รายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 20 June 2024 00:19
- Hits: 8417
รายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบ ดังนี้
1. รับทราบรายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี 2565 ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป
2. เห็นชอบข้อเสนอการดำเนินการต่อไปและมอบหมายให้ส่วนราชการ จังหวัด องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นในกำกับของฝ่ายบริหารดำเนินการตามข้อเสนอต่อไป ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอ
3. ให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการรับความเห็นเพิ่มเติมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของเรื่อง
ก.พ.ร. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉนับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 71/10 (10) บัญญัติให้ ก.พ.ร. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการพัฒนาและจัดระบบราชการและงานของรัฐอย่างอื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ ก.พ.ร. จึงได้จัดทำรายงานการพัฒนาระบบราชการประจำปี 2565 เพื่อเสนอผลการพัฒนาระบบราชการในภาพรวมของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนราชการจังหวัด และองค์การมหาชน รวมทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการ พร้อมทั้งมีข้อเสนอการดำเนินการต่อไปเพื่อยกระดับและขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รองรับต่อการพัฒนาระบบราชการในระยะต่อไป
2. ในคราวประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี 2565 ตามข้อ 1 และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป และเห็นชอบข้อเสนอการดำเนินการต่อไป โดยให้ฝ่ายเลขานุการ ก.พ.ร. รับความเห็นชอบของที่ประชุมไปพิจารณาปรับข้อเสนอการให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ แล้วให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อให้ส่วนราชการ จังหวัด องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ดำเนินการตามข้อเสนอต่อไป
3. รายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี 2565 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
3.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาบริการภาครัฐเพื่อประชาชน สะท้อนจากผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อการให้บริการของภาครัฐเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องกันตั้งแต่ปี 2562 โดยรวมร้อยละ 81.69 การให้บริการของเจ้าหน้าที่ร้อยละ 82.97 การบริการออนไลน์ร้อยละ 82.59 สถานที่ร้อยละ 81.25 ขั้นตอนและระยะเวลาร้อยละ 81.19 และดัชนีการให้บริการออนไลน์ (Online Service index: OSI) ภายใต้ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E - Government Development Index: EGDI) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Very Hight มีค่าดัชนีเท่ากับ 0.7763 อยู่ในอันดับที่ 47 จาก 193 ประเทศ โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
3.1.1 การผลักดันการให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป (e-Service) รายหน่วยงานและการขับเคลื่อน e-Service ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล (Agenda e-Service) โดยมีบริการ e-Service แล้ว จำนวน 1,395 บริการ เช่น ระบบการรับชำระภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ระบบการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) ผ่าน Web Portal ที่รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวในประเทศไทย
3.1.2 การเชื่อมโยงบริการภาครัฐแบบครบวงจร (End to End Service) ผ่านแพลตฟอร์มกลางบริการภาครัฐ ได้แก่
(1) ระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร โดยเปิดให้บริการแล้วกว่า 130 ใบอนุญาต 25 ประเภทธุรกิจ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 23 ใบอนุญาต 10 ประเภทธุรกิจ ใน 76 จังหวัด เช่น ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ด้านปศุสัตว์ ใบรับรองแหล่งการผลิต GAP ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
(2) ระบบศูนย์กลางการบริการประชาชนในการติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (Citizen Portal) ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ให้บริการแล้ว 82 บริการ ครบคลุมงานบริการตลอดช่วงชีวิตของประชาชน
(3) แพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform: NDTP) ซึ่งเป็นระบบบริการสำหรับภาคเอกชนในการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งในและนอกประเทศ
3.1.3 การพัฒนาบริการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวก โดยลดระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตลงเฉลี่ย ร้อยละ 44 ใน 100 ใบอนุญาต เช่น การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และ การให้บริการงานจดแจ้งในรูปแบบออนไลน์ 107 งานบริการ เช่น การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง รวมถึงการผลักดันการทบทวนกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
3.1.4 การพัฒนาบริการภาครัฐให้ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ ได้มีการประชุมร่วมกับผู้แทนหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทยและปรับเปลี่ยน 10 ข้อเสนอเพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด (Ten for Thailand) โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน
3.1.5 การพัฒนาระบบนิเวศที่สร้างเสริมภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ตามประเห็นนโยบายสำคัญ ประกอบด้วย การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) ระดับท้องถิ่น การเปิดเผยข้อมูลเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสถานศึกษาอย่างยั่งยืน (School Open Data) โดยบูรณาการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ในลักษณะ One Data เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถใช้ประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ รวมถึงการทดลองแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน กรณีการแก้ไขปัญหาขยะทะเล
3.1.6 การทบทวนขั้นตอนและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบริการภาครัฐ โดยการเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 และการเสนอปรับปรุงพระราชบัญญัติ การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
3.1.7 การส่งเสริมการพัฒนาบริการภาครัฐผ่านกลไกการให้รางวัล มีหน่วยงานส่งผลงานสมัครรางวัลเลิศรัฐ จำนวน 1,623 ผลงาน ได้รับรางวัล 238 รางวัล มีหน่วยงานได้รับรางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ จำนวน 2 รางวัล คือ กรมควบคุมโรคและกรมสรรพากร รางวัลเลิศรัฐยอดเยี่ยม จำนวน 2 รางวัล คือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและกรมสุขภาพจิต และรางวัลพิเศษ สานพลังร่วมใจ ต้านภัยโควิด มอบให้กับหน่วยงานที่มีผลงานโดดเด่นในการขับเคลื่อนเพื่อรับมือกับ สภาวะวิกฤติโควิด-19 จำนวน 11 รางวัล ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่พัฒนาต่อยอดไปสู่การเสนอรับรางวัล UNPSA ขององค์การสหประชาชาติ จำนวน 39 ผลงาน
3.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การปรับบทบาทภารกิจโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐให้ทันสมัย ยืดหยุ่น รองรับการเปลี่ยนแปลง สะท้อนได้จากความสำเร็จในการขับเคลื่อนการนำร่องถ่ายโอนงานภาครัฐให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นร่วมดำเนินการหรือดำเนินการแทน (Sandbox) ได้ตามเป้าหมาย จำนวน 6 งาน และความพึงพอใจของประชาชนต่อการให้บริการในรูปแบบ e-Service ของที่ว่าการอำเภอ/ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 90.41 ความพึงพอใจโดยรวมร้อยละ 91.14 การให้บริการของเจ้าหน้าที่ร้อยละ 90.95 ขั้นตอน/กระบวนการร้อยละ 89.99 และสถานที่/สิ่งอำนวยความสะดวกร้อยละ 89.56 โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
3.2.1 การขับเคลื่อนให้หน่วยงานภาครัฐปรับบทบาทภารกิจและขนาดภาครัฐให้เหมาะสม (Rightsizing) ต่อการพัฒนาประเทศ โดยขับเคลื่อนการนำร่องถ่ายโอนงานภาครัฐให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นร่วมดำเนินการหรือดำเนินการแทน (Sandbox) ตามข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจำนวน 8 งาน และได้ถอดบทเรียนเพื่อขยายผลไปยังหน่วยงานอื่นลักษณะงานคล้ายคลึงกันต่อไป เช่น งานตรวจสอบและรับรอง งานออกใบรับรอง งานทดสอบมาตรฐาน และงานขึ้นทะเบียน
3.2.2 การพัฒนาแนวทางการจัดโครงสร้างและรูปแบบที่หลากหลาย มีส่วนราชการปรับปรุงโครงสร้างตามแนวทางการมอบอำนาจแล้วเสร็จ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และมีการปรับปรุงแนวทางการมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรมเพื่อความยืดหยุ่น คล่องตัว รวมถึงกำหนดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์และความคุ้มค่าหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี (9 สิงหาคม 2565)
3.2.3 การมีระบบประเมินความเหมาะสม ความมีประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการจัดส่วนราชการและองค์การมหาชน คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนได้มีมติเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 เห็นชอบกรอบการประเมินความคุ้มค่าเพื่อพัฒนาองค์การมหาชน ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (11 ตุลาคม 2565) เห็นชอบหลักการให้องค์การมหาชนทุกประเภทต้องได้รับการประเมินความคุ้มค่าเพื่อพัฒนาองค์การมหาชนอย่างน้อย 1 ครั้ง ในทุก 3 ปี
3.2.4 การสร้างความเข้มแข็งในการบริหารราชการในระดับพื้นที่ โดยขับเคลื่อนจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง (High Performance Provinces: HPP) การปลดล็อกข้อจำกัดหรืออุปสรรคของการบริหารงานในพื้นที่ การขับเคลื่อนพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 และการจัดทำแนวทางเสริมสร้างศักยภาพการคลังท้องถิ่น (แบบประเมินสุขภาพการคลังท้องถิ่น) เพื่อเป็นเครื่องมือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ประเมินสถานะด้านการคลังและงบประมาณ และได้รับการดูแลทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติจากคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดจนมีความเข้มแข็ง สามารถให้บริการประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3.2.5 การทบทวนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้งและปรับเปลี่ยนรูปแบบหน่วยงานภาครัฐให้มีความยืดหยุ่น โดยการจัดทำร่างพระราชบัญญัติยกระดับการบริหารงานภาครัฐให้มีความทันสมัย พ.ศ. .... เพื่อสนับสนุนการจัดโครงสร้างของส่วนราชการให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำงานของภาครัฐอย่างแท้จริง
3.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐ สะท้อนได้จากผลการจัดอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของสหประชาชาติ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 จาก 193 ประเทศ ผลการประเมินสถานะในการเป็นระบบราชการ 4.0 ของส่วนราชการจังหวัด และองค์การมหาชน มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2562 โดยในปี 2565 มีหน่วยงานผ่านการประเมินในระดับก้าวหน้าถึงร้อยละ 72 ซึ่งแสดงถึงประสิทธิผลของการปฏิบัติราชการที่เชื่อมโยงกับความต้องการและการบรรลุเป้าหมายของประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการขับเคลื่อนที่สำคัญ ดังนี้
3.3.1 การพัฒนาการเป็นภาครัฐระบบเปิด (Open Government) โดยขับเคลื่อนการพัฒนาระบบข้อมูลภาครัฐให้เป็นดิจิทัล (Digitize Data) เพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) ปี 2565 มีชุดข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐบนระบบบัญชีข้อมูล (Data Catalog) จำนวน 10,402 ชุดข้อมูล รวมทั้งการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐผ่านศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (Government Data Exchange: GDX) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางรับส่งข้อมูลสำหรับให้บริการประชาชน เช่น ข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลนิติบุคคล และเอกสารการอนุมัติอนุญาตต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนไม่ต้องยื่นเอกสารที่ภาครัฐมีอยู่แล้ว ปัจจุบันมีข้อมูลที่สามารถแลกเปลี่ยนได้แล้ว 55 ข้อมูลจาก 11 หน่วยงาน นอกจากนี้ยังมีศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ data.go.th ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ปัจจุบันมีชุดข้อมูลที่เผยแพร่แล้วจำนวน 7,712 ชุดข้อมูลจาก 1,252 หน่วยงาน มีผู้ใช้สะสม 3,075,242 คน เข้าใช้งานรวม 11,763,520 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2565)
3.3.2 การพัฒนารูปแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการ โดยการจัดทำแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลภาครัฐภายใต้พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 และการขยายผลนวัตกรรมการทำงานใหม่ เช่น การใช้เครื่องมือสะกิด (Nudge) เพื่อกระตุ้นให้มีการยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเวลา การใช้การมีส่วนร่วมของประชาชนเชิงรุก (Active Citizen) พัฒนาระบบบริจาคออนไลน์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
3.3.3 การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ในหน่วยงาน โดยการพัฒนาและจัดสรรนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) ไปยังส่วนราชการต่างๆ จำนวน 39 คน และเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายในรูปแบบต่างๆ เช่น หลักสูตรพัฒนาสมรรถะในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล กิจกรรมสร้างการสื่อสารภาครัฐแนวใหม่ (PR in Action) นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ. ได้พัฒนาระบบการจ้างงานภาครัฐรูปแบบใหม่โดยปรับปรุงระบบการบรรจุบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและความชำนาญงานสูงเข้ารับราชการ (Lateral Entry) และระบบการจ้างพนักงานราชการ เพื่อให้ส่วนราชการมีความคล่องตัวในการสรรหากำลังคนคุณภาพ
3.3.4 การสร้างกลไกป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นระบบและพัฒนาระบบติดตามประเมินผล ได้มีการแปลงข้อเสนอแนะขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ด้านความซื่อตรงในภาครัฐไปสู่การปฏิบัติในการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างสังคมแห่งความซื่อตรงโดยจัดทำต้นแบบหน้าจอ (Dashboard) ที่แสดงข้อมูลการร้องเรียนเรื่องทุจริตและการดำเนินการของภาครัฐสำหรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ภาพรวมในระดับประเทศมีผลคะแนนเฉลี่ย 87.57 คะแนน สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 6.32 คะแนน โดยมีหน่วยงานผ่านเกณฑ์การประเมินตามตัวชี้วัดของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติหรือมีคะแนนไม่น้อยกว่า 85 คะแนน ถึง 85 หน่วยงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 70.52
3.3.5 การสร้างการบูรณาการการทำงานร่วมกัน หน่วยงานภาครัฐได้นำรูปแบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมไปใช้ในการบริหารราชการโดยมีจำนวนหน่วยงานที่ให้ความสำคัญและสนใจสมัครรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างผลงานที่โดดเด่น เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษในผลงานการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนในการป้องกันการเกิดอาชญากรรมคดีพิเศษ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำในผลงานระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำสู่ต้นแบบการจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในผลงานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการปัญหาโรคโควิด-19
3.3.6 การปรับปรุงระบบการประเมินและระบบการตรวจสอบและประเมินผลส่วนราชการ โดยการกำหนดตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์สำคัญ (Strategic KPIs) ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) และตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs)
3.3.7 การสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการส่งเสริมธรรมาภิบาลในประชาคมอาเซียนผ่านการจัดประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 10 หัวข้อ “Reshaping Trust in Government: Towards Open, Innovative and Digital Governments Southeast Asia” และได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในภาครัฐและความโปร่งใสตามมาตรฐานสากล
3.4 ข้อเสนอดำเนินการต่อไป
ผลการพัฒนาระบบราชการในปี พ.ศ. 2565 มีประเด็นการพัฒนาที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2564 - 2565) หรือสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามแผนแต่ยังไม่แสดงถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนได้อย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องเร่งยกระดับและขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รองรับต่อการพัฒนาระบบราชการในระยะต่อไป ซึ่งมุ่งเน้นสู่การเป็นรัฐที่ล้ำหน้า (Digital & Innovative Government) และรัฐที่เปิดกว้าง (Open Government) ดังนี้
3.4.1 การพัฒนาบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จผ่านระบบออนไลน์ (Fully Digital) โดยให้หน่วยงานภาครัฐเร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เรื่อง แนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ที่เห็นชอบให้หน่วยงานของรัฐนำงานบริการมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Porta) โดยให้หน่วยงานที่ยังไม่มีช่องทางการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์นำงานบริการมาพัฒนาบนแพลตฟอร์มกลางดังกล่าวเป็นทางเลือกแรก และให้หน่วยงานที่มีงานบริการที่พัฒนาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว นำงานบริการมาเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง ซึ่งจะทำให้สามารถนำระบบพื้นฐาน (Common Service) จากแพลตฟอร์มกลางดังกล่าวมายกระดับบริการให้เป็น Fully Digital เพื่อให้บริการประชาชนได้แบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service) ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้สำรวจงานบริการของหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งสถานะการให้บริการในรูปแบบออนไลน์แล้วเสร็จและอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนการนำงานบริการดังกล่าวมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางโดยจะกำหนดลักษณะหรือประเภทของงานบริการเป้าหมาย รวมทั้งกรอบระยะเวลาดำเนินการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามแผนต่อไป
3.4.2 การขับเคลื่อนภาครัฐระบบเปิด (Open Govermment) โดยให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามแนวทางการเป็นภาครัฐระบบเปิดผ่านแนวทางการดำเนินการที่สำคัญใน 2 เรื่อง คือ (1) การเปิดเผยและเชื่อมโยงชุดข้อมูลที่สำคัญของหน่วยงาน เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นฐานข้อมูลชุดเดียวกัน อันนำไปสู่การวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในลักษณะ One platform โดยมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่สำคัญจากหน่วยงานต่างๆ และ (2) การขยายการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ “บอกเรา ถึงรัฐ” (ww.idea4gov.com) ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ความต้องการแนวคิด และข้อเสนอการดำเนินการ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพในแต่ละพื้นที่
3.4.3 การขับเคลื่อนการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ
(1) ให้จังหวัด กระทรวง/กรม กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 เรื่อง ข้อเสนอการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่เห็นชอบข้อเสนอการกระจายอำนาจตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนออย่างเคร่งครัด (เช่น ให้สำนักงบประมาณใช้แผนพัฒนาจังหวัดเป็นแนวทางในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ)
(2) ให้กระทรวง กรม รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และหน่วยงานอื่นของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ที่จะดำเนินกิจการหรือปฏิบัติงานใดๆ ในพื้นที่จังหวัด ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการและแนวทางของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 อย่างเคร่งครัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการในจังหวัดในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไม่ว่าจะเป็นวิกฤตหรือปัญหาเชิงนโยบายระดับชาติในพื้นที่เพื่อให้เกิดการระดมสรรพกำลังจากส่วนราชการต่างๆ ในการสนับสนุนให้การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลเรื่องผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ (ผู้ว่า CEO) บรรลุผลสัมฤทธิ์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (รองนายกรัฐมนตรี) 18 มิถุนายน 2567
6562