ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลบ้านจั่น และตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 20 June 2024 03:25
- Hits: 8106
ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลบ้านจั่น และตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลบ้านจั่น และตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอว่า
1. สืบเนื่องจาก คค. ได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบ้านจั่น ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองบัว และตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2562 เพื่อสร้างและขยายทางหลวงชนบทถนนสาย ก 7 ถนนสาย ง 8 และถนนสาย จ ตามโครงการผังเมืองรวมอุดรธานี และถนนต่อเชื่อม และเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด ซึ่งมีระยะเวลาบังคับใช้กำหนด 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 6 เมษายน 2566
2. ลักษณะของโครงการก่อสร้างและขยายทางหลวงชนบท ถนนสาย ก 7 ถนนสาย ง 8 และถนนสาย จ ตามโครงการผังเมืองรวมอุดรธานี และถนนต่อเชื่อม โดย
(1) ถนนสาย ก 7 และถนนสาย ง 8 เป็นถนนขนาด 4 ช่องทางจราจรพร้อมเกาะกลาง ชนิดผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก ช่องทางจราจรกว้างช่องละ 3.25 – 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 3.00 เมตร ทางเท้ากว้างข้างละ 2.90 เมตร เขตทางกว้างประมาณ 16.00 – 30.00 เมตร
(2) ถนนสาย จ เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร ชนิดผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร ทางเท้ากว้างข้างละ 3.90 เมตร เกาะกลางแบบยกกว้าง 8.50 – 27.70 เมตร เกาะกลางแบบร่องกว้าง 9.00 เมตร เขตทางกว้างประมาณ 60.00 เมตร
รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น 15.17 กิโลเมตร มีที่ดินที่ถูกเวนคืนประมาณ 367 ไร่ มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนประมาณ 243 รายการ
3. กรมทางหลวงชนบทได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจในการดำเนินโครงการ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์พบว่า ถนนสาย ก 7 และถนนสาย ง 8 มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) มีค่า 164.66 อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจโครงการ (ERR) มีค่า 14.18% อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) มีค่า 1.20 และถนนสาย จ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) มีค่า 70.26 อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจโครงการ (EIRR) มีค่า 13.33% อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) มี 1.09 ซึ่งถือได้ว่าโครงการดังกล่าวนี้ มีความเหมาะสมในการดำเนินการ และหากพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางอ้อมที่เกี่ยวกับการรองรับการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตโครงการจะมีความเหมาะสมมากขึ้นอีก
4. กรมทางหลวงได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นโดยรวมต่อโครงการมีประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการคิดเป็นร้อยละ 71.80
5. ในการดำเนินโครงการเพื่อสร้างและขยายทางหลวงชนบท ถนนสาย ก 7 ถนนสาย ง 8 และถนนสาย จ ตามโครงการผังเมืองรวมอุดรธานี และถนนต่อเชื่อมใช้เงินงบประมาณประจำปีเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย โดยใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการประมาณ 2,040 ล้านบาท (ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 800 ล้านบาท และค่าก่อสร้างประมาณ 1,240 ล้านบาท) ซึ่งกรมทางหลวงชนบทได้มีแผนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและเบิกจ่ายเงินค่าทดแทนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568- 2569 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2569 - 2571
6. โดยที่พระราชกฤษฎีกาตามข้อ 1. ได้สิ้นผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2566 ทำให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาตามแผนการดำเนินการที่กำหนดไว้
7. ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลบ้านจั่น และตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เพื่อสร้างและขยายทางหลวงชนบทถนนสาย ก 7 ถนนสาย ง 8 และถนนสาย จ ตามโครงการผังเมืองรวมอุดรธานีและถนนต่อเชื่อม มีระยะเวลาใช้บังคับ 5 ปีโดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ โดยร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัดต่อเนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลบ้านจั่น ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองบัว และตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2562 ซึ่งยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
8. สำนักงบประมาณพิจารณาแล้ว เห็นควรที่กรมทางหลวงชนบทจะเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวจะต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญด้วย
9. คค. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (22 มีนาคม 2565) [เรื่องแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการตราร่างกฎหมายหรือร่างอนุบัญญัติที่ต้องจัดให้มีแผนที่ท้าย] โดยกรมการปกครองได้ตรวจสอบร่างแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาแล้วพบว่า สอดคล้องกับคำบรรยายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2541 และแนวเขตที่ดินที่ปรากฏในแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองบัว ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลบ้านจั่น และตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (รองนายกรัฐมนตรี) 18 มิถุนายน 2567
6575