ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 20 June 2024 03:05
- Hits: 8024
ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวง
1. มท. เสนอว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ในท้องที่ตำบลหนองโอ่ง ตำบลอู่ทอง ตำบลกระจัน ตำบลเจดีย์ ตำบลจรเข้สามพัน และตำบลยุ้งทะลาย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 โดยเป็นผังพื้นที่เปิดใหม่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะและสภาพแวดล้อม โดยส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการผังเมือง
2. ในการประชุมคณะกรรมการผังเมือง (ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518) ครั้งที่ 11 /2560 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ได้มีมติเห็นชอบผังเมืองรวมชุมชนอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. .... และนำไปปิดประกาศเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียแสดงข้อคิดเห็นปรากฏว่าไม่มีผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้อง และได้นำเสนอคณะกรรมการผังเมืองเพื่อทราบ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561
3. ต่อมาได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ 2562 โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ทั้งฉบับ และได้แก้ไขรูปแบบการประกาศใช้บังคับกฎหมายในส่วนของผังเมืองรวมที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้วางและจัดทำผังขึ้นใหม่ โดยให้ดำเนินการประกาศใช้บังคับเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย (เดิมประกาศใช้บังคับเป็นกฎกระทรวง) ประกอบกับมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมืองฯ บัญญัติให้บรรดาผังเมืองรวมที่อยู่ระหว่างดำเนินการวางและจัดทำตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ การดำเนินการต่อไปสำหรับการนั้นให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนด และในการประชุมคณะกรรมการผังเมือง ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้ผังเมืองรวมที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้วางและจัดทำผัง ซึ่งคณะกรรมการผังเมือง (ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518) ได้ให้ความเห็นชอบแล้วและอยู่ในขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย ให้ดำเนินการออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยเพื่อใช้บังคับต่อไป
4. มท. โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. .... ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติว่า “เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 29 แล้ว ไม่มีผู้มีส่วนได้เสียผู้ใดยื่นคำร้องตามมาตรา 30 หรือมีแต่คณะกรรมการผังเมืองสั่งยกเลิกคำร้องดังกล่าวหรือเมื่อกรมโยธาธิการและผังเมืองไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้วแต่ละกรณี ดำเนินการเพื่อออกประกาศกระทรวงมหาดไทยหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น แล้วแต่ละกรณี โดยไม่ชักช้า ในการนี้ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองนำประกาศกระทรวงมหาดไทยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยตรงพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน” ทั้งนี้ ในกระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะได้จัดทำเป็นร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผังเมืองซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว
5. กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลหนองโอ่ง ตำบลอู่ทอง ตำบลกระจัน ตำบลเจดีย์ ตำบลจรเข้สามพัน และตำบลยุ้งทะลาย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคม และการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
5.1 ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนเมืองให้เป็นศูนย์กลางการบริการ การปกครอง การค้า การพาณิชย์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์
5.2 อนุรักษ์โบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีและพื้นที่โดยรอบ
5.3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน
5.4 อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 12 ประเภท ดังนี้
ประเภท |
วัตถุประสงค์ |
|
1. ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อการอยู่อาศัย (สีเหลืองมีเส้นทแยงสีขาว) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยบริเวณรอบคูเมืองโบราณอู่ทองและบริเวณริมสองฝั่งคลองระบายน้ำจรเข้สามพัน ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์วิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมริมน้ำที่คงคุณค่าในระยะยาวอาคารที่ก่อสร้างต้องมีความสูงไม่เกิน 7 เมตร ห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นอุปสรรคต่อการอยู่อาศัย เช่น โรงงานทุกจำพวกที่กฎหมายว่าด้วยโรงงาน การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า คลังน้ำมัน คลังก๊าซปิโตรเลียม สถานที่เก็บวัตถุไวไฟ กำจัดมูลฝอยหรือสิ่งปฏิกูล เป็นต้น รวมทั้งให้มีที่ว่างตามแนวขนานริมฝั่งตามสภาพธรรมชาติของลำคลองไม่น้อยกว่า 6 เมตร |
|
2. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่น (สีเหลือง) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการอยู่อาศัยชั้นดี กำหนดไว้ที่บริเวณพื้นที่พัฒนาใหม่ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่รองรับการขยายตัวของชุมชนจากศูนย์กลางหลักด้านการค้า การบริการ ห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นอุปสรรคต่อการอยู่อาศัย เช่น การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า คลังน้ำมัน สถานที่เก็บวัตถุไวไฟ กำจัดมูลฝอยหรือสิ่งปฏิกูล โรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถประกอบกิจการได้ เช่น การเพาะเชื้อเห็ด การทำนมสด การทำแป้ง การทำน้ำเชื่อม เป็นต้น |
|
3. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณศูนย์กลางหลักด้านการค้า การบริการ การท่องเที่ยว และการนันทนาการแก่ชุมชน ห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นอุปสรรคต่อการอยู่อาศัย เช่น การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า คลังน้ำมัน สุสานและฌาปนสถาน กำจัดขยะมูลฝอยหรือสิ่งปฏิกูล โรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถประกอบกิจการได้ เช่น การบรรจุเนื้อสัตว์ การคั่วกาแฟ การทำเครื่องประดับ เป็นต้น |
|
4. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการแก่ชุมชน และการท่องเที่ยวระดับอำเภอ ห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นอุปสรรคต่อการอยู่อาศัย เช่น การเลี้ยงสัตว์ เพื่อการค้า คลังน้ำมัน คลังก๊าซปิโตรเลียม การจัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม การซื้อขายหรือเก็บเศษวัสดุ โรงงานอุตสาหกรรม ที่สามารถประกอบกิจการได้ เช่น การซ่อมรองเท้าหรือเครื่องหนัง การซ่อมนาฬิกา เป็นต้น |
|
5. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อการสงวนรักษาพื้นที่ที่มีคุณค่าด้านเกษตรกรรม การสงวนรักษาสภาพทางธรรมชาติ และการส่งเสริมเศรษฐกิจการเกษตร ห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นอุปสรรคต่อการทำการเกษตรและการอยู่อาศัย เช่น คลังน้ำมัน การจัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม การอยู่อาศัยหรือประกอบพาณิชยกรรมประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ และโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถประกอบกิจการได้ เช่น การกะเทาะเมล็ดพืช การฆ่าสัตว์ การผลิตอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น |
|
6. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องกันการขยายตัวของเมืองเข้าใกล้กับบริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติและเป็นการสงวนพื้นที่เพื่อการเกษตร อาคารที่ก่อสร้างต้องมีความสูงไม่เกิน 7 เมตร ห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นอุปสรรคต่อพื้นที่ เช่น โรงงานทุกจำพวก ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน โรงแรม จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบพาณิชยกรรม สถานที่เก็บวัตถุไวไฟ กำจัดขยะมูลฝอยหรือสิ่งปฏิกูล เป็นต้น และกำหนดให้มีที่ว่าง ริมฝั่งคลองหรือแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 6 เมตร |
|
7. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนรักษาพื้นที่โล่งเพื่อการนันทนาการของชุมชน หรือเกี่ยวข้องกับการนันทนาการและเพื่อการรักษาสภาพแวดล้อมของลำคลอง อาคารที่ก่อสร้างต้องมีความสูงไม่เกิน 7 เมตร ห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่โล่ง เช่น การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย การอยู่อาศัยประเภท ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว การอยู่อาศัยประเภทอาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวม เป็นต้น |
|
8. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนและคุ้มครองดูแลรักษาป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ คือ ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาตะโกปิดทองและป่าเขาเพชรน้อย สำหรับที่ดินเอกชนให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย เกษตรกรรม หรือสาธารณประโยชน์ โดยห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย การอยู่อาศัยประเภทอาคารชุด หอพัก หรืออาคารอยู่อาศัยรวม เป็นต้น |
|
9. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา หรือเกี่ยวข้องกับการศึกษา สถาบันราชการ หรือสาธารณประโยชน์ เช่น โรงเรียนวัดยางยี่แส โรงเรียนภาวนาภิมณฑ์พิทยา โรงเรียนวัดสามัคคีธรรม เป็นต้น |
|
10. ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย (สีน้ำตาลอ่อน) |
- คือ เมืองโบราณอู่ทองสมัยทวารวดี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น การอยู่อาศัย สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ อาคารที่ก่อสร้างต้องมีความสูงไม่เกิน 7 เมตร ห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น โรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน โรงแรม การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าสถานที่เก็บวัตถุไวไฟ กำจัดมูลฝอยหรือสิ่งปฏิกูล ให้มีที่ว่างหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 321 ไม่น้อยกว่า 10 เมตรเป็นต้น |
|
11. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันศาสนา การศึกษา สถาบันราชการ หรือสาธารณประโยชน์ เช่น วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม วัดเขาทำเทียม วัดอู่ทอง วัดท่าพระยาจักร์ เป็นต้น |
|
12. ที่ดินประเภทสถาบันราชการการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการของรัฐ กิจการเกี่ยวกับการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หรือสาธารณประโยชน์ เช่น สำนักงานเทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง โรงพยาบาลอู่ทอง สำนักงานสาธารณสุขอำเภออู่ทอง เป็นต้น |
7. กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท
8. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังแสดงที่โล่ง เพื่อประโยชน์ในการดำรงรักษาที่โล่งไว้ เพื่อสาธารณประโยชน์และสภาพแวดล้อมอันจะเป็นการรักษาสภาพภูมิทัศน์ที่ดีของชุมชน รวมทั้งเพื่อป้องกันภัยพิบัติ เป็นที่โล่งเพื่อการสงวนรักษาสภาพการระบายน้ำตามธรรมชาติ
9. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณแนวถนนสาย ก 1 ถนนสาย ก 2 ถนนสาย ก 3 ถนนสาย ข 1 ถนนสาย ข 2 ถนนสาย ข 3 ถนนสาย ค 1 ถนนสาย ค 2 ถนนสาย ค 3 ถนนสาย ค 4 ถนนสาย ง ถนนสาย จ 1
ถนนสาย จ 2 และ ถนนสาย จ 3 ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น นอกจากกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้
9.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
9.2 การสร้างรั้วหรือกำแพง
9.3 เกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร หรือไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่
10. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้เหมาะสมเพียงพอกับการให้บริการและได้มาตรฐาน
11. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภคเพื่อการระบายน้ำ เพื่อเป็นมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (รองนายกรัฐมนตรี) 18 มิถุนายน 2567
6573