ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนองครักษ์ จังหวัดนครนายก พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 20 June 2024 02:59
- Hits: 7865
ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนองครักษ์ จังหวัดนครนายก พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนองครักษ์ จังหวัดนครนายก พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวง
1. มท. โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนองครักษ์ จังหวัดนครนายก ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 (ผังพื้นที่เปิดใหม่) โดยมีสาระสำคัญเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา การดำรงเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2. ในการประชุมคณะกรรมการผังเมือง ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 ได้มีมติเห็นชอบผังเมืองรวมชุมชนองครักษ์ จังหวัดนครนายก และนำไปปิดประกาศเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียแสดงข้อคิดเห็น ปรากฏว่าไม่มีผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้อง และได้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการผังเมืองเพื่อทราบ
3. ต่อมาได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ทั้งฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรูปแบบการประกาศใช้บังคับกฎหมายในส่วนของผังเมืองรวมที่องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้วางและจัดทำผัง และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ประกาศใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น (มาตรา 33) ซึ่งเดิมประกาศใช้บังคับเป็นกฎกระทรวง และกรณีผังเมืองรวมที่ได้ดำเนินการวางและจัดทำตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในวันก่อนที่พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ประกาศใช้บังคับ ตามมาตรา 1101 ที่ให้คณะกรรมการผังเมืองกำหนดการดำเนินการต่อไปสำหรับผังเมืองรวมนั้น ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการผังเมือง ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ได้มีมติให้ผังเมืองรวมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้วางและผู้จัดทำ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการผังเมือง (ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการยกร่างกฎหมายให้ดำเนินการออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยเพื่อใช้บังคับต่อไป
4. มท. โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนองครักษ์ จังหวัดนครนายก พ.ศ. .... ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติว่า “เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 29 แล้ว ไม่มีผู้มีส่วนได้เสียผู้ใดยื่นคำร้องตามมาตรา 30 หรือมีแต่คณะกรรมการผังเมืองสั่งยกคำร้องดังกล่าวหรือเมื่อกรมโยธาธิการและผังเมืองไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี โดยไม่ชักช้า ในการนี้ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองนำประกาศกระทรวงมหาดไทยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยตรงเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน” ทั้งนี้ ในกระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะได้จัดทำเป็นร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผังเมือง ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว
5. มท. โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนองครักษ์ จังหวัดนครนายก พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
5.1 กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลบางปลากด ตำบลทรายมูล ตำบลคลองใหญ่ และตำบลองครักษ์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะและสภาพแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินโครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้
5.1.1 ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนองครักษ์ให้เป็นศูนย์กลางการบริหาร การปกครอง การค้าและการบริการในระดับอำเภอ
5.1.2 ส่งเสริมการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย และพาณิชยกรรมให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการขยายตัวของชุมชน
5.1.3 พัฒนาการบริการทางสังคม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน
5.1.4 ดำรงรักษาพื้นที่ที่มีคุณค่าทางการเกษตรให้เป็นแหล่งผลิตอาหารอย่างเพียงพอ ปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐาน
5.1.5 อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม
5.1.6 ส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมที่มีคุณค่าทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์
5.2 กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 11 ประเภท ดังนี้
ประเภท |
วัตถุประสงค์ |
|
1. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยบริเวณรอบนอกชุมชนเมือง รองรับกิจกรรมเพื่อการอยู่อาศัย สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว ห้องแถว ตึกแถว โดยการอยู่อาศัยหรือประกอบพาณิชยกรรมจะต้องไม่เป็นอาคารขนาดใหญ่ และ ห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบ ต่อสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อการอยู่อาศัย |
|
2. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) |
มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย รองรับความต้องการที่อาศัยใกล้ศูนย์กลางชุมชนและแรงงานสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการวินาศภัยทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว ห้องแถว ตึกแถว สถาบันราชการ โดยการอยู่อาศัยหรือประกอบพาณิชยกรรมให้มีขนาดพื้นที่อาคารไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร และห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อการอยู่อาศัย |
|
3. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรม พาณิชยกรรมและการอยู่อาศัยหนาแน่นบริเวณศูนย์กลางชุมชน ให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อพาณิชย กรรม การอยู่อาศัย สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ โดยการห้ามการอยู่อาศัยหรือประกอบพาณิชยกรรมประเภทอาคารขนาดใหญ่พิเศษ คลังเชื้อเพลิงที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัย ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งส่งผลต่อสุขอนามัยชุมชน สุสานและฌาปนสถาน คลังสินค้า กำจัดขยะมูลฝอย ซื้อขายหรือเก็บเศษวัสดุ |
|
4. ที่ดินประเภทคลังสินค้า (สีเม็ดมะปราง) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นพื้นที่กิจการคลังสินค้า การบรรจุสินค้า อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ โดยไม่มีการผลิต และอุตสาหกรรมบริการชุมชนที่ไม่ก่อเหตุรำคาญ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ โดยห้ามประกอบกิจการคลังเชื้อเพลิง ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ การอยู่อาศัยหรือประกอบพาณิชยกรรมประเภทอาคารขนาดใหญ่ สถานสงเคราะห์หรือรับเลี้ยงเด็กหรือคนชรา โรงเรียน การกำจัดมูลฝอย ซื้อขายหรือเก็บเศษวัสดุและโรงงานทุกจำพวก เว้นแต่โรงงานเกี่ยวกับคลังสินค้า |
|
5. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ โดยห้ามประกอบกิจการคลังเชื้อเพลิง โรงแรม การจัดสรรที่ดินประเภทต่างๆ |
|
6. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การป้องกันน้ำท่วม และการอนุรักษ์และการรักษาสภาพแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ โดยห้ามประกอบกิจการคลังน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความหนาแน่นต่างๆ เช่น โรงแรม โรงมหรสพ การกำจัดมูลฝอย |
|
7. ที่ดินประเภทปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สีเขียวมีกรอบและเส้นทแยงสีน้ำตาล) |
- เป็นพื้นที่เขตดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม |
|
8. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน) |
- มีวัตถุประสงค์เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ การนันทนาการ หรือที่เกี่ยวข้องกับนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือสาธารณประโยชน์เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพสมบูรณ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยห้ามประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ห้ามก่อสร้างอาคารเกิน 300 ตารางเมตร |
|
9. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาหรือเกี่ยวข้องกับการศึกษา สถาบันราชการ หรือสาธารณประโยชน์ เช่น โรงเรียนวัดเชี่ยวโอสถ โรงเรียนองครักษ์ |
|
10. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นพื้นที่ศาสนาในปัจจุบัน เช่น วัดเชี่ยวโอสถ วัดสว่างอารมณ์ |
|
11. ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หรือสาธารณประโยชน์ เช่น โรงพยาบาลองครักษ์ สำนักงานเกษตรอำเภอองครักษ์ |
5.3 กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) และที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท
5.4 กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณแนวถนนสาย ก 1 ถนนสาย ก 2 ถนนสาย ก 3 ถนนสาย ข 1 ถนนสาย ข 2 ถนนสาย ข 3 ถนนสาย ข 4 ถนนสาย ข 5 ถนนสาย ค 1 ถนนสาย ค 2 ถนนสาย ค 3 ถนนสาย ค 4 ถนนสาย ค 5 และถนนสาย ค 6 ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้
5.4.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภคและ สาธารณูปการ
5.4.2 การสร้างรั้วหรือกำแพง
5.4.3 การเกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร หรือไม่ใช่อาคารใหญ่
–––––––––––––––––-–
1มาตรา 110 บัญญัติว่า บรรดาผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะที่อยู่ระหว่างดำเนินการวางและจัดทำตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การดำเนินการต่อไปสำหรับการนั้นให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนดโดยไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (รองนายกรัฐมนตรี) 18 มิถุนายน 2567
6572