ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง กฎหมายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 20 June 2024 02:54
- Hits: 7798
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง กฎหมายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง กฎหมายด้าน การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง กฎหมายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการดังกล่าวได้พิจารณาสภาพปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย การจัดทำกฎหมายลำดับรอง และการตรากฎหมายของ อว. และได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเร่งรัดและผลักดันในการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และการออกกฎหมายแต่ละฉบับให้มีความสอดคล้องซึ่งกันและกัน รวมถึงดำเนินการเพื่อเกิดการเสริมสร้างระบบธรรมาภิบาลขึ้นในสถาบันอุดมศึกษา
2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (31 ตุลาคม 2566) รับทราบรายงานตามข้อ 1 มอบหมายให้ อว. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงบประมาณ (สงป.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
อว. ได้รวบรวมผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 2 แล้ว โดยสรุปผลการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1. เร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรองของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแต่ละฉบับ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละฉบับ โดยควรแจ้งความคืบหน้าหรือสถานะของกฎหมายลำดับรองแต่ละฉบับให้ทราบด้วย |
- อว. ได้มีการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามกฎหมายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อที่ประชุมคณะทำงานสนับสนุนข้อมูลกฎหมายการอุดมศึกษาฯ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาจนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 - กค. เห็นว่า ควรเร่งรัดการออกฎหมายลำดับรองของพระราชบัญญัติแต่ละฉบับให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละฉบับ เนื่องจากมีผลกระทบต่อหน่วยงานเป็นจำนวนมาก และควรแจ้งความคืบหน้าหรือสถานะของกฎหมายลำดับรองของแต่ละฉบับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบด้วย - สงป. เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
|
2. เร่งรัด ผลักดันการออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนพัฒนาความเป็นเลิศและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางของสถาบันอุดมศึกษาให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว |
- อว. เห็นว่า การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวตามข้อเสนอแนะมีบทบาทสำคัญในการผลิตบัณฑิตและกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงเพียงพอต่อความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ซึ่ง อว.ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา จำนวน 4 ฉบับ ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (18 มกราคม 2565) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา จำนวน 4 ฉบับ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้ง 4 ฉบับเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างเสนอรัฐสภา แต่เนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 จึงทำให้ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว ซึ่งรัฐสภายังไม่ได้ให้ความเห็นชอบตกไป ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ทั้ง 4 ฉบับ อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี1 - กค. เห็นควรเร่งรัดและผลักดันกฎหมายการจัดตั้งกองทุนฯ ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว - สงป. เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
|
3. ควรผลักดันการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แต่ละฉบับ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันแต่มีปัญหาขาดความเชื่อมโยงกัน โดยให้กฎหมายดังกล่าว มีความสอดคล้องซึ่งกันและกัน |
- อว. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนและกำกับดูแลในด้านการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ฯ การออกกฎหมายลำดับรองล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดอาจส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในด้านการดำเนินการในเรื่องที่ต้องเชื่อมโยงกันตามกลไกของกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่งปัจจุบันได้กำกับดูแลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการออกกฎหมายลำดับรอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ฯ ของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ - กค. เห็นว่า ผลของการบังคับใช้กฎหมายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ฯ พบปัญหาการออกกฎหมายลำดับรองที่ไม่เป็นไปตามระยะเวลาของบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติแต่ละฉบับ และขาดความเชื่อมโยง ดังนั้น เห็นควรเร่งรัดและผลักดันการออกกฎหมายลำดับรองและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้มีความสอดคล้องซึ่งกันและกัน รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา - สงป. เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
|
4. การจัดทำประมวลจริยธรรม 4.1 ดำเนินการเสริมสร้างระบบธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา |
- อว. ได้จัดการอบรมหลักสูตรส่งเสริมคุณภาพสถาบันอุดมศึกษาและผู้บริหารระดับสูงในสถาบันอุดมศึกษาและได้แจ้งให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาให้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติตาม หลักธรรมาภิบาลโดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และให้รายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานปลัด อว. ทราบ เพื่อจะได้นำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำ good governance university report และพัฒนาไปสู่การมอบรางวัล good governance university award - กค. เห็นควรให้มีการเสริมสร้างระบบธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาบูรณาการความร่วมมือและองค์ความรู้ในการดำเนินงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ควรมีกลยุทธ์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางดำเนินงานโดยอาศัยแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) เสริมสร้างธรรมาภิบาล และระบบการบริหารจัดการที่ดีของสถาบันอุดมศึกษา - สงป. เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
|
4.2 การดำเนินการในเรื่องร้องเรียนควรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และควรดำเนินการภายในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติก่อน หากเรื่องใดไม่สามารถยุติได้ และพิจารณาว่าเป็นการ ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง จึงค่อยส่งเรื่องมาให้ อว. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป |
- อว. เห็นด้วยกับข้อเสนอเนะของคณะ กรรมาธิการฯ และเห็นควรให้สถาบันอุดมศึกษาพิจารณาดำเนินการแก้ไขปรับปรุงประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือพระราชบัญญัติการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล และควรสื่อสารกับบุคลากรและผู้ร้องเรียนให้เข้าใจในสาระสำคัญและเจตนารมณ์ในการออกแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล และกระบวนการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งควรกำหนดแนวทางในการจัดการปัญหาเรื่องข้อร้องเรียนภายในสถาบันอุดมศึกษา และประกาศให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบด้วย |
|
4.3 ให้เร่งรัดการจัดทำประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาบุคลากรและผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษา |
- กค. และ สงป. เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ - อว. เห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งจะต้องดำเนินการจัดทำประมวลจริยธรรมเกี่ยวกับบุคลากรและผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานตนเอง โดยอย่างน้อยต้องมีมาตรฐานกลางที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษากำหนด และควรพิจารณาให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 - กค. เห็นว่า ควรเร่งรัดการจัดร่างประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา บุคลากรและผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้มีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล - สงป. เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
_________________
1ครม. มีมติ (7 พ.ค. 2567) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. การอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ. การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ. สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 4 ฉบับ ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่ อว. เสนอ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (รองนายกรัฐมนตรี) 18 มิถุนายน 2567
6571