การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 19 ที่กรุงเตหะราน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 19 June 2024 23:54
- Hits: 7964
การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 19 ที่กรุงเตหะราน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการรับรอง 1) ร่างปฏิญญาเตหะราน 2) ร่างเอกสารแนวทางหลักในการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการ ACD และ 3) ร่างกฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้ ACD เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 19 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ให้การรับรอง ร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว ในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 19
ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) จัดตั้งขึ้นโดยข้อริเริ่มของประเทศไทยเมื่อปี 2545 เพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายของภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในเอเชีย ปัจจุบันกรอบ ACD มีสมาชิกรวม 35 ประเทศจากอนุภูมิภาคทั้งหมดของเอเชีย1
การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 19 จะจัดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ที่กรุงเตหะราน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน โดยมีรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีต่างประเทศหรือผู้แทนของประเทศสมาชิก 35 ประเทศเข้าร่วม โดยที่ประชุมฯ จะรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างปฏิญญาเตหะราน (Tehran Declaration) 2) ร่างเอกสารแนวทางหลักในการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการ ACD (Guiding Principles on the Functioning of the ACD Secretariat) และ 3) ร่างกฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้ ACD (Rules of Procedure of the ACD)
สาระสำคัญ
1. ร่างปฏิญญาเตหะราน ภายใต้หัวข้อหลัก “การมุ่งสู่ประชาคมเอเชียผ่านการยกระดับกรอบความร่วมมือเอเชีย” (Towards an Asian Community through Enhanced ACD) มีสาระสำคัญเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกภายใต้กรอบ ACD มีสาระสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการผลักดันการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ACD Blueprint ค.ศ. 2021 - 2030 การเพิ่มเสาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่างๆ ที่เป็นประเด็นความท้าทายระดับโลก
2. ร่างเอกสารแนวทางหลักในการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการ ACD มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับสำนักเลขาธิการ ACD เช่น สถานที่ตั้ง บทบาทหน้าที่ และองค์ประกอบสำนักเลขาธิการฯ การคัดเลือก และแต่งตั้งเลขาธิการฯ โดยกำหนดคุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว พร้อมทั้งกำหนดกฎและข้อบังคับการบริหาร สิ่งอำนวยความสะดวก งบประมาณ และภาษาที่ใช้ เป็นต้น
3. ร่างกฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้ ACD มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรายละเอียดข้อบังคับการประชุม ACD อาทิ การจัดการประชุมต่างๆ ของ ACD ประธานการประชุมฯ กระบวนการจัดทำข้อตัดสินใจและข้อเสนอแนะ องค์ประชุม วาระการประชุม สถานที่และบทบาทของสำนักเลขาธิการ ACD
ประโยชน์และผลกระทบ
การดำเนินการตามร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 3 ฉบับสอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศของประเทศไทยในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังสะท้อนถึงความพร้อมในการรักษาพลวัตและขับเคลื่อนเวทีดังกล่าวเพื่อสานต่อเป้าหมายของประเทศไทยที่ส่งเสริมการรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนมุ่งสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยให้มีสถานะโดดเด่นมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ
_________________
1 ACD มีสมาชิก 35 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน ราชอาณาจักรบาห์เรน สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ราชอาณาจักรภูฏาน บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูซา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐเกาหลี รัฐคูเวต สาธารณรัฐคีร์กิช สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย มองโกเลีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เนปาล รัฐสุลต่านโอมาน สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน รัฐปาเลสไตน์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ รัฐกาตาร์ สหพันธรัฐรัสเซีย ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐทาจิกิสถาน ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (รองนายกรัฐมนตรี) 18 มิถุนายน 2567
6559