดการกับความท้าทายทางการค้าในปัจจุบัน และมุ่งมั่นดำเนินการปฏิรูป WTO เพื่อปรับปรุงการทำงานทั้งหมดของ WTO โดยเฉพาะการปฏิรูปกลไกการระงับข้อพิพาทรวมถึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี |
ที่ประชุมให้การรับรองเป็นเอกสารผลลัพธ์ โดยเปลี่ยนชื่อ เป็น ปฏิญญารัฐมนตรีอาบูดาบี (Abu Dhabi Ministerial Declaration) |
|
11. ร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีของสมาชิกกำลังพัฒนาเรื่องการมีส่วนร่วมของระบบการค้าพหุภาคีเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม |
ที่ประชุมไม่มีการนำเอกสารทั้งสองฉบับมาหารือในที่ประชุม เนื่องจากประเทศสมาชิกยังไม่สามารถหาข้อสรุปในประเด็นดังกล่าวได้ |
|
12. ร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีเรื่องการหารือเรื่องมลพิษพลาสติกและการค้าพลาสติกอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม |
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์เพิ่มเติมอีก 4 ฉบับ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการเจรจาและท่าทีไทยซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไว้แล้ว5 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ดังนี้
กรอบเจรจาและท่าทีไทย |
ผลลัพธ์การประชุม |
|
การสนับสนุนสมาชิกที่พ้นสถานะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ไทยสนับสนุนการหารือรายละเอียดแนวทางและมาตรการสนับสนุนสมาชิกที่พ้นสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Country : LDCs) ตามข้อเสนอของกลุ่ม LDCs โดยให้สามารถร่วมฉันทามติในการขยายสิทธิประเด็นที่เกี่ยวกับการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างรวมถึงความยืดหยุ่นในการปฏิบัติตามความตกลง WTO แก่สมาชิกที่พ้นสถานะ LDCs โดยไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญแก่สมาชิกอื่นและมีกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม |
ที่ประชุมให้การรับรอง โดยออกเป็นเอกสารผลลัพธ์ “ข้อตัดสินใจรัฐมนตรีว่าด้วยมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นขององค์การการค้าโลกสำหรับสมาชิกที่พ้นสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด” มีสาระสำคัญ เช่น สมาชิกที่พ้นจากสถานะ LDCs จะยังคงได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคและด้านการสร้างขีดความสามารถเฉพาะ มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี |
|
การปฏิรูปกลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO ไทยสนับสนุนการหารือแนวทางการปฏิรูปกลไกการระงับข้อพิพาทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสนับสนุนให้มีกระบวนการหารือที่มีความร่วมมือของทุกสมาชิกอย่างครอบคลุม โปร่งใส |
ที่ประชุมให้การรับรอง โดยออกเป็นเอกสารผลลัพธ์ “ข้อตัดสินใจรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูปกลไกการระงับข้อพิพาท” โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินการหารือเพื่อให้มีกลไกการระงับข้อพิพาทที่ดำเนินการได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ และสมาชิกทุกรายสามารถเข้าถึงได้ภายในปี 2567 |
|
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ไทยสนับสนุนการดำเนินการตามแผนงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการต่ออายุยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการชั่วคราว |
ที่ประชุมให้การรับรอง โดยออกเป็นเอกสารผลลัพธ์ “ข้อตัดสินใจรัฐมนตรีว่าด้วยแผนงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” โดยมีสาระสำคัญ เช่น (1) ให้สมาชิกสานต่อการฟื้นฟูการดำเนินงานภายใต้แผนงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (2) ส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่าง WTO และองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการฝึกอบรมแก่ประเทศกำลังพัฒนาและ LDCs และ (3) สมาชิกตกลงที่จะคงแนวปฏิบัติปัจจุบันในการยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการชั่วคราวไปจนถึง MC14 |
|
การต่ออายุการยกเว้นจากการฟ้องร้องภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO เป็นการชั่วคราวกรณีได้รับความเสียหายหรือเสียประโยชน์อันพึงได้รับจากพันธกรณีแม้มิได้ละเมิดความตกลง Trade - Related Aspects of Intellectual Property Rights (TRIPS) ไทยสนับสนุนการต่ออายุการยกเว้นจากการฟ้องร้องภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO เป็นการชั่วคราว |
ที่ประชุมให้การรับรอง โดยออกเป็นเอกสารผลลัพธ์ “ข้อตัดสินใจรัฐมนตรีว่าด้วยการฟ้องร้องกรณีได้รับความเสียหายหรือเสียประโยชน์อันพึงได้รับจากพันธกรณีแม้มิได้ละเมิดความตกลงทริปส์” โดยที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันว่า สมาชิกจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องใดๆ ภายใต้ความตกลง TRIPS |
3. การประชุม MC13 ครั้งนี้ถือเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับอนาคตของ WTO เนื่องจากผลลัพธ์ต่างๆ จะถูกนำไปต่อยอดในการดำเนินการ โดยสมาชิก WTO จะต้องร่วมกันทำงานต่อไป เพื่อเสริมสร้างระบบการค้าโลกให้มีความยั่งยืน ครอบคลุมและโปร่งใส ซึ่งรวมถึงการหารือในประเด็นคงค้างต่างๆ ที่ยังต้องหาข้อยุติเพื่อเป็นผลลัพธ์ในการประชุมครั้งถัดไป นอกจากนี้ การเข้าร่วมประชุมและรับรองเอกสารผลลัพธ์ต่างๆ ยังเป็นการเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก โดยตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และรักษาบทบาทนำของประเทศไทยในภูมิภาคและอนุภูมิภาครวมทั้งสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ องค์กรทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงของประเทศไทยต่อไป
_________________
1การประชุม MC และการประชุมที่เกี่ยวข้องเป็นกลไกการดำเนินงานระดับสูงสุดของ WTO มีกำหนดจัดการประชุมทุก 2 ปี เพื่อตัดสินใจในเรื่องสำคัญและกำหนดแนวทางความร่วมมือระดับพหุภาคีต่อประเด็นการค้าและที่เกี่ยวข้องการค้า โดยมีรัฐมนตรีด้านการค้าและผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิก WTO จำนวน 164 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม
2คณะรัฐมนตรีมีมติ (20 กุมภาพันธ์ 2567) เห็นชอบข้อเสนอท่าทีไทยและการร่วมรับรองเอกสารที่จะเป็นผลลัพธ์สำหรับการประชุม MC13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 ฉบับ ตามที่ พณ. เสนอ
3กลุ่มพันธมิตรของประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การค้าสินค้าเกษตรมีความเสรีและเป็นธรรม ประกอบด้วยสมาชิก 19 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา กัวเตมาลา อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปารากวัย เปรู ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ ไทย อุรุกวัย เวียดนาม และยูเครน
4การประกอบธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprise) เป็นส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม โดย MSMEs ครอบคลุมผู้ประกอบการในทุกกลุ่มธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจผลิตสินค้า ธุรกิจการค้า ธุรกิจบริการ
5คณะรัฐมนตรีมีมติ (20 กุมภาพันธ์ 2567) เห็นชอบข้อเสนอท่าทีไทยและการร่วมรับรองเอกสารที่จะเป็นผลลัพธ์สำหรับการประชุม MC13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 ฉบับ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 25 มิถุนายน 2567
6784