ขอความเห็นชอบให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้าง หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทและบวชชีพรหมโพธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 20 June 2024 01:03
- Hits: 8084
ขอความเห็นชอบให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้าง หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทและบวชชีพรหมโพธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยไม่ถือเป็นวันลา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอดังนี้
1. ให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างวันที่ 18 - 30 กรกฎาคม 2567 เป็นเวลา 13 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงาน และได้รับเงินเดือนตามปกติ
2. ให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นสตรี ที่เข้าร่วมบวชชีพรหมโพธิถวายเป็นพระราชกุศลในครั้งนี้ สามารถลาปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 13 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเสมือนเป็นการปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงาน และได้รับเงินเดือนตามปกติ ทั้งนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน และขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (4 ธันวาคม 2550) ในส่วนของการลาปฏิบัติธรรม ครั้งหนึ่งตลอดอายุราชการเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน และยกเว้นการปฏิบัติธรรมในสถานที่ปฏิบัติธรรม ตามประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เรื่อง แนวทางและขั้นตอนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ในการให้ข้าราชการเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ที่เป็นสตรี ไปถือศีลและปฏิบัติธรรมในสำนักปฏิบัติธรรม ที่ พศ. รับรอง ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551
โดยการยกเว้นตามประกาศ พศ. ให้ วธ. ประสานการดำเนินการกับ พศ. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการบรรพชาอุปสมบท 73 รูป และบวชชีพรหมโพธิ 73 คน เห็นสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้รับจัดสรร หรือพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือโอนเงินจัดสรร หรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร แล้วแต่กรณี ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ตามความเห็นของ สำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559 – 2567 คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจลาบรรพชาอุปสมบทตามโครงการเฉลิมพระเกียรติหรือถวายพระราชกุศลในโอกาสต่างๆ ที่สำคัญ โดยไม่ถือเป็นวันลา มาอย่างต่อเนื่อง
2. วธ. ร่วมกับวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี คณะพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย - เนปาล และมูลนิธิพระธรรมวิทยากรไทยในแดนพุทธภูมิ ดำเนินโครงการบรรพชาอุปสมบทและบวชชีพรหมโพธิ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ พุทธสังเวชนียสถาน สาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) และสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล (เนปาล) ระหว่างวันที่ 18 – 30 กรกฎาคม 2567 รวม 13 วัน ซึ่งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้โครงการฯ ของ วธ. เข้าร่วมเป็นโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ แล้ว ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานจ้างเหมาบริการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปผู้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ โดยเป็นผู้บรรพชาอุปสมบท จำนวน 73 รูป และบวชชีพรหมโพธิ (สตรี) จำนวน 73 คน กำหนดดำเนินโครงการฯ ณ (1) วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี ตำบลศีรษะจรเข้น้อย จังหวัดสมุทรปราการ (2) วัดไทยพุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร อินเดีย (3) โพธิมณฑลใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เมืองคยา รัฐพิหาร อินเดีย และ (4) พุทธสังเวชนียสถาน อินเดีย และเนปาล โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ คือ (1) สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (2) วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี (3) คณะพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย - เนปาล (4) มูลนิธิพระธรรมวิทยากรไทยในแดนพุทธภูมิ ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 5,239,260 บาท แบ่งเป็น งบประมาณของ วธ. จำนวน 1,000,000 บาท และมูลนิธิพระธรรมวิทยากรไทยในแดนพุทธภูมิ จำนวน 4,239,260 บาท โดยมีรายละเอียดกำหนดการโดยสรุป ดังนี้
กิจกรรม |
ระยะเวลาดำเนินการ |
- จัดพิธีขลิบผม มอบผ้าไตรจีวรแก่ผู้บวชพระ และมอบผ้าขาวแก่ผู้บวชชี ปฐมนิเทศ ซ้อมพิธีการ ณ วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี |
18 – 19 กรกฎาคม 2567 |
- ซ้อมขานนาค/ซ้อมบวชชีพรหมโพธิ และอบรมการรักษาศีล ณ วัดไทยพุทธ คยา รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย |
|
- พิธีบรรพชาสามเณร/บวชชีพรหมโพธิ ศีล 10 และอุปสมบท ณ ปริมณฑล ต้นพระศรีมหาโพธิ์ |
|
ปฏิบัติธรรม ฟังบรรยายธรรมะ ศึกษาพุทธประวัติ ณ สังเวชนียสถาน |
20 – 28 กรกฎาคม 2567 |
ทำพิธีลาสิกขา/ลาศีล |
29 กรกฎาคม 2567 |
เดินทางกลับ |
30 กรกฎาคม 2567 |
3. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ศึกษาหลักธรรมคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนา และร่วมบำเพ็ญกุศลโดยการเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตภาวนาถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 วธ. เห็นสมควรส่งเสริมให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีความประสงค์จะบรรพชาอุปสมบทและบวชชีพรหมโพธิถวายเป็นพระราชกุศล มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ โดยทั่วกัน โดยให้ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมบรรพชาอุปสมบทและบวชชีพรหมโพธิเป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงาน และได้รับเงินเดือนตามปกติ (เป็นดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง)1 ซึ่งจะส่งผลให้
3.1 ผู้ที่เคยลาบรรพชาอุปสมบทระหว่างรับราชการหรือปฏิบัติงานมาแล้ว ก็สามารถลาบรรพชาอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลในครั้งนี้ได้อีก และจะได้รับเงินเดือนตามปกติระหว่างการลา
3.2 ผู้ที่ไม่เคยลาบรรพชาอุปสมบทระหว่างรับราชการหรือปฏิบัติงานมาก่อน และได้ลาบรรพชาอุปสมบทถวายพระราชกุศลในครั้งนี้ จะได้รับเงินเดือนตามปกติในระหว่างการลา และจะไม่เสียสิทธิในการลาอุปสมบทที่จะได้รับเงินเดือนระหว่างการลาในอนาคต
3.3 สตรีที่เข้าร่วมบวชชีพรหมโพธิถวายเป็นพระราชกุศลในครั้งนี้สามารถลาปฏิบัติธรรม เป็นเวลา 13 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา ทั้งนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน และโดยที่ระยะเวลาดังกล่าวไม่เป็นตามมติคณะรัฐมนตรี (4 ธันวาคม 2550) ที่ให้ถือเป็นหลักการว่าให้ข้าราชการพลเรือนสตรีมีสิทธิไปถือศีลและปฏิบัติธรรม ณ สถานปฏิบัติธรรมที่ได้รับการรับรองจาก พศ. ครั้งหนึ่งตลอดอายุราชการเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน โดยไม่ถือเป็นวันลา นอกจากนี้ สถานปฏิบัติธรรมของโครงการบรรพชาอุปสมบทและบวชชีพรหมโพธิในครั้งนี้กำหนดดำเนินการ ณ พุทธสังเวชนียสถาน อินเดียและเนปาลซึ่งไม่ได้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่ พศ. ให้การรับรองตามประกาศ พศ. เรื่อง แนวทางและขั้นตอนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นสตรี ไปถือศีลและปฏิบัติธรรม ในสำนักปฏิบัติธรรมที่ พศ. รับรอง ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 ดังนั้น วธ. จึงขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (4 ธันวาคม 2550) และประกาศดังกล่าวด้วย
_________________________
1 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 39 บัญญัติให้การลาหยุดราชการของข้าราชการ พลเรือน ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
พระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือนเงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 31 บัญญัติให้การอุปสมบทนั้นมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไม่ให้ถือเป็นวันลาของข้าราชการ และ ให้ข้าราชการผู้นั้นลาอุปสมบทโดยได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 ข้อ 6 กำหนดให้กรณีมีเหตุพิเศษซึ่งจะต้องวางหลักเกณฑ์และขั้นตอนวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลาประเภทใดเพิ่มเติมหรือแตกต่างไปจากที่ระเบียบนี้กำหนดให้ดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรี
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (รองนายกรัฐมนตรี) 18 มิถุนายน 2567
6567